
BLACK MIRROR : COMMON PEOPLE ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต’

กลับมาอีกแล้วนะคะ Black Mirror ซีซั่นใหม่ ซึ่งเพิ่งออกฉายต้นเมษายนนี้เอง
ผู้เขียนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของซีรีส์อังกฤษชุดนี้ภายใต้การสร้างสรรค์ของชาร์ลี บรุคเกอร์ มาตั้งแต่แรก
ดูเอพิโซดแรกก็เห็นความแตกต่างว่า เป็นซีรีส์ที่สร้างโลกอนาคตในจินตนาการซึ่งใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า มาปนเปและกำหนดชีวิตมนุษย์
เป็นหนังที่ดูแล้วไม่รู้สึกเสียเวลา เพราะกระตุ้นความคิด สะท้อนและเสียดสีสังคม กระตุกต่อมรับรู้และตอบสนอง ยิ่งไปกว่าแค่ความบันเทิงแบบผ่านๆ
สมดังชื่อซีรีส์ซึ่งแปลว่า กระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพดำทะมึน
นับถึงบัดนี้ก็เข้าซีซั่นที่ 7 แล้ว
ซีซั่นหนึ่งๆ มีจำนวนไม่มากนัก สี่บ้าง หกบ้าง แปดบ้าง พอเจียดเวลาตามดูได้หมดจดเบ็ดเสร็จ เพราะทุกเอพิโซดจบในตอน ไม่ต่อเนื่องทั้งด้วยเนื้อหาและชุดตัวละคร
แน่นอนว่าเทคโนโลยีล้ำหน้าที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปแบบเรียกว่าหน้ามือเป็นหลังตีนก็ว่าได้ (แปลว่า จำสภาพไม่ได้เลยว่าครั้งหนึ่งนี่เคยเป็นมือมาก่อน)
คือ เอไอ ที่จะสร้างสรรค์ พัฒนาและควบคุมเทคโนโลยีต่อไปอย่างก้าวกระโดดและหยุดยั้งไม่ได้
เอพิโซดแรกที่ชื่อว่า Common People น่าจะเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชวนหดหู่ที่สุดของซีรีส์ก็ได้ และสะท้อนภาพสิ่งที่เป็นไปได้และกำลังเป็นไปในโลกปัจจุบันอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ไมค์ (คริส โอ’ ดาวด์) และอแมนดา (ราชิดา โจนส์) เป็นสามีภรรยาที่แต่งงานกันมาไม่นานและพยายามจะก่อร่างสร้างครอบครัวและมีลูกด้วยกัน
ไมค์เป็นช่างเชื่อมโลหะ ทำงานอยู่กับผู้รับเหมาก่อสร้าง ส่วนอแมนดาเป็นครูโรงเรียนชั้นประถมสอนวิชาธรรมชาติวิทยา
อแมนดาเป็นครูที่เข้าอกเข้าใจปัญหาและมีคำแนะนำดีๆ แก่ลูกศิษย์เสมอ
อยู่มาวันหนึ่ง เธอก็ล้มหมดสติลงระหว่างการสอนในชั้นเรียน ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล และดูท่าว่าจะไม่มีโอกาสฟื้นขึ้นมามีชีวิตปกติได้อีก
เธอมีเนื้องอกในสมองชนิดที่ผ่าตัดเอาออกไม่ได้…
ไมค์อับจนหนทาง เมื่อหมอบอกว่า ถ้าเป็นเมื่อไม่กี่เดือนก่อน หมอจะบอกว่าไม่มีทางทำอะไรได้เลย
แต่ตอนนี้มีทางเลือก…ซึ่งหมอไม่แนะนำ…สำหรับคนไข้เคสแบบนี้แล้ว
เกย์เนอร์ (เทรซี เอลลิส รอสส์) ก้าวเข้ามาในฐานะตัวแทนของบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี ในชื่อว่า ริเวอร์ไมนด์
และบอกว่าตัวเธอเองนี่แหละเป็น “ข้อพิสูจน์ตัวเป็นๆ” (living proof) ของความสำเร็จในเทคโนโลยีของริเวอร์ไมนด์ ซึ่งผ่าเอาก้อนเนื้องอกในสมองนั้นออกไป และใส่เนื้อเยื่อสังเคราะห์เข้ามาแทน และเนื้อเยื่อสังเคราะห์นั้นจะถูกควบคุมด้วยเครือข่ายการทำงานที่จะขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ จึงจะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติอยู่ได้ภายในขอบเขตของสัญญาณ
จากที่ผ่านมาเรารู้อยู่แล้วว่า ไมค์กับอแมนดาอยู่ในชนชั้นกลางระดับล่าง เป็น “คนธรรมดาทั่วไป” ดังในชื่อเอพิโซด Common People…ก็แล้วพวกเขาจะมีปัญญาเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เทคโนโลยีที่ดูจะเกินความลึกของกระเป๋าเงินของพวกเขาได้ล่ะ
เกย์เนอร์เป็นนักขายตัวฉกาจที่ผ่านการฝึกด้านจิตวิทยาการขายมาแล้ว เธอจึงบอกว่า เทคโนโลยีของริเวอร์ไมนด์นี้ใครๆ ก็มีกำลังจ่ายได้ เพราะยกเว้นค่าผ่าตัด (= ค่าสมาชิกแรกเข้า) จะเสียก็แต่ค่าบริการรายเดือน 300 เหรียญเอง
แลกกับการที่ภรรยาฟื้นกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ทำไมไมค์จะไม่ตกลง
ตัดมาที่อแมนดานั่งรถกลับบ้านพร้อมไมค์ และถามว่าเราจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าสมาชิกทุกเดือนตั้ง 300 เหรียญ
ไมค์บอกว่าเขาจะเพิ่มกะทำงานให้มากขึ้น เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นเอง
ขณะที่อแมนดาต้องนอนมากขึ้น และออกนอกเขตเครือข่ายสัญญาณไม่ได้ ไมค์ก็ควงสองกะสามกะจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน
ร้ายไปกว่านั้น คืออแมนดาเริ่มมีอาการแปลกๆ พูดคำพูดที่เธอไม่รู้ตัวว่าหลุดออกจากปากมาได้ยังไง เป็นการโฆษณาต่างๆ ที่เอไอจัดให้แทรกเข้ามาตามโอกาส เช่น มีเด็กนักเรียนมาบอกว่าแม่กำลังจะเลิกกับพ่อ ครูก็แทรกโฆษณาให้ไปขอคำปรึกษาจากลัทธิความเชื่อแปลกๆ
อแมนดาถูกเรียกตัวไปตักเตือนเพราะโดนผู้ปกครองมาร้องเรียนด้วยความไม่พอใจจากคำแนะนำของเธอ
เมื่อไมค์และอแมนดาไปแจ้งเรื่องแปลกๆ นี้ต่อริเวอร์ไมนด์ เกย์เนอร์ก็บอกว่านั่นเป็นเพราะระดับบริการของอแมนดาอยู่ที่ “คอมมอน”
ถ้าไม่ต้องการโฆษณา เธอจะต้องอัพเกรดไปอีกระดับ คือ “พลัส” ซึ่งต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มอีกเดือนละ 500
ไมค์ทำงานตัวเป็นเกลียวอยู่แล้ว และต้องข่มใจยอมฉีกหน้าตัวเองทำสิ่งโง่ๆ น่าขายหน้าหรือทำร้ายตัวเอง ทางสื่อออนไลน์เพื่อแลกกับเงินที่จะมีผู้ยอมจ่ายเพื่อจะได้หัวเราะเล่นเป็นการบันเทิงใจ
เท่านั้นก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่พอ ริเวอร์ไมนด์ยังมีระดับค่าบริการที่สูงไปกว่า “พลัส” ซึ่งเรียกว่า “ลักซ์” ที่ดูจะเลิศสะแมนแตนขึ้นไปอีก
ท้ายสุด เส้นด้ายในชีวิตของคู่หนุ่มสาวก็ขาดผึง และจบด้วยตอนจบที่น่าเศร้าและสะท้อนใจอย่างยิ่ง
เป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตคนสามัญในโลกสมัยใหม่ (สะท้อนถึงที่นักเขียนบทละครอาร์เธอร์ มิลเลอร์ เคยเขียนไว้ในบทความชื่อ Tragedy and the Common Man)
…ซึ่งไม่รู้ว่าคุณค่าของชีวิตและศักดิ์ศรีของการมีชีวิตนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่
เศร้าจัง…แต่ดูหนังแล้ว เราก็มองเห็นทางเลือกสำหรับชีวิตอย่างที่เราต้องการได้นะคะ •
BLACK MIRROR : COMMON PEOPLE
กำกับการแสดง
Ally Pankins
แสดงนำ
Chris O’Dowd
Rashida Jones
Tracy Ellis Ross
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022