
คุยกับทูต | เยฟกินี โทมิคิน ครบรอบ 80 ปี แห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียตในมหาสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิ (1)

คุยกับทูต | เยฟกินี โทมิคิน
ครบรอบ 80 ปี แห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียต
ในมหาสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิ (1)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยเฉพาะในสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตกับนาซีเยอรมนี ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1941 และสิ้นสุดลงในปี 1945 ได้ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า “มหาสงครามแห่งความรักชาติ” (The Great Patriotic War)
โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำโซเวียตในขณะนั้นเป็นผู้ตั้งชื่อสงครามนี้ คำว่า มหาสงครามแห่งความรักชาติ ถูกใช้เพื่อรวบรวมชาวโซเวียตและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนจากการรุกรานของเยอรมนี

โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต, ประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งสหราชอาณาจักร ในการประชุมที่เมืองพอทสตัม กรกฎาคม 1945 จากคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2

ขบวนพาเหรดวันแห่งชัยชนะที่จัตุรัสแดง กรุงมอสโก @By Kremlin.ru, CC BY 4.0,
สหภาพโซเวียตซึ่งรวมถึงรัสเซียในปัจจุบัน สูญเสียประชากรไปมากกว่า 26 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ตัวเลขนี้รวมถึงบุคลากรทางทหารและพลเรือน
การสูญเสียชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการเฉลิมฉลอง “วันแห่งชัยชนะ” (Victory Day) ของสหภาพโซเวียตในวันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงชัยชนะของสหภาพโซเวียตเหนือนาซีเยอรมนี และรำลึกถึงการเสียสละของกองทหารโซเวียตและพลเรือนที่สูญเสียชีวิตอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัสเซีย
ชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์รัสเซีย วันแห่งชัยชนะจึงเป็นหนึ่งในวันหยุดที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งปี ผู้คนมักพูดว่า ไม่มีครอบครัวในประเทศที่ไม่สูญเสียใครไปในสงครามนั้น
ในวันนี้ จะมีการเฉลิมฉลองและงานรำลึกทั่วประเทศ เพื่อเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์และการส่งเสริมสันติภาพ โดยมีขบวนพาเหรดทางทหารซึ่งจัดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ งานที่นับว่ายิ่งใหญ่อลังการที่สุดจัดที่จัตุรัสแดง กรุงมอสโก

“วันแห่งชัยชนะ” (Victory Day) ของสหภาพโซ เวียต วันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี ภาพ-Sefa KaracanAnadolu via Getty Images

ทหารเดินขบวนผ่านจัตุรัสแดงระหว่างขบวนพาเหรดทหาร วันแห่งชัยชนะ ในใจกลางกรุงมอสโก ภาพ-Pelag

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย
ในโอกาสพิเศษนี้ นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยกล่าวสรรเสริญถึง “วันแห่งชัยชนะ” หรือ Victory day เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อทหารผ่านศึกทุกคน ซึ่งเป็นผู้มอบสันติภาพ รวมถึงมอบอนาคตและความเป็นรัสเซียที่เข้มแข็งแก่ชาวรัสเซียทุกคน
“วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เป็นวันที่พวกเราร่วมรำลึกถึงวันแห่งชัยชนะที่มาบรรจบครบรอบ 80 ปี ของอดีตสหภาพโซเวียตในมหาสงครามปกป้องปิตุภูมิ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นาซีเยอรมนีได้โจมตีสหภาพโซเวียตอย่างกะทันหันโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า และวันนี้ได้กลายเป็นความทรงจำของมวลมนุษยชาติ

กองทหารอมตะ (The Immortal Regiment) ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

กองทหารอมตะ (The Immortal Regiment) มีไว้เพื่อการรำลึกถึงพลเมืองโซเวียตที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป หลายอย่างเปลี่ยนแปลง ผู้เข้าร่วมและผู้รอดชีวิตจากสงครามมีจำนวนน้อยลง ความทรงจำเกี่ยวกับชั่วโมงที่มืดมนที่สุดของโลกก็รางเลือนหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเป็นความทรงจำร่วมกันของผู้คนในหลายประเทศ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความยากลำบากร่วมกันในสงคราม คนกลุ่มนี้ก็ลดน้อยลงไปเช่นกัน
ทุกวันนี้ เรามักเห็นนักการเมืองและบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากทำตามตรรกะที่บิดเบือนหรือความปรารถนาอันชั่วร้ายของตน โดยลดความสำคัญหรือไม่ก็นิ่งเฉยเกี่ยวกับอาชญากรรมอันน่าสยดสยองที่กระทำต่อประชาชนของสหภาพโซเวียตในช่วงมหาสงครามแห่งความรักชาติ

เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ

เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
บางคนมองว่าความทุกข์ยากของผู้คนนับล้านเกิดจากประเทศเดียวหรือเพียงประเทศเดียว การกระทำเหล่านี้ซ้ำเติมด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองและบ่อนทำลายการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของประชาชนโซเวียตเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะเหนือลัทธิฟาสซิสต์
ในช่วงเวลาที่แปลกประหลาดอันเต็มไปด้วย ‘ข่าวปลอม’ (fake news) และ ‘หลังความจริง’ (post-truth) เมื่อความสงสัยทำให้ขอบเขตระหว่างความจริงกับความเท็จเลือนรางลง
ก็สมควรที่จะเตือนตัวเองถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับชัยชนะในมหาสงครามแห่งความรักชาติและสงครามโลกครั้งที่สองโดยทั่วไป และไตร่ตรองถึงความหมายของมันในปัจจุบัน” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024?fbclid=IwAR22RbstgOdFjK3Kl_MAt_MusBlq5oxijEcCbx_-0y6zmJhXvZl3Q_2G-cE