
รำลึกถึงอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ : ผู้สู้เพื่อรัฐสวัสดิการไทย

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
รำลึกถึงอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์
: ผู้สู้เพื่อรัฐสวัสดิการไทย
มนุษย์คนหนึ่งมีหลายแง่มุม เมื่อคุณใช้นามสกุล อึ๊งภากรณ์ คนอายุมากกว่า 60 ก็จะบอกว่าคุณคือลูกชาย อ.ป๋วย
คนอายุต่ำกว่า 50 ก็จะบอกว่าคุณเป็นพี่ชาย อ.ใจ
แต่วันนี้ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ได้จากเราไปแล้ว ทิ้งมรดกและบทเรียนของการต่อสู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไว้ให้คนรุ่นถัดไป วันหนึ่งทุกคนจะถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
ผมขอใช้พื้นที่บทความนี้รำลึกถึงสหายผู้จากไป จอน อึ๊งภากรณ์
“หากมีมนุษย์ต่างดาวมาอยู่ที่โลกมนุษย์ สิ่งที่พวกเขาจะแปลกใจที่สุดก็คือความเหลื่อมล้ำ”
คำพูดนี้ของอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ยังคงก้องอยู่ในใจผมแม้จะผ่านไปนานแล้ว
เป็นคำพูดที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของท่านในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและการสร้างสังคมที่ยุติธรรม
ในเวทีเสวนาครั้งสุดท้ายที่ผมได้ร่วมกับอาจารย์จอน เราได้พูดคุยกันถึงอนาคตของการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย
งานเสวนาที่จัดโดยเครือข่ายวีแฟร์เมื่อปี 2563 เป็นเหมือนการสรุปภาพรวมของการเสียสละและการทุ่มเทของท่านที่มีต่อการพัฒนาสังคมไทย
อาจารย์เล่าให้ฟังว่าสังคมไทยมีความก้าวหน้าและเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น เป็นผลมาจากการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่สามารถผลักดันเรื่องที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้คนทั่วไปเข้าใจได้
“คนรวยสร้างบ้านด้วยทองคำ แต่มีคนมากมายที่อยู่ใต้สะพาน คนรวยมีเสื้อผ้าราคาแสน แต่ลูกคนจนไม่มีแม้ผ้าผืนเดียวจะห่อกาย มีคนร่ำรวยมีรายได้เป็นล้านต่อวินาทีโดยไม่ต้องทำงานอะไร แต่มีคนทำงานหนักทั้งชีวิตเต็มไปด้วยหนี้สินที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
“มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในโลกใบเดียวกัน แปลกประหลาดอัศจรรย์ แต่คนมีอำนาจก็ยังบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งปกติ”
คํากล่าวนี้ไม่เกินจริงเมื่อเราพิจารณาข้อมูลทางสถิติที่น่าตกใจในปัจจุบัน
ในปี 2024 ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับประมาณ 5.7 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน
ในขณะที่ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของโลกซึ่ง 8 คนอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเติบโตเฉลี่ยเกือบ 100 ล้านดอลลาร์ต่อวัน
รายได้ต่อวินาทีที่อาจารย์พูดถึงนั้นไม่ใช่คำพูดเกินจริง ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้น 2.7 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน
ซึ่งหมายความว่าในแต่ละวินาที มหาเศรษฐีเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 31,250 ดอลลาร์ หรือมากกว่าหนึ่งล้านบาทต่อวินาที
ส่วนคนทำงานหนักทั้งชีวิตที่อาจารย์พูดถึงนั้น สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ อย่างน้อย 1.7 พันล้านคนทำงานอาศัยอยู่ในประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าแรง และมากกว่า 820 ล้านคนหรือประมาณหนึ่งในสิบของผู้คนบนโลกกำลังหิวโหย
เรื่องหนี้สินที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคนที่อาจารย์กล่าวนั้น ประเทศกำลังพัฒนาใช้จ่ายเป็นประวัติการณ์ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อชำระหนี้ต่างประเทศในปี 2023
และประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณแห่งชาติสำหรับการชำระหนี้
มากกว่านั้น ระหว่างปี 1970 ถึง 2023 รัฐบาลของประเทศโลกใต้จ่ายดอกเบี้ย 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับเจ้าหนี้ในโลกเหนือ
และแม้จะมีส่วนร่วม 90% ของแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่แรงงานในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับเพียง 21% ของรายได้โลก
ในตอนท้ายของการเสวนา ผมได้พูดถึงข้อสรุปสำคัญที่ว่า “สิ่งที่จะทำให้ชาติกำเนิดและความเหลื่อมล้ำเป็นโมฆะมีสิ่งเดียวคือรัฐสวัสดิการ”
มันเป็นการสรุปที่ตรงใจกับสิ่งที่อาจารย์จอนมุ่งมั่นต่อสู้มาตลอด ท่านเชื่อมั่นว่ารัฐสวัสดิการไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ถ้าเรามีความมุ่งมั่นพอ
อาจารย์จอนมักจะอ้างถึงตัวอย่างจากต่างประเทศเป็นหลักฐานว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นเพียงความฝัน แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง
แบบอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกลุ่มประเทศนอร์ดิก
อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ พิสูจน์แล้วว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดในโลกนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
เมื่อเกิดการถกเถียงเรื่องการเก็บภาษีแบบก้าวหน้าที่หลายฝ่ายต่อต้านโดยอ้างว่าเป็นการปล้นคนรวย
อาจารย์จอนได้ออกมาตอบอย่างชัดเจนว่า “อย่าไปสนใจการละเมิดสิทธิ์คนรวยมากกว่าการละเมิดสิทธิ์คนไม่มีจะกิน”
คำตอบนี้สะท้อนให้เห็นจุดยืนที่มั่นคงของท่านในการให้ความสำคัญกับคนที่ด้อยโอกาสมากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของคนที่มีส่วนแบ่งมากแล้ว
ในมุมมองของอาจารย์จอน รัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่แสนจะแพง พบว่าคนไทยเข้าใจผิดเรื่องงบประมาณสาธารณสุขมากที่สุดในโลก โดยคิดว่าใช้งบประมาณถึงร้อยละ 30-40 ของ GDP ทั้งที่ความจริงใช้เพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้น
เรื่องนี้เป็นการหักล้างมายาคติที่ว่ารัฐสวัสดิการมีต้นทุนสูงเกินไป
การจากไปของอาจารย์จอนเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของสังคมไทย
แต่มรดกทางความคิดและการต่อสู้ของท่านยังคงอยู่
กิจการที่ท่านสร้างไว้และผู้คนที่ได้รับการดลใจจากท่านจะเป็นผู้สืบทอดภารกิจต่อไป การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการไทยที่ท่านริเริ่มไว้จะไม่หยุดนิ่ง
อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ จะยังคงมีชีวิตอยู่ในหัวใจของทุกคนที่เชื่อมั่นว่าโลกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฉายภาพให้เราเห็นว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่แท้จริง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022