
ทดสอบ ‘Hi-Lander 2.2 MAXFORCE’ ดีแมคซ์ยกสูง 4 ประตู ‘ทั้งแรง-ขับสนุก’

ด้วยชื่อชั้นและคำร่ำลือกับเครื่องยนต์รุ่นใหม่ “MAXFORCE” จากค่ายอีซูซุ
ทำให้ผมตัดสินใจติดต่อไปยังบริษัท ตรีเพชรอีซูซูเซลส์ ประเทศไทย หยิบยืมรถรุ่นนี้มาทดสอบ
ได้มาเป็นรุ่น ดีแมคซ์ Hi-Lander CAB4 2.2 MAXFORCE
ปิกอัพ 4 ประตูยกสูง
อันดับแรกเดินวนรอบตัวรถที่สูงใหญ่ ที่เด่นโดดขึ้นมาเลยไม่พ้นกระจังหน้าดีไซน์ใหม่แบบ 3D Geometric Design ตกแต่งด้วยสีเทาดำ และโครเมียมดำ
ไฟหน้า ISUZU Vision Bi-LED พร้อมระบบปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ และไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ Multifunctional Daylight
พร้อมระบบไฟหน้า Follow-me-home และไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED
ไฟท้ายเป็นแบบ Winglet Signature LED ทรง 3D ให้ความหรูหรา
กระจกมองข้างปรับและพับด้วยระบบไฟฟ้า
เสา B-Pillar ตกแต่งด้วยสีดำเงา Blackout Film มีบันไดข้าง
ฝาท้ายและกระบะท้ายดีไซน์แบบตัว H พร้อมสปอยเลอร์ในตัว มีระบบช่วยผ่อนแรงเปิด-ปิด
กันชนท้ายแบบ Integrated สีเดียวกับตัวรถ
ล้ออัลลอยลายใหม่ขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์แบบ Turbine Spiral รัดด้วยยางขนาด 265/60 หน้ากว้างมากขึ้น เพิ่มสมรรถนะการยึดเกาะถนน
เปิดประตูพร้อมเหวี่ยงตัวขึ้นรถ ห้องโดยสารออกแบบภายใต้แนวคิด “High-Class & Sophisticated”
แผงคอนโซลหน้าเป็นแบบ Sharp Horizontal Layers ใช้วัสดุตกแต่ง Piano Black และ Chrome Satin Silver
แดชบอร์ดหน้าหุ้มด้วยหนัง และที่พักแขนกลางหุ้มด้วยหนัง
มือเปิดประตูภายในห้องโดยสารเป็นสีเงิน Satin Chrome
เบาะนั่งแบบ CoolMax Seat Fabric ช่วยระบายอากาศได้ดี สามารถปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง
เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับด้วยมือ 6 ทิศทาง
มีช่องเก็บเอกสารด้านหลังเบาะนั่งคู่หน้า และที่แขวนสัมภาระด้านหลังเบาะหน้าผู้โดยสารตอนหน้า
เบาะนั่งด้านหลังเป็นแบบพับยกขึ้นได้ 60:40 และยังสามารถพับพนักพิงได้
มีที่วางแขนตรงกลางเบาะนั่งด้านหลังพร้อมที่วางแก้วน้ำ
พวงมาลัยตรงหน้าหุ้มหนัง ปรับได้ 4 ทิศทาง พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่น มีสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง
มาตรวัดเป็นแบบ Super Vision พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID สี TFT ขนาด 7 นิ้ว และระบบแนะนำการเปลี่ยนเกียร์ GSI (Genius Sport Shift)
ตรงกลางหน้าจอสัมผัส Infotainment Display ขนาด 9 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายทั้ง Android Auto และ Apple CarPlay
มีระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth ระบบ WiFi Mirroring ช่องเชื่อมต่อ AUX และช่องเชื่อมต่อ USB
ระบบเสียง Dynamic Surround Sound พร้อมลำโพง 8 ตำแหน่ง
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ Dual Zone ในรุ่นสูง พร้อมระบบกรองฝุ่น PM 2.5
มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
ช่องชาร์จ USB Type-C และช่องเสียบไฟ 12V รวมถึงช่องชาร์จ USB Type A / Type C 2 ตำแหน่ง
ระบบกุญแจเป็นแบบ Smart Keyless Entry พร้อมปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ และระบบสตาร์ตรถด้วยรีโมต
ภาพรวมบอกได้ว่าหากอยู่ด้านในแยกยากว่าเป็นปิกอัพหรือเอสยูวีกันแน่
กดปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ เสียงคำรามเข้ามาในห้องโดยสารประมาณหนึ่ง แต่เงียบกว่ารุ่นเก่าพอสมควร
เกียร์อัตโนมัติขนาดกำลังเหมาะจับกระชับมือดี
เช่นเดียวกับเบาะนั่งโอบแผ่นหลังได้แนบสนิท ช่วยได้มากเวลาเข้าโค้งหรือกระชากเปลี่ยนเลน
อัตราเร่งในช่วงออกตัวทำได้ดี และไหลไปยาวๆ ไม่มีสะดุด
เข้าใจแล้วว่าทำไมเครื่องยนต์รุ่นนี้ถึงขึ้นชื่อลือชานัก
พลิกดูสเป๊กเครื่องยนต์รหัส RZ4F-TC ขนาด 2.2 ลิตร ซึ่งเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ 1.9 BluePower เดิม
แบบดีเซล 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมเทอร์โบแปรผัน E-VGS และ Intercooler
กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที เพิ่มขึ้น 13 แรงม้าจากรุ่นเดิม
แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,400 รอบต่อนาที เพิ่มขึ้น 50 นิวตัน-เมตร จากรุ่นเดิม
ที่สำคัญคือแรงบิดในรอบต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 56%
แรงบิดที่มากขนาดนี้ไม่แปลกใจทำไมอัตราเร่งตีนต้นถึงแรง และตอบสนองทันใจ
ส่วนระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด แบบ REV TRONIC ให้อัตราทดเกียร์ต่อเนื่องในทุกช่วงความเร็ว
การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลและไหลลื่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติลูกเดิม
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบดับเบิลวิชโบนพร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง
ด้านหลังแหนบซ้อน Long Span Leaf Spring ปรับจูนใหม่เพิ่มความนุ่มนวลมากขึ้นขึ้น ลดอาการเด้งของท้ายรถ และการทรงตัวมั่นคงขึ้น
แต่นี่คือการเปรียบเทียบกับรถปิกอัพด้วยกันนะครับ
ทริปนี้ออกตะลุยทั้งในเมืองและเขตปริมณฑล แม้ตัวรถจะสูงใหญ่แต่ไม่เทอะทะ และเป็นข้อดีเมื่อขับขี่ในเมือง เพราะความสูงทำให้ประเมินสถานการณ์ด้านหน้าได้ดีขึ้น
ด้วยความสูงของตัวรถ ผมจึงไม่ได้เน้นขับเข้าโค้งสวิงสวายมากนัก เพราะแม้จะมีออปชั่นตัวช่วยติดตั้งมาให้เพียบ แต่คิดว่าไม่น่าเหมาะ
ตัวช่วยเด่นๆ อาทิ ระบบความปลอดภัย ADAS (Advanced Driver-Assistance Systems) ที่ทำงานร่วมกับกล้องหน้าคู่ 3D Imaging Stereo Camera
เรดาร์ และเซ็นเซอร์รอบคัน ซึ่งมีฟังก์ชั่นความปลอดภัยที่หลากหลาย
เช่น ระบบเตือนการชนด้านหน้า, ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ, ระบบควบคุมความเร็วแปรผันอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชั่น Stop & Go, ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKAS), ระบบเตือนมุมอับสายตา และระบบเตือน/เบรกเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง เป็นต้น
การขับขี่นอกเมืองจับสังเกตอาการของเกียร์ ส่งกำลังได้ลื่นดี แทบไม่ต้องรอรอบ
อาการกระเด้งน้อยลงชัดเจน ช่วงเปลี่ยนเลนไม่โยนตัวมาก
ขณะที่พวงมาลัยจูนน้ำหนักได้พอดี ถอยเข้าที่จอดรถในห้างไม่หนักมาก
ส่วนการขับขี่บนย่านความเร็วสูงยังมั่นคง
อีกจุดเด่นคือรัศมีวงเลี้ยวอยู่ที่ 5.7 เมตร ถือว่าไม่มากเกินไป
ดีแมคซ์ Hi-Lander CAB4 MAXFORCE มี 9 รุ่นย่อย ทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ รวมถึงรุ่นเครื่องยนต์ 3.0 ให้เลือกด้วย
สนนราคาเริ่มต้น 885,000-1,164,000 บาท •
ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022