เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

พระยาเจ่ง สายตระกูลมอญ ในราชสำนักสยาม

18.05.2025

คําว่า “มอญ” กร่อนเสียงมาจากคำว่า “รามัญ” ทั้งสองคำนี้หมายถึงได้ทั้ง “แผ่นดิน” และ “ผู้คน” เฉพาะคำว่า รามัญ พบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในหนังสือมหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกาทวีป

ในรัชสมัยของพระเจ้าจันสิตถา แห่งพุกาม (พ.ศ.1627-1656) มีจารึกภาษามอญระบุคำเรียกชาวมอญว่า “รมึง” (Rmen) ยังมีจารึกบนแผ่นทองสมัยเมืองหงสาวดีเรืองอำนาจ ระบุคำว่า “รมัน” คล้าย “รามัญ” ในภาษาไทย โดยในปัจจุบันนี้ ผู้คนในเขตรัฐมอญออกเสียงเรียกพวกตัวเองว่า “มัน” หรือ “มูน” ใกล้เคียงกับเสียงคำว่า “มอญ” ในสำเนียงไทย

บางครั้งชาวพม่าจะเรียกชาวมอญว่า “เตลง” เพราะในบริเวณพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญของมอญ คือทางตอนใต้ของพม่านั้น มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตามตำนานเล่าว่า เดินทางมาจากเมือง “เตลงคณะ” ในอินเดียอยู่ด้วย (ดังนั้น พระนิพนธ์เรื่องลิลิตตะเลงพ่าย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อยอพระเกียรติพระนเรศวร ในครั้งสงครามยุทธหัตถี โดยเรียก “พม่า” ว่า “เตลง” นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของชาวไทย)

คนกลุ่มนี้ ปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อของชาว “เตลุคุ” (Telugu) ซึ่งอาศัยอยู่ในอินเดีย บริเวณแถบเมืองชายฝั่งของอ่าวเบงกอล น่าสนใจที่ผลวิจัยปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ชาวเตลุคุพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ที่ไม่ใช่ภาษาพื้นถิ่นของชมพูทวีปต่างหาก

และถึงแม้ว่าชาวพม่านั้นจะไม่อยากนับญาติกับพวกมอญนัก (ดังจะเห็นได้จากปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศเมียนมาปัจจุบันนี้) แต่ในจารึกสมัยพระเจ้าจันสิตถา หลักเดียวกับที่พบคำว่า “รมึง” อันเป็นที่มาของคำว่ามอญดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น ก็ปรากฏคำเรียกชาวพม่าว่า “มรมา” (Mranma) โดยทั้งสองคำนี้มีรากศัพท์เดียว ซึ่งแปลความว่า “คน” นั่นเอง

ส่วนคำว่า “พม่า” ในโลกภาษาไทยนั้น คำว่า “พม่า” (Bama) ในภาษาพูดของชาวพม่า เวลาพูดเร็วๆ มักแผลงเสียง “ม” เป็น “บ” (หรือ “พ” ในไทย) และรวบเสียง “เ-ีย” เป็น “-ะ” คำคำนี้ถูกใช้ทั้งในความหมายของชื่อ “ดินแดน” (ตามหลักฐานในจารึกเมืองพุกาม) และ “กลุ่มชาติพันธุ์”

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่คำว่า “Burma” ในโลกภาษาอังกฤษ จะเป็นชื่อเรียกที่ออกสำเนียงผิดเพี้ยนตามอำเภอใจของชาติเจ้าอาณานิคมในดินแดนประเทศเมียนมาปัจจุบันอย่างอังกฤษ โดยมีผู้สันนิษฐานเอาไว้ว่า อาจจะเป็นเพราะได้จดบันทึกชื่อเฉพาะนี้ โดยฟังจากสำเนียงชาวพม่าทางใต้ หรือไม่ก็อาจจดมาจากสำเนียงแถบยะไข่ (Arakan)

หลักฐานเก่าแก่จากจารึกเมืองพุกาม (Pagan) พบว่าพวกเขาเรียกชื่อรัฐของตัวเองว่า “เมียนมา” (Myanma Pyay, ดังนั้น การเขียนคำสะกดว่า “เมียนมาร์” จึงผิดจากสำเนียงดั้งเดิมด้วย เพราะเป็นการเขียนตามตัวสะกดในภาษาอังกฤษคือ “Myanmar” ที่เสียง “r” หรือ “ร์” ลงท้ายคำ) โดยศิลาจารึกหลักนี้มีศักราชระบุตรงกับ พ.ศ.1778

และจึงไม่แปลกที่จะได้มีเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “พม่า” (Burma) มาเป็น “เมียนมา” (Myanmar) เพื่อยืนยันความถูกต้องของชื่อประเทศตั้งแต่ดั้งเดิม

ดังนั้น ถึงแม้ว่าชาวมอญจะมีศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอยู่ตอนใต้ของประเทศเมียนมาในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่ชนกลุ่มเดียวกันกับชาวพม่าแน่

 

อันที่จริงแล้ว ร่องรอยหลักฐานของวัฒนธรรมมอญโบราณ ก็ไม่ได้แพร่กระจายอยู่เฉพาะทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาเท่านั้นหรอกนะครับ

อย่างน้อยที่สุดก็มีหลักฐานของการใช้ภาษามอญกระจายอยู่เต็มพื้นที่บริเวณภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย แถมยังเก่าแก่ไปถึงช่วงระหว่าง พ.ศ.1000-1500 เลยด้วยซ้ำ

ภาษามอญเหล่านี้ปรากฏอยู่ในจารึกจำนวนมากของวัฒนธรรมทวารวดี ร่วมกับการใช้ภาษาศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากภายนอกภูมิภาคอย่างภาษาบาลี และสันสกฤต ดังนั้น ปราชญ์และนักวิชาการในรุ่นก่อนจึงได้สันนิษฐานกันว่า ทวารวดีนั้นเป็นอาณาจักรของพวกมอญ เพราะใช้ภาษามอญเป็นหลัก ดังปรากฏอยู่ในจารึก

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีนักวิชาการกลุ่มใหญ่ที่เชื่อตามข้อสันนิษฐานเก่าแก่ข้างต้นนี้ แต่ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า วัฒนธรรมทวารวดี ประกอบไปด้วยผู้คนหลากเผ่าหลายพันธุ์ แต่มีภาษามอญเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้กับพิธีกรรมการสถาปนาจารึก หรือเป็นภาษากลางที่ใช้ภายในรัฐ หรือวัฒนธรรม

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เมืองหรือชุมชนต่างๆ ในวัฒนธรรมแบบทวารวดีนั้น มีคนอยู่มากมายหลายกลุ่ม และแน่นอนว่า หมายรวมถึงหลายภาษา เพียงแต่มีการยอมรับเอาภาษามอญเป็นภาษาที่ใช้เป็นหลัก อย่างน้อยก็สำหรับการใช้จารึกนั่นแหละครับ

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) (ภาพจากสมาคมไทยรามัญ, อ้างใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551)

อันที่จริงแล้ว ชุมชนขนาดใหญ่ในอุษาคเนย์นั้น ต่างก็มีกลุ่มชนหลายชาติภาษาอยู่ภายในสังกัดของตนเอง ซึ่งก็รวมไปถึงกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่างก็มีพวกมอญอยู่ในเมืองของตน แถมยังมีความสำคัญ และตำแหน่งแห่งที่ในทางการเมืองการปกครองอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น กลุ่มชาวมอญจากเมืองเตริน ที่มีข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้ระบุถึงที่มาความสัมพันธ์ของมอญกลุ่มนี้กับราชสำนักสยามเอาไว้ว่า

“ฝ่ายพวกรามัญซึ่งหนีพม่ามานั้น พระยาเจ่ง ตละเสี้ยง ตละเก็บ พระยากลางเมือง ซึ่งหนีเข้ามาครั้งกรุงเก่า พม่าตีกรุงได้ นำตัวกลับไป และสมิงรามัญ นายไพร่ทั้งปวงพาครัวเข้ามาทุกด่านทุกทาง”

ข้อความจากพงศาวดารข้างต้น กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเรือน พ.ศ.2317 เมื่อพระยาเจ่ง (ต้นตระกูลคชเสนี) ได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตาก ที่กรุงธนบุรี เพื่อลี้ภัยจากการกดขี่ข่มเหงของพระเจ้ามังระ แห่งราชวงศ์คองบองของพม่า

โดยในครั้งนั้น ทัพของฝ่ายอังวะได้เกณฑ์เอาไพร่พลมอญจำนวน 3,000 นาย มารบกับกรุงธนบุรี ของพระเจ้าตาก โดยมีเจ้าเมืองเตรินอย่าง พระยาเจ่ง เป็นหัวหน้าทัพ และมีตละเสี้ยง กับตละเก็บ เป็นทัพหน้า คอยนำทางทัพของฝ่ายอังวะ ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

แต่ในการศึกครั้งนั้น ทัพของอังวะได้จับเอาครอบครัวของทหารมอญเอาไว้เป็นตัวประกัน เพื่อไม่ให้เกิดการหนีทัพ จนทำให้ในท้ายที่สุด ฝ่ายของพระยาเจ่งอดทนต่อการถูกกดขี่ไม่ไหว จนก่อกบฏขึ้นที่เมืองกาญจนบุรีและสังหารทหารผู้คุมของฝ่ายอังวะไปราว 500 นาย

จากนั้นทัพของฝ่ายพระยาเจ่งได้ยกไปตีเมืองเมาะตะมะ เมืองจิตตอ เมืองหงสาวดี เรื่อยไปจนถึงเมืองย่างกุ้ง แต่แล้วแม่ทัพคนฉกาจของทัพอังวะคือ อะแซหวุ่นกี้ ก็ได้นำกำลังพลกว่า 10,000 คนเข้ามาปราบทัพของพวกพระยาเจ่ง จนพวกมอญเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องแตกทัพหลบหนีเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และเมืองตาก

เพื่อเข้ามาพึงพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตาก ที่กรุงธนบุรี อย่างที่ผมบอกไปแล้วนั่นแหละครับ

 

ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นต่อไปด้วยว่า

“ให้ข้าหลวงไปรับมาถึงพระนครพร้อมกันแล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองนนท์บ้าง เมืองสามโคกบ้าง แต่ฉกรรจ์จัดได้ 3,000 โปรดให้หลวงบำเรอศักดิ์ครั้งกรุงเก่าเป็นเชื้อรามัญ”

ถึงแม้พระเจ้าตากจะรับเอาพวกของพระยาเจ่งเอาไว้ แถมยังให้ที่ดินแถบเมืองนนท์ (เช่น เกาะเกร็ด) และเมืองสามโคก (คือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี) เป็นที่ตั้งชุมชนมอญที่เข้ามาใหม่เหล่านี้ แต่เนื่องจากที่ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น มีกลุ่มมอญที่มีอำนาจในราชสำนักเป็นอย่างมากอยู่ก่อนแล้ว ถึงสองกลุ่ม คือ กลุ่มท้าวทรงกันดาล แลกลุ่มพระยาจักรีมอญ จึงทำให้พวกของพระยาเจ่งไม่มีโอกาสถวายงานพระเจ้าตากอย่างใกล้ชิดเท่ากับกลุ่มมอญที่มีอยู่ก่อน

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาเจ่งค่อยได้รับการแต่งตั้งเป็น “จักรีมอญ” แทนที่เจ้าพระยารามจัตุรงค์ ที่ถูกประหารชีวิตพร้อมกับพระเจ้าตาก โดยรัชกาลที่ 1 ได้ตั้งชื่อตำแหน่งนี้เสียใหม่ว่า “เจ้าพระยามหาโยธา”

พระยาเจ่งจึงเป็นเจ้าพระยามหาโยธาคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่ต่อมาบุตรชายของท่าน ที่มีชื่อว่า “ทอเรียะ” ก็ได้รับสืบทอดตำแหน่งนี้ต่อมาจากบิดาด้วย

เรียกได้ว่า สายตระกูลของพระยาเจ่งนั้น เป็นสายตระกูลมอญที่ทรงอำนาจที่สุดสายหนึ่งในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์เลยก็คงจะไม่ผิดอะไรนักหรอกนะครับ

แต่ถึงแม้ว่า พวกมอญกลุ่มของพระยาเจ่งนั้น จะเพิ่งอพยพราชภัยจากราชวงศ์คองบองเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีเท่านั้น แต่ในราชสำนักธนบุรีก็มีสายตระกูลมอญที่สำคัญมาอยู่แล้ว และก็ย่อมมีมาแล้วตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไปจนถึงกลุ่มเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีนั่นแหละ เพราะเมืองในยุครัฐจารีตของอุษาคเนย์ไม่ใช่สถานที่เฉพาะของกลุ่มชาติภาษาใดชาติภาษาหนึ่งเพียงหนึ่งเดียว แต่เป็นรัฐประชาชาติ เหมือนกันกับเมืองอีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนบนโลกใบนี้นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568