
Street Art ในกระแส Gentrification : ระหว่างการต่อต้านและสมยอม (จบ)

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
Street Art ในกระแส Gentrification
: ระหว่างการต่อต้านและสมยอม (จบ)
หากพูดเฉพาะในแง่การแสดงออกซึ่งตัวตนในพื้นที่สาธารณะผ่านการเขียนหรือพ่นข้อความต่างๆ ลงบนผนังอาคาร สังคมไทยมีการทำสิ่งนี้มาอย่างยาวนาน ทั้งที่ปรากฏตามผนังห้องน้ำ ไปจนถึงผนังอาคารสาธารณะด้วยข้อความหลากหลายแบบ ทั้งประกาศอาณาเขต ตัวตนของกลุ่ม สถาบันการศึกษา ไปจนถึงการระบายอารมณ์ต่างๆ
เมื่อได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้นผ่านสื่อภาพยนตร์และวัฒนธรรมฮิปฮอปจากอเมริกา รูปแบบการเขียนและพ่นผนังในสังคมไทยก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ปรากฏการเขียน tag, bombing และ throw-up มากขึ้นในช่วงราวทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
ภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่จากวิกฤตต้มยำกุ้ง Graffiti และ Street Art ดูเสมือนว่าจะเติบโตขึ้นมาก อันเนื่องมาจากอาคารหลายหลังถูกทิ้งร้าง ซึ่งตึกร้างเหล่านี้ได้กลายมาเป็นผืนผ้าใบชั้นดีแก่คนที่ทำงาน Graffiti และ Street Art
แต่กระนั้น ในช่วงดังกล่าว งานเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองในเชิงบวก (ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก) ยังถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ผิดกฎหมาย และทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

ภาพ I was here ณ สวนเฉลิมหล้า
ที่มา : https://www.remotelands.com/travelogues/canvas-city-two-walks-for-the-street-art-lover-in-bangkok/
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2000 เมื่องาน Street Art เริ่มผันตัวเองเข้ามาอยู่ในพื้นที่หอศิลป์ โดยงานที่สำคัญคือ การรวมตัวของคนทำงาน Street Art 16 คน มาจัดแสดงงาน ณ หอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ในชื่องานว่า FOR Wall Painting พ.ศ.2554 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมากจากสังคม
อาจถือได้ว่างานนี้ส่งผลอย่างสำคัญในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของงานประเภทนี้ในสายตาคนไทย งานเริ่มถูกยอมรับมากขึ้นในฐานะที่เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม “การเดินเข้าสู่หอศิลป์” และ “กลายเป็นศิลปะ” ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย
ในด้านหนึ่งคือได้รับการยอมรับในวงกว้าง สถานะทางสังคมรวมถึงเศรษฐกิจดีขึ้น
แต่สิ่งที่เกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การลดทอนลงหรือจนกระทั่งสูญหายไปเลยของสิ่งที่เรียกว่าเป็น “จิตวิญญาณของการขบถ” การเป็นปากเสียงแห่งการต่อต้าน ความโมโห ไปจนถึงความอยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ
ประเด็นนี้ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่องาน Street Art เริ่มถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเมือง ในฐานะเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งของการฟื้นฟูเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ภาพช้าง 2 ตัว โดยศิลปิน ROA ในย่านทรงวาด
ที่มา : https://www.remotelands.com/travelogues/canvas-city-two-walks-for-the-street-art-lover-in-bangkok/
BUKRUK (บุกรุก) เทศกาลศิลปะ Street Art นานาชาติที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ 2 ครั้งในปี พ.ศ.2556 และ พ.ศ.2559 บนกำแพงตึกในพื้นที่กรุงเทพฯ คือจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของ Street Art ในไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดครั้งที่ 2 ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่วาดเป็นย่านเก่า เช่น บางรัก ทรงวาด สี่พระยา และตลาดน้อย โดยมีการอธิบายว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ถูกมองข้าม และการทำงานจะมีลักษณะการร่วมปรึกษากับชุมชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของย่านผ่านงานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์
ผมเชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้มีเจตนาดีอย่างไม่ต้องสังสัยนะครับ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ดูจะประสบความสำเร็จอย่างมาก มีคนเข้าไปเยี่ยมชมงานและชมย่านเก่ามากมาย
ซึ่งอานิสงส์จากงานครั้งนั้นยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบันที่ทำให้ บางรัก และตลาดน้อย ทรงวาด เศรษฐกิจเจริญเติบโต กลายเป็นย่านฮิป พื้นที่ชิก ที่ต้องเข้าไปเที่ยวและถ่ายภาพเก็บไว้สักครั้งในชีวิต
แต่เหรียญไม่เคยมีด้านเดียว และ ดาบย่อมมีสองคม ย่านเก่าเหล่านี้ในเวลาต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนสภาพอย่างรวดเร็ว เกิดร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร เกิดการย้ายเข้าไปทำธุรกิจในพื้นที่จากคนภายนอกมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และแน่นอน ราคาที่ดินสูงขึ้น ฯลฯ
ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้ให้ประโยชน์อย่างทั่วถึงแก่คนทุกคนที่เคยอาศัยอยู่ในย่าน แต่กลายเป็นการเอื้อกับนายทุนจากภายนอกและคนในย่านที่โชคดีบางกลุ่มที่สามารถโอบรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างทันสถานการณ์ ส่วนคนเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในย่านหลายคนกลับเริ่มรู้สึกว่า พวกเขาแปลกแยกกับพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้คืออาการของ Gentrification
(ดูตัวอย่างเพิ่มใน https://thematter.co/social/talat-noi-gentrification/236273)
นับตั้งแต่งาน BUKRUK เป็นต้นมา Street Art (โดยที่ศิลปินอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้) ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในฐานะเครื่องมือหนึ่งของการรื้อฟื้นย่านเมืองเก่าของไทย แต่อีกนัยหนึ่งคือการเป็นเครื่องมือของรัฐและนายทุนเพื่อสร้าง Gentrification ให้เกิดขึ้น
แน่นอน คงไม่ใช่แค่อิทธิพลจากงาน BUKRUK อย่างเดียว แนวคิดแบบนี้น่าจะเริ่มขึ้นจากหลายๆ แหล่งที่มา โดยเฉพาะกระแสแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นย่านเก่าในยุโรป อเมริกา และที่โดดเด่นที่สุดคือ ย่าน George Town เมืองปีนัง ที่มีการใช้งานงาน Street Art เพื่อการฟื้นฟูเมืองอย่างจริงจัง (และเกิด Gentrification อย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน) จนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแนวทางนี้
สิ่งที่ย้อนแย้งที่สุดคือ การใช้ Street Art ในไทยมักถูกพูดถึงในฐานะเครื่องมือที่ปลุกให้ชุมชนในพื้นที่หรือคนทั่วไปมองเห็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของย่านที่อาจถูกละเลยหรือหลงลืมไปให้ฟื้นคืนกลับมาเป็นที่ตระหนักรับรู้อีกครั้ง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าไม่น่าใช่
ขอให้ทุกท่านลองทำตามผมนะครับ ลองกดหาภาพใน Google โดยใช้คำค้นว่า “Street Art ย่านเก่า” แล้วลองไล่ดูแต่ละภาพ โดยไม่อ่านใต้ภาพนะครับว่าเป็นภาพจากเมืองไหน ผมเชื่อว่าทุกคนจะไม่สามารถแยกภาพส่วนใหญ่ออกได้เลยว่า Street Art แต่ละภาพถูกเขียนขึ้นที่ไหน ระหว่าง เมืองเก่าสงขลา, ท่าศาลา, สิงค์โปร์, ภูเก็ต, ราชบุรี, ปีนัง, ตะกั่วป่า, นครราชสีมา ฯลฯ
ยกเว้นว่าภาพนั้นจะเป็นระดับ icon ที่โด่งดังมาก หรือมีการเขียนภาพอาคารโบราณสถานที่สำคัญของเมืองนั้นๆ ใส่ลงไปด้วย
ทุกย่านล้วนดูเหมือนกันไปหมด ศิลปินที่ถูกเชิญมาวาดในหลายเมืองก็เป็นคนซ้ำเดิมเวียนกันไปมาและวาดภาพที่เป็นลายเซ็นของตนเองจนเราแยกไม่ออกว่าเป็นเมืองไหน ศิลปินหน้าใหม่ก็ต้องวาดภาพไปตามกระแสนิยมที่ถูกจริตการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวจนภาพดูไม่แตกต่างกัน
ไปเที่ยวย่านเก่าสงขลาก็ได้ภาพถ่ายมาไม่ต่างจากย่านเก่าภูเก็ต ปีนัง หรือสิงคโปร์ เอกลักษณ์ที่ถูกยกชูว่าจะเกิดขึ้นกลับกลายเป็นเพียงการผลิตซ้ำประสบการณ์เดิมโดยไม่รู้ว่าตนเองกำลังเดินเล่นอยู่ในเมืองไหนกันแน่
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลยสำหรับรัฐและทุน เพราะเอกลักษณ์ของย่านเป็นเพียงคำโปรยโรยหน้าที่ไม่เคยมีใครสนใจมันจริงจังอยู่แล้ว เป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ หัวใจหลักคือการฟื้นเศรษฐกิจ มิใช่ฟื้นจิตวิญญาณ
Street Art ในย่านเก่า เอาเข้าจริงจึงไม่ใช่เครื่องมือส่งเสริมเอกลักษณ์ย่านเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
แต่คือการเปลี่ยนย่านเก่าให้กลายเป็น Instagrammable place ที่เหมือนกันไปหมด ไม่ต่างจากการออกแบบ caf? ในโลกปัจจุบันที่มีสูตรสำเร็จที่จะทำให้กลายเป็น Instagrammable caf? ที่หน้าตาแทบไม่ต่างกันเลยทั่วโลก แต่คนชอบไปถ่ายรูป (ดูประเด็นนี้เพิ่มในหนังสือ Filterworld : How Algorithms Flattened Culture โดย Kyle Chayka)
สำหรับผม คงไม่เกินไปนักที่จะสรุปว่า Street Art ในสังคมไทย โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่า มีค่าแค่เพียงเครื่องมือของรัฐและทุนในการเร่งปฏิกิริยา Gentrification ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เท่านั้น
เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวไว้ก่อนว่า หลังการรัฐประหาร 2557 มีการปรากฏขึ้นของงาน Street Art พอสมควรที่มีเนื้อหาต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงการต่อต้านการไล่รื้อชุมชนที่เกิดขึ้นมากภายใต้รัฐบาลทหาร (ดูเพิ่มใน Panlee, P. (2021). Visualising the right to protest: Graffiti and eviction under Thailand’s military regime. City, 25(3-4), 497-509.) ตัวอย่างเช่น ภาพ I was here ณ สวนเฉลิมหล้า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับโลกตะวันตก ดูเสมือนว่า Street Art แนวนี้ของไทยยังไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก
Street Art ไม่จำเป็นต้องสวมวิญญาณขบถอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรถูกลดทอนให้เหลือเพียงแค่ภาพสวยบนผนังที่มีไว้ให้คนผ่านมากดชัตเตอร์เพื่อแชร์ลงโซเชียลแล้วจากไป
การสร้างสมดุลระหว่าง “การต่อต้าน” กับ “การสมยอม” คือโจทย์สำคัญที่ศิลปินไม่อาจเพิกเฉย หากยังเชื่อในพลังของพื้นที่สาธารณะ เสียงของคนตัวเล็ก และสิทธิในการตั้งคำถามต่ออนาคตของเมือง
บางทีภารกิจของ Street Art อาจไม่ใช่แค่การแต่งแต้มสีสันให้กำแพงดูมีชีวิต แต่คือการปกป้องไม่ให้ใครลบชีวิตของใครออกจากเมืองต่างหาก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


