
การปกครองเปลี่ยน-แฟชั่นปรับ : แฟชั่นสมัยคณะราษฎร-สงคราม (4) ชาติไทยแต่งตัวใหม่

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
การปกครองเปลี่ยน-แฟชั่นปรับ
: แฟชั่นสมัยคณะราษฎร-สงคราม (4)
ชาติไทยแต่งตัวใหม่
นับตั้งแต่จอมพล ป.ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ (2481) เขาต้องการยกระดับให้ไทยเป็นอารยชาติ และอารยชนทางด้านวัฒนธรรม พฤติกรรมและการแต่งกายตามแบบสากล ด้วยการประกาศรัฐนิยม นโยบายสร้างชาติ (ณัฐพล ใจจริง, 2563, 274)
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานั้น ชายไทยนิยมนุ่งกางเกงแพรสีฉูดฉาดออกนอกบ้าน ไปเที่ยวเตร่ดูหนังดูละครและไปในวงสังคม การนุ่งกางเกงแพรจีนของชายหนุ่มรุ่นกระทงร่วมสมัยเริ่มทำแผลงขึ้นเพื่อให้สะดุดตาคนพบเห็น โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ด้วยการนุ่งกางเกงขึ้นไปกระโจมอก พวกเขาเห็นเป็นเรื่องโก้เก๋ แต่จอมพล ป.เห็นว่า การแต่งกายดังกล่าวไม่มีวัฒนธรรม ท่านจึงสั่งให้หาวิธีให้ประชาชนนุ่งกางเกงแพรเฉพาะอยู่กับบ้าน และให้นุ่งกางเกงอย่างสากลนิยมเวลาออกนอกบ้านแทน
ดังในหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน หลายตอนในช่วงแรกๆ ป.อินทรปาลิตแต่งให้สามเกลอนุ่งกางเกงแพรออกไปเที่ยวนอกบ้านด้วย เช่น นุ่งกางเกงแพรสีฟ้าลายรามสูรล่อแก้ว หัสนิยายได้สะท้อนความนิยมของชายไทยครั้งนั้นด้วย จากนั้น สามเกลอได้แต่งสากลอย่างฝรั่งออกจากบ้านตามสมัยรัฐนิยมต่อไป
วิทยุกรมโฆษณาการกับการเปลี่ยนแฟชั่น

ชายหนุ่มครั้งระบอบเก่า-ใหม่นิยมสวมกางเกงแพรจีนกับชายไทยระบอบใหม่แต่งกายสากลสมัยรัฐนิยม
ที่มาของการปฏิวัติการแต่งกาย เริ่มต้นจากภายหลังสงครามอินโดจีน (2483) แล้ว จอมพล ป.มีความคิด “ปฏิวัติ” เครื่องแต่งกายประชาชนใหม่เพื่อแสดงความก้าวหน้าของวัฒนธรรมไทย ในช่วงนั้นเกียรติคุณของจอมพล ป.สูงเด่น สามารถนำการเปลี่ยนแปลงอะไร ประชาชนย่อมคล้อยตามได้อย่างไม่ยากนัก เวลานั้น การแต่งกายสากลนิยมเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการอยู่แล้ว ส่วนการนุ่งผ้าม่วงกำลังเสื่อมสูญลง เพราะนุ่งยุ่งยากและสิ้นเปลือง อีกทั้งทำงานไม่กระฉับกระเฉง จนเกิดความรู้สึกว่า “ใครนุ่งผ้าม่วงชักจะดัดจริตกรีดนิ้วหยิบโหย่งขึ้นมาทันที” (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 242-244)
จอมพล ป.ต้องการเปลี่ยนการแต่งกายประชาชนใหม่ ไม่ให้นุ่งกางเกงแบบแผลงๆ ออกมาที่สาธารณะ และเขามอบให้เป็นหน้าที่รายการวิทยุ “นายมั่น-นายคง” พระราชธรรมนิเทศ ชี้ชวนว่า กางเกงแพรเป็นการเกงใส่นอน เหมาะที่จะสวมภายในบ้าน แต่ไม่เหมาะสมที่จะนุ่งมาเดินนอกบ้าน พร้อมแสดงการติเตียนการนุ่งกางเกงแพรอย่างโลดโผนของวัยรุ่นที่ดึงกางเกงขึ้นมากระโจมอกว่า เป็นการอุจาดตาและหมดความเป็นสง่าราศีแก่ชาติบ้านเมือง นานาอารยประเทศอาจดูหมิ่นเอาได้
ทั้งนี้ รายการสนทนาของนายมั่น-นายคงเป็นรายการที่ย่อยข่าวสารและถ่ายทอดนโยบายของรัฐให้ง่ายต่อการเข้าใจ ที่เริ่มต้นจากรายการวิทยุในงานเฉลิมฉลองวันชาติ 2482 ในสมัยพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ราชธรรมนิเทศ) ทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ เขาได้ริเริ่มรายการสนทนาทางวิทยุ “นายมั่น-นายคง” ขึ้น โดยสมมุตินามให้สังข์ พัธโนทัย (2558-2529) เป็น “นายมั่น รักชาติ” และนายคงศักดิ์ คำศิริ (2442-2510) เป็น “นายคง รักไทย” จัดรายการสนทนาข่าวสารบ้านเมือง

สามเกลอตอน “สุภาพบุรษสามเกลอ” เครดิตภาพ : พล ต.ต.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ และรัฐนิยมฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย 2484
รายการนายมั่น-นายคงชักชวนขอให้ประชาชนเลิกนุ่งกางเกงแพรจีนเพื่อสะท้อนว่าไทยหลังชนะสงครามอินโดจีนแล้วเป็นอารยชนแล้ว เมื่อรายการวิทยุชักชวนประชาชนได้ไม่กี่วัน เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร้านขายกางเกงแพรและหนังสือพิมพ์บางส่วน มีการตั้งตำถามว่า หากรัฐบาลไม่ส่งเสริมให้นุ่งกางเกงแพรแล้วจะให้คนไทยนุ่งอะไร หนังสือพิมพ์บางฉบับโจมตีนโยบายดังกล่าวและนายมั่น-นายคงอย่างรุนแรง แต่เมื่อจอมพล ป.ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ส่งผลให้นายมั่น-นายคงก็จำต้องเดินหน้าชักชวนต่อไป เกิดปฏิกิริยาไม่พอใจจากประชาชนมีมากขึ้นจนเกิดความวิตกว่าจะเกิดการเดินขบวนกันเลยทีเดียว (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 245)
ในช่วงนั้น ผู้คนยังคงสวมกางเกงแพรออกนอกบ้าน โดยไม่สนในคำคัดค้านใดๆ ฉะนั้น นายมั่น-นายคงจำต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ด้วยเวลานั้น กระแสลัทธิชาตินิยมกำลังรุ่งเรือง ทำให้สังข์เสนอให้ใช้ชาตินิยม ด้วยอ้างว่า ขอให้ชายไทยเลิกการนุ่งกางเกงแพรเพื่อป้องกันมิให้จีนกลืนชาติกลืนวัฒนธรรมไทย เขาอ้างประวัติศาสตร์ว่า ที่ผ่านมา ชาวไทยเคยถูกจีนคุกคามจนไทยต้องถอยร่นลงมาทางใต้ และไทยไม่สามารถปล่อยให้จีนรุกไล่อีกต่อไปได้อีก เพราะขืนถอยร่นต่อไป ก็ต้องตกทะเลเท่านั้น
นับวัน รายวิทยุนายมั่น-นายคงใช้แนวคิดชาตินิยมยิ่งต่อต้านจีนผ่านการนุ่งกางเกงแพรหนักข้อมากขึ้น จนไทยถูกจีนประท้วง แต่ด้วยขณะนั้น ไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน สถานทูตจีนในลอนดอนจึงประท้วงไทยผ่านมาสถานทูตไทยในลอนดอนเลยทีเดียว (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 248-249)

ชายไทยในชนบทนุ่งกางเกงแพรจีนและโฆษณาขายกางเกงแพรจีน
กระนั้นก็ดี ผลของการรณรงค์ต่อต้านจีนได้ผล การนุ่งกางเกงแพรจีนลดน้อยลง จากนั้น วิทยุแนะนำให้คนไทยนุ่ง “กางเกงขาสั้นแบบไทย” ที่ขายาวครึ่งหน้าแข้งก่อน พลันเมื่อวิทยุโฆษณาออกไป ประชาชนเริ่มนุ่งกางเกงขาสั้นออกนอกบ้านหนาตาขึ้น จนมี “ผู้นุ่งกางเกงขาสั้นออกนอกบ้านกันมากดูจะเป็นเมืองกางเกงขาสั้นไปแล้ว” ยกเว้นข้าราชการที่ต้องนุ่งกางเกงขายาวไปทำงาน หนังสือพิมพ์ถึงขั้นลงข่าวว่า มีข้าราชการบำนาญบางคนนุ่งกางเกงขาสั้นไปรับบำนาญด้วยอ้างว่า รายการวิทยุชักชวนให้นุ่งกางเกงขาสั้น ถึงขั้นนี้ ประชาชนทั่วไปเห็นด้วยว่า การนุ่งกางเกงแพรออกนอกบ้านเป็นการไม่สมควรแล้ว
ราว 4 เดือนจากนั้น รายการนายมั่น-นายคงเปิดเผยว่า แท้จริงอยากให้นุ่งกางเกงสากลเพื่อยกฐานะเข้ากับอารยประเทศ ไม่นานจากนั้นกางเกงขาสั้นหายไป กางเกงแพรเหลือน้อยมาก ขณะนั้น นายควงต่อต้านนายมั่น-นายคง ต่อต้านการนุ่งกางเกงขายาวสากลด้วยการนุ่งกางแพรไปตามที่สาธารณะ เช่น ไปชมภาพยนตร์ ต่อจากนั้นอีกไม่กี่เดือนการนุ่งกางเกงแพรก็หายไป เมื่อการรณรงค์การแต่งตัวใหม่ให้ชายไทยผ่านไป 6 เดือน ไม่มีชายคนใดนุ่งกางเกงแพรออกจากบ้านอีกเลย รวมทั้งนายควงยอมจำนนกับการรณรงค์ดังกล่าว ประชาชนเห็นด้วยกับจอมพล ป.หมดจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของชาติ (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 249-256)

ชุดลำลองของชายหนุ่มไทย สมัย ร.6-ก่อนสงคราม ชายไทยมักสวมเสื้อหลวม นุ่งผ้ากางเกงแพรจีน
ดังพบว่า ในพลนิกรกิมหงวน ตอน “สุภาพบุรุษสามเกลอ” ใช้เหตุการณ์ในปี 2485 ที่คณะสามเกลอสนับสนุนนโยบายรัฐนิยมในเรื่องการแต่งกายของรัฐบาล โดยห้างพัชราภรณ์ของพลที่บางรัก และห้างศิวิลัยซ์พาณิชย์ของกิมหงวนที่พาหุรัด และห้างสี่สหายที่ราชดำเนิน ติดแผ่นป้ายประกาศไม่ต้อนรับผู้ที่แต่งกายไม่สุภาพเข้าห้างสรรพสินค้าของพวกเขา ในช่วงนั้น ปรากฏคำขวัญว่า “วัธนธัมดี มีศีลธัมดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี มีที่ทำมาหากินดี “(กรมศิลปากร, 2525, 93)
ภายหลังรายการวิทยุนายมั่น-นายคงประสบความสำเร็จในเรื่องการแต่งกายของชายและหญิงแล้ว นายมั่น-นายคงได้เดินหน้าสนองนโยบายของท่านผู้นำ-ผู้ใช้นามแฝงว่า “สามัคคีไทย” เขียนบทความในต้นปี 2485 เรื่อง “มาลานำไทยเป็นมหาอำนาจ” เพื่อเรียกร้องให้คนไทยสวมหมวก แต่วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยนั้นไม่นิยมสวมหมวก แต่การออกมาชักชวนของรายการวิทยุที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเห็นคล้อยตามรัฐบาล เริ่มทยอยสวมหมวกกัน เฉกเช่นการสวมเสื้อและนุ่งกางเกงขายาวแบบสากล
ในไม่ช้าผู้ชายในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างสวมหมวกและนุ่งกางเกงขายาวกันทั่วไปจนกลายเป็นกระแสแฟชั่นแห่งยุคสมัย

“นายมั่น-นายคง”

ภาพประกอบแสดงการนุ่งกางเกงแพรของชายไทยช่วงทศวรรษ 2470

ชายไทยนุ่งกางเกงแพรออกนอกบ้าน

สามเกลอแต่งกายด้วยชุดสากล

ชายไทยนุ่งกางเกงขาสั้นแบบไทยมีขากางเกงยาวคลุมหัวเข่า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022