
สุพันธุ์ มงคลสุธี หน.ทีม ศก. ‘ไทยสร้างไทย’ ชี้โจทย์ใหญ่ เศรษฐกิจไม่ใช่ ‘ค่าแรง’

สุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย มีมุมมองส่วนตัวต่อเรื่องค่าแรง เรื่องนี้ไม่ควรจะมาเป็นประเด็นหาเสียงในทางการเมืองตั้งแต่แรกแล้ว
หากเราย้อนไปก่อนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่เคยมีประเด็นนี้ในการหาเสียง
เราต้องย้อนเรื่องเดิมประเด็นเรื่องค่าแรงในสมัยก่อนเราจะมีหน่วยงานที่เป็นไตรภาคี ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ ซึ่งมีในทุกจังหวัด เมื่อถึงช่วงปรับค่าแรงก็จะมีการมาประชุมกันว่าปีนี้ในจังหวัดนี้จะปรับเป็นเท่าไร มีการทำข้อตกลงกัน ทุกอย่างมีการพูดคุยกันและยึดเอาตัวนี้มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้าง
พอมาในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการกำหนดค่าแรง 300 บาท เชื่อหรือไม่ว่าในตอนนั้น ผมในฐานะเป็นคนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมเห็นสถานการณ์อย่างเช่นในจังหวัดพะเยาและอีกหลายจังหวัดที่จากเดิมค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 180-190 บาท เมื่อขึ้นมาเป็น 300 บาท ถามว่าเสียหายหรือไม่?
ต้องอธิบายว่าภาพที่ทุกคนคิดแค่ว่าค่าแรงที่ขึ้นคงเป็นแค่โรงงานหรือบริษัท ไม่ใช่นะครับ ระดับชาวบ้าน เช่น ในฤดูกาลการเก็บเกี่ยวผลไม้ต้องมีการจ้างคนมาเก็บเกี่ยวเขาก็ต้องขึ้นเลยเหมือนกัน
ถามว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ไหวหรือไม่ ก็เลยเป็นปัญหา
ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านขายอาหารทั่วไปที่มีคนงาน 2-3 คนก็ต้องปรับตามค่าแรงขั้นต่ำ
ผมจึงมองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำ ถ้าเป็นผม ผมจะมอง GDP per capita ก็ตั้งเป้าเลยว่าต่อไปนี้ประชาชนไม่ใช่แค่ภาคแรงงาน (มีมากกว่า 11 ล้านคน) ทั้งที่จริงๆ แล้วเรามีแรงงานย่อยๆ อีกเยอะ บริษัทใหญ่ๆ ที่มีคนงานอยู่ประมาณ 6-7 ล้านคน ถ้าดำเนินนโยบายนี้อาจจะไหว แต่เรายังมีแรงงานต่างด้าวอีก 2-3 ล้านคน ซึ่งวันนี้เขาก็แฮปปี้กับค่าแรงอยู่แล้ว และนี่คือเรตของค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องมองคือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจให้รายได้ต่อหัวต่อคนของประเทศไทยดีขึ้นภายใน 3 ปี ต้อง 50%
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องไปดูรายได้ต่อหัวต่อคนตามภูมิภาค อย่าดูภาพรวมทั้งประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีอีสานมีคนเยอะที่สุดแข็งแรงที่สุด แต่ทำไมถึงได้ค่าแรงน้อยที่สุด ต้องไปแก้ปัญหาตรงนั้นมากกว่า เพื่อให้ทุกคนดีขึ้น เพราะเมื่อทุกคนดีขึ้นก็จะไม่กระจุกตัวอยู่ใน กทม. การแก้ปัญหาหรือผลกระทบจะน้อยลง งบประมาณก็จะกระจายไปอยู่ตามพื้นที่ได้ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามจะดูทั้งระบบ
สุพันธุ์ย้ำว่าหากจะมุ่งแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต เราต้องมององค์รวมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าเกษตร เรื่องระดับภูมิภาค ต้องมีเป้าหมายในการที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้ดีขึ้น
หลายอย่างเป็นสิ่งที่คนไทยชำนาญอยู่แล้ว ทั้งอาหาร-การเกษตร เราต้องวิจัยและพัฒนาควบคู่กันไปด้วย แก้ปัญหาทุกด้านพร้อมกัน
ปัญหาค่าแรงเป็นเพียงเรื่องของคนส่วนหนึ่ง แล้วเมื่อคุณขึ้นค่าแรงไปแล้วจะกระทบต่อภาพรวมทั้งบริษัทเลย ไม่ใช่ขึ้นแค่พนักงานระดับล่าง เพราะมันก็จะชนกับพนักงานอีกระดับหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น ก็ต้องขยับกันทุกขั้น กลายเป็นว่าขยับกันทั้งองค์กร
ถามว่านายจ้างรายเล็กจะอยู่กันลำบากรือไม่?
แน่นอนว่าบริษัทใหญ่อาจจะพอไปได้ไปรอด แต่เราต้องทำให้อยู่ให้ได้ทั้งหมดทั้งระบบ มิเช่นนั้นจะเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงมากขึ้น เพราะคนที่ตกงานจะมากขึ้นกว่าเดิม
หัวใจสำคัญคือเราต้องมาดูว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้นให้รายได้ของทุกคนในประเทศดีขึ้นไม่ใช่แค่ในภาคแรงงาน
ถ้าเศรษฐกิจประเทศดีขึ้นทั้งหมด แรงงานก็ดีขึ้น คนอีกหลายกลุ่มก็จะดีขึ้น สามารถจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำได้อีก
อีกประเด็นที่ทุกพรรคการเมืองก็พูดตรงกันคือเรื่องทักษะการ Re-Skill การเพิ่มทักษะต่างๆ ซึ่งอยากเน้นย้ำว่าต้องทำวิธีการให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทางว่ารัฐบาลต้องร่วมมือกับเอกชนอย่างแข็งขันในการสร้างโครงสร้างบางอย่างและอำนวยความสะดวก ให้เอกชนเป็นคนคิด ทำร่วมกับรัฐบาลนี่เป็นเรื่องสำคัญ
อย่างประเทศเรามีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเราก็จะต้องบอกเขาว่าจะต้องทำเรื่องใดบ้าง จะใช้โมเดลเดียวกันทุกพื้นที่ไม่ได้ ใช้เครื่องมือเครื่องไม้ทุกอย่างทำเหมือนกันหมดไม่ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ ส่วนไหนต้องเน้นเรื่องซอฟต์แวร์
ส่วนไหนต้องเน้นเรื่องเกษตร ต้องแยกกัน เราต้องทำเป็นกลุ่มจังหวัด ว่ากลุ่มจังหวัดไหนควรทำเรื่องอะไร ต้องการให้รัฐสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง
“คน” ที่จะเป็นวิทยากรช่วยเพิ่มทักษะที่ดีที่สุดไม่ใช่คนของรัฐเลย ต้องเป็นเรื่องของเอกชนที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจเรื่องธุรกิจนั้นๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของนวัตกรรม
ถามว่าวันนี้บ้านเราอยู่ตรงไหน เรามีหน่วยงาน สวทช. มี 500-600 คน แถมเรามี ดร.จำนวนมาก แต่นำหน่วยงานเหล่านี้เข้ามาช่วยคิดวางโปรแกรมเพื่อช่วยหรือสนับสนุนในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจังหรือไม่
และลงพื้นที่ว่าจะทำนวัตกรรมเรื่องอะไร รัฐทำหน้าที่สนับสนุนทำให้เกิดอย่างเต็มที่หรือไม่?
ถามว่าทำไมผมถึงมั่นใจว่าเราไปได้ เพราะเรามีวัตถุดิบที่ดีหลายอย่าง เราไม่จำเป็นต้องมุ่งเฉพาะเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ เราสามารถไปเรื่องเกษตร ที่ไม่จำกัดแค่พืชพรรณสมุนไพร ผลไม้ สามารถคิดข้ามไปถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายเรื่องได้ ทั้งเรื่องอาหารและอื่นๆ เราต้องทำสิ่งที่ถนัด
ถ้าทำแบบนี้ได้ GDP ขึ้น รายได้จะเพิ่มขึ้นแน่ เราต้องวางยุทธศาสตร์ตรงนี้และนำเรื่องอาหารและอื่นๆ ทำเป็นเรื่องส่งออกที่แข็งแรง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตขึ้นได้ ผมถึงมั่นใจว่าทำไมเราถึงทำให้ GDP โตขึ้นได้ภายใน 3 ปี โตขึ้นได้ 50%
วันนี้ปัญหาสำคัญคือถ้าเศรษฐกิจเราไม่โตมันไปไหนไม่ได้ ปัญหาของคนที่ใช้แรงงานไม่ได้อยู่ที่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำแต่เขามีปัญหาที่การเบิกโอที การทำงานล่วงเวลา เมื่อโอทีไม่มาเลยเป็นปัญหาใหญ่เพราะว่าคนงานระดับล่างเขาอยากได้โอที
ดังนั้น วันนี้ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างต้องลดค่าจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เขาอาจจะจ่ายได้ถึง 400 บาท แต่คนเขาจะน้อยลง โอทีเขาก็จะไม่มีเพราะจ้างไม่ไหว เพราะค่าแรงโอที 1.5 เท่า หรือ 2 เท่าในบางที่
สุพันธุ์บอกว่าส่วนที่พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถดำเนินนโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้ประกาศหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 ผมมองว่ายังไงก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ผมไม่อยากโจมตี เขาเจอปัญหาโควิดก็สาหัสแล้ว แต่ดันแก้ปัญหาโควิดไม่ถูกจุดอีกก็เป็นปัญหาเพิ่ม ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้แก้ปัญหาโควิดผิดพลาดมาตลอด คิดแต่เรื่องกดตัวเลขเหลือ 0 มีปัญหาเรื่องวัคซีนไม่คิดซื้อ พอซื้อวัคซีนมีปัญหาเรื่องการนำเข้าวัคซีน ต่อมามีปัญหาเรื่องยา ปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีคนเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คน คิดดูแล้วกันว่าเยอะขนาดไหน ถามว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก่อนเราเจอปัญหานี้เราเคยคิดหรือไม่ มีการวางแผนหรือไม่อย่างไร เพราะว่าเราไม่เคยมองไปข้างหน้า ทุกอย่างคิดอยู่ภายใต้กลไกการบีบให้อยู่ส่วนกลาง
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ในวันนี้คือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีเงินในกระเป๋าได้มากขึ้น อย่างปัญหาค่าไฟทำไมเราแพงขึ้น ผมเองก็ไม่เข้าใจเราขึ้นมาแล้ว 2 รอบ คือวันนี้ราคาน้ำมันต่ำที่สุดในรอบ 1 ปีดอกเบี้ยอัตราแลกเปลี่ยน แข็งค่าขึ้น 10 กว่าเปอร์เซ็นต์และทำไมเราไม่ลดค่าครองชีพตรงนี้ลงมา
ถึงเวลาต้องลดแล้วเรามัวแต่เอ้อระเหยเสียเวลา แต่พอเวลาจะขึ้นอะไรแบบนี้ขึ้นกันง่ายแต่เวลาลงไม่ยอมลง คุณไม่ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น คุณยังมาดันค่าครองชีพให้สูงขึ้นโรงงานก็ต้องมาเพิ่มราคากับผู้บริโภคซ้ำขึ้นไปอีก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

