เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

‘กงเต็ก’ วัฒนธรรมจีน ความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’

18.05.2025

จีน-ไทย ไม่ได้เริ่มความสัมพันธ์ครั้งแรกสมัยกรุงสุโขทัย ตามที่ท่องจำเป็นมรดกตกทอดมานานมาก เพราะกรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย

นอกจากนั้น ยังมีสิ่งคลาดเคลื่อนอีก ดังนี้

[1.] คนไทยไม่ได้อพยพมาจากอัลไต-น่านเจ้า

[2.] คนไทยไม่ได้อพยพมาจากทางใต้ของจีน

[3.] พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีน และจักรพรรดิจีนไม่เคยให้ช่างจีนทำเครื่องถ้วยเคลือบสังคโลกที่สุโขทัย

ดร. สืบแสง พรหมบุญ เมื่อ 50 ปีมาแล้ว เป็นนักวิชาการไทยศึกษาวิจัยพบว่า พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีน ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐ พ.ศ.2513 ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มชื่อ ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย (มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525)

 

จีน- ไทย หลายพันปีมาแล้ว

คนจำนวนหนึ่งในจีนกับในไทย มีการไปมาหาสู่รู้จักติดต่อกันราว 3,000 ปีมาแล้ว (ก่อนสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ และก่อนไทยรู้จักติดต่ออินเดีย) พบหลักฐานสนับสนุนเป็นเครื่องใช้สอยในพิธีกรรมของคนชั้นนำ เช่น

1. หม้อสามขา พบในที่ฝังศพตามแนวทิวเขาตะวันตก ตั้งแต่กาญจนบุรีลงไปทางภาคใต้ แล้วทอดยาวถึงมาเลเซีย

2. ภาชนะสำริดวัฒนธรรมฮั่น พบริมแม่น้ำน่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

 

ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต ทางใต้ของจีน

ทางใต้ของจีนแถบลุ่มน้ำแยงซี “ไม่จีน” เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว หมายถึงไม่เป็นดินแดนจีน ดังนี้

1. พื้นที่ทางใต้ของจีน “ไม่จีน” แต่เป็นตอนบนสุดของอุษาคเนย์โบราณที่ต่อเนื่องพื้นที่ของฮั่น เพราะพบกลองสำริดที่มณฑลยูนนาน ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่น แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

2. เอกสารจีนบอกชัดเจนว่าทางใต้ของจีนเป็นดินแดนของพวกคนป่าเถื่อน หมายถึง “ไม่ฮั่น” และ “ไม่จีน” ได้แก่ หมาน, ฮวน, เย่ว์ เป็นต้น คนพวกนี้จำนวนไม่น้อยใช้ภาษาไท-ไต เป็นภาษากลางทางการค้า

พิธีกรรมหลังความตายเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญของจีน ทหารดินเผาในหลุมขุดค้นสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี [ภาพจากหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562]

ขวัญ “วัฒนธรรมร่วม” จีน-ไทย

จีน-ไทย มีทั้งส่วนวัฒนธรรมร่วม และส่วนที่ไทยรับจากจีน ซึ่งยากจะแยกว่าตรงไหนเป็นส่วนไหน?

ขวัญ เป็นวัฒนธรรมร่วมจีน, ไทย และอุษาคเนย์ [อาจมีที่อื่นอีก] มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

คนแต่ละคนในความเข้าใจและความเชื่อของไทยสมัยก่อน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

[1.] ส่วนที่เป็นตัวตน เรียก มิ่ง คือ ร่างกายอวัยวะต่างๆ และ

[2.] ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน เรียก ขวัญ คือ ไม่มีรูปร่าง

ไทย ว่า ขวัญ ส่วนจีน ว่า หวัน [กวางตุ้ง] ฮุ้น [แต้จิ๋ว] [จากหนังสือ ไทย-จีน ของ พระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93]

พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน เจีย แยนจอง [นักปราชญ์จีนเรื่องไท]

(จากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)

คนจีนโบราณไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด [ตามพุทธศาสนา] แต่เชื่อว่าคนตายแล้วขวัญยังอยู่ มีสถานะเป็นเจ้าประจำวงศ์ตระกูล [คำจีนว่า “เจียสิน” เสียงแต้จิ๋วว่า “เกซิ้ง”]

ขวัญของคนจีน มี 2 ประเภทอยู่รวมกัน ได้แก่

หุน [คำไทยว่า ขวัญ] เป็นฝ่ายหยาง หรือฝ่ายจิต มีความนึกคิด และมีอารมณ์ ซึ่งเป็นสมรรถนะทางจิต

พ่อ [แปลว่า ภูต] เป็นฝ่ายหยิน หรือฝ่ายกาย มีความเคลื่อนไหวทางกาย แต่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสมรรถนะทางกาย

เมื่อคนตกใจ หรือเจ็บป่วย ขวัญ 2 ประเภทจะออกจากร่างชั่วคราว ครั้นคนตาย ขวัญ 2 ประเภทออกจากร่าง โดยหุน (ขวัญ) จำญาติมิตรได้ แต่พ่อ (ภูต) ถ้าขาดหุนอยู่ด้วยจะกลายเป็นผีดิบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี

[สรุปจากบทความเรื่อง “ป้ายสถิตวิญญาณจากจีน สู่ราชสำนักไทย” ของ ถาวร สิกขโกศล ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 หน้า 161]

 

ขวัญ, กงเต็ก

ความเชื่อเรื่องขวัญของจีน จึงมีประเพณีฝังศพครั้งที่ 2 ทำให้ขุดพบกองทหารดินเผาในสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ซึ่งเป็นต้นทางประเพณีกงเต็ก ดังนี้

1. เมื่อหัวหน้าเผ่าตาย บรรดาบริวารต้องถูกทำให้ตายแล้วฝังดินในหลุมศพเดียวกัน

2. ต่อมาปั้นหุ่นคนแทนเหล่าบริวารที่เป็นคนจริง ฝังร่วมหลุมศพพระราชา

3. หลังจากนั้นเผากระดาษแทนปั้นหุ่นคน แล้วเรียก “กงเต็ก” สืบจนทุกวันนี้

[สรุปจาก (1.) บทความเรื่อง “กงเต็ก” ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2542 หน้า 70 และ (2.) หนังสือ กงเต็ก พิธีศพชาวจีนแต้จิ๋ว ของ ธรรญาภรณ์ วงศ์บุญชัยนันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2550 หน้า 8-9] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568