

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าอเมริกันทำไม?
1) ภาวะดอลลาร์ครองโลก
นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าอเมริกันของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อ 2 เมษายนศกนี้ถูกบรรยายไปต่างๆ นานา
บ้างก็ว่า “ไร้เหตุผลสิ้นดีและเพ้อเจ้อเหลวไหล” (irrational and delusional : https://www.forbes.com/sites/forbestv/2025/03/12/irrational-and-delusional-economist-clifford-winston-says-trump-tariffs-signal-a-crazy-approach-towards-markets/)
บ้างก็ว่า “ทึ่มมะลื่อทื่อ” และ “งี่เง่า” (dumb, dumber, dumbest & stupid : https://moderndiplomacy.eu/2025/04/12/dumb-dumber-and-dumbest-the-three-rounds-of-the-trump-tariff-wars/; https://theconversation.com/donald-trumps-policies-are-more-than-dumb-theyre-stupid-according-to-stupidity-researchers-253009)
และบ้างก็ถึงแก่ระแวงว่ามันอาจเป็น “เล่ห์กลหลอกหาตังค์” ของท่านประธานาธิบดีโดยเชื่อมโยงเข้ากับการที่ตระกูลทรัมป์เริ่มเข้าไปเล่นลงทุนเงินสกุลคริปโต เป็นต้น (grifting tendencies : https://www.theguardian.com/us-news/2025/jan/27/trump-meme-coin-cryptocurrency)
อย่างไรก็ตาม หากขยับขยายมุมมองให้กว้างไกลออกไป ก็อาจพิจารณาได้ว่านี่ไม่ใช่เป็นอาการวิปริตผิดเพี้ยนเฉพาะตัวทรัมป์แต่อย่างใด หากสะท้อนแนวโน้มนโยบายโดยรวมของสองพรรคการเมืองหลักอเมริกันทั้งรีพับลิกันกับเดโมแครต ซึ่งถูกกำหนดกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจการค้าโลกภายใต้การครองความเป็นเจ้าของเงินสกุลดอลลาร์อเมริกันทีเดียว
(ดูข้อความวิเคราะห์สรุปประเด็นสุดท้ายของไมเคิล ลินด์ ข้างต้น)

Michael Lind, “Trump s’inscrit dans une tradition nationaliste qui remonte? Nixon”, Le Monde, 26 Mars 2025, p.27
อนึ่ง ผมเริ่มสังเกตเห็นและเข้าใจประเด็นนี้เมื่อได้อ่านข้อวิเคราะห์วิจารณ์วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งของไทยเมื่อปี 2540/1997 โดยเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาอาการเสียดุลและขาดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลกเนื่องจากวิกฤตดอลลาร์สหรัฐใน Richard Duncan, The Dollar Crisis : Causes, Consequences, Cures, 2003.
และผมได้ใช้ความเข้าใจดังกล่าวเป็นฐานลำดับอธิบายวิกฤตซับไพรม์หรือหนี้จำนองด้อยคุณภาพของอเมริกาซึ่งลุกลามไปเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่เมื่อปี 2007-2010 ใน เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้ง ใหญ่ : ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, 2555. ภาค 2 ระเบียบการเงินโลกเบรตตัน วูดส์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ผมขอเริ่มด้วยการอธิบายโดยสังเขปว่าภาวะที่เงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐ (US$) ขึ้นครองความเป็นเจ้า เหนือเศรษฐกิจการค้าโลกอันเป็นต้นตอก่อเกิดภาษีทรัมป์นั้นเป็นเช่นใด? เกิดขึ้นและคลี่คลายขยายตัวมาอย่างไร?
ภาวะเศรษฐกิจโลกภายใต้การครองความเป็นเจ้าของ US$ นั้นถูกกำหนดจากฐานะบทบาทครอบงำของ US$ ในภาคการเงิน การค้าและนโยบายการเงินทั่วโลก โดยมักถูกเรียกขานว่า “มาตรฐานดอลลาร์” หรือ “ดอลลาร์ครองโลก” (dollar standard or dollar dominance)
มันคลี่คลายขยายตัวมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 และยังคงเป็นลักษณะใจกลางของระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศตราบเท่าทุกวันนี้
ลักษณะ 6 ประการของดอลลาร์ครองโลก
1)ฐานะเงินตราสำรองของโลก : US$ เป็นเงินตราสำรองหลักของโลกซึ่งถือครองโดยธนาคารชาติทั่วโลก ตามข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ เงินตราต่างประเทศสำรองของโลกราว 60% อยู่ในสกุล US$ การณ์นี้ทำให้สหรัฐอเมริกาได้เปรียบทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ :
– ต้นทุนการกู้ยืมต่ำ (เนื่องจากมีอุปสงค์สูงต่อพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐ)
– อภิสิทธิ์ล้นเหลือ : สหรัฐสามารถขาดดุลการค้าและขาดดุลงบประมาณได้สะดวกดายกว่าประเทศอื่นๆ
2) การค้ากับการลงทุน :
– สินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ (เช่น น้ำมัน, ทองคำและข้าวสาลี) ตั้งราคาและค้าขายกันด้วย US$ นี่มักเรียกขานกันว่าระบบเปโตรดอลลาร์ (ดู https://www.longtunman.com/36878)
– บริษัทธุรกิจระหว่างประเทศและรัฐบาลประเทศต่างๆ มักหักกลบลบหนี้และทำสัญญากันใน US$ ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะไม่ถือสัญชาติอเมริกันก็ตามที
– ตลาดการเงินบนฐานดอลลาร์ทั้งหลาย (โดยเฉพาะในนิวยอร์ก) ดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลกซึ่งยิ่งไปเสริมสร้าง อิทธิพลของวอลล์สตรีตให้แข็งแกร่งขึ้นในโลก
3) การเงินกับหนี้สินทั่วโลก :
– สัดส่วนมหาศาลของหนี้สินในโลกอยู่ใน US$ โดยเฉพาะในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย การณ์นี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงเนื่องจากสกุลเงินตรา กล่าวคือ ถ้าหากเงินตราสกุลท้องถิ่นลดค่าลงแล้ว การชำระหนี้ก็จะยิ่งยากลำบากขึ้น ดังที่เกิดกับธุรกิจไทยมากหลายที่กู้หนี้ยืมสินมาในรูป US$ ในคราววิกฤตต้มยำกุ้ง (ดู 15 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 : ประเทศไทยอยู่ตรงไหน, THAI PUBLICA, 2556)
– นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เช่น จะขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย) อาจส่งผลสะเทือนเกินขนาดต่อเศรษฐกิจโลก กระทบกระเทือนกระแสไหลเวียนของเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและภาวะเงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ
4) แรงกระฉอกจากนโยบายการเงิน : เนื่องจาก US$ มีฐานะใจกลางในระบบการเงินโลก ฉะนั้น :
– เมื่อใดที่ธนาคารกลางสหรัฐขันน็อตนโยบายการเงินโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินทุนก็มีแนวโน้มจะไหลออกจากบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย นำไปสู่การลดค่าเงินและเงินเฟ้อในที่อื่นๆ นอกสหรัฐ
– ในทางกลับกัน เมื่อใดที่สหรัฐผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยลดอัตราดอกเบี้ยลง “เงินมักง่าย” ก็จะไหลบ่าท่วมตลาดโลกเลยทีเดียว อันอาจก่อให้เกิดฟองสบู่สินทรัพย์เฟ้อได้
5) อำนาจกับการเมือง : ภาวะดอลลาร์ครองโลกทำให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจงัดง้างทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ :
– สหรัฐสามารถยัดเยียดมาตรการลงโทษทางการเงินต่อประเทศ/บุคคลต่างๆ โดยจำกัดการเข้าถึงระบบดอลลาร์สหรัฐของประเทศ/บุคคลเหล่านั้น (อาทิ โดยผ่าน SWIFT หรือ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication อันเป็นเครือข่ายติดต่อสื่อสารระหว่างธนาคารต่างๆ ทั่วโลกเพื่อโอนเงินและหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เคลียร์บัญชีกันผ่านนิวยอร์ก)
– ประเทศและบรรษัททั้งหลายแหล่จำต้องยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหรัฐหากต้องการเข้าถึงตลาดที่ตั้งอยู่บนฐานดอลลาร์
6) การท้าทายฐานะครองความเป็นเจ้าของดอลลาร์ : ขณะที่ดอลลาร์ยังครองโลกอยู่ ก็ปรากฏการท้าทายเพิ่มทวีขึ้นทุกที :
– จีนหันมาส่งเสริมเงินตราสกุลเหรินหมินปี้ (RMB) ในทางการค้าและการเงินแทน
– บางประเทศ เช่น รัสเซียและอิหร่าน ได้เดินหน้าละเลิกการใช้เงินดอลลาร์ในภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจประเทศตน
– เงินตราดิจิทัลสกุลต่างๆ และเงินตราดิจิทัลของธนาคารกลางต่างๆ (CBDCs) อาจค่อยๆ ขยับย้ายดุลอำนาจเดิมใต้ดอลลาร์ไป
– มีเสียงเรียกร้องอยู่บ้างให้สร้างระบบเงินตราสกุลหลายขั้วขึ้นมาใช้แทน โดยเปิดกว้างให้เงินตราสกุลยูโรเอย หยวนเอย หรือกระทั่งเงินตราสกุลใหม่ของโลกที่ถ่วงค่าตามตะกร้าเงินตราสกุลต่างๆ มีบทบาทมากขึ้น
เราอาจสรุปภาวะดอลลาร์ครองโลกเป็นตารางคร่าวๆ ได้ดังนี้ (ดูตาราง)
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022