ปูติน vs คนรุ่นใหม่! : สุรชาติ บำรุงสุข

สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายไปกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น พร้อมกับพาระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียที่เคยครองอำนาจอย่างเข้มแข็งล่มสลายตามไป และนำไปสู่การกำเนิดของ “รัฐรัสเซีย” อีกครั้งในเวทีโลก

การสิ้นสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เป็นความหวังอย่างมากถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และเป็นความหวังอย่างมากอีกด้วยว่า จะเป็นเส้นทางสู่การสร้างเศรษฐกิจเสรีนิยม อันจะทำให้เกิดการเดินคู่ขนานระหว่าง “การเมืองเสรีนิยม” กับ “เศรษฐกิจเสรีนิยม” ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์จะเป็นแรงขับเคลื่อนของการสร้าง “สังคมเสรีนิยม” และจะยังผลโดยตรงให้ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” มีความเข้มแข็งมากขึ้น

แต่ทฤษฎีรัฐศาสตร์กลับมีอาการ “ชะงักงัน” เพราะผลที่เกิดขึ้นในรัสเซียกลับไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือ การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของรัสเซียไม่สามารถสร้างระบอบการเมืองแบบเสรีนิยมได้จริง และทั้งยังทำให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่อาจเดินไปข้างหน้าได้อีกด้วย

ความฝันของนักทฤษฎีรัฐศาสตร์สลายลง เมื่อการเปลี่ยนผ่านในรัสเซียกลับมีสภาวะแบบ ”ครึ่งๆกลางๆ” กล่าวคือ การเลือกตั้งไม่ใช่เส้นทางที่จะนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตย แต่กลับนำไปสู่ระบอบที่นักรัฐศาสตร์ต้องหันกลับมาทำความเข้าใจใหม่ อันเป็นการกำเนิดของ “ระบอบพันทาง” หรือที่เรียกว่า “ระบอบไฮบริด” และระบอบเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนถึงการมีอำนาจของประธานาธิบดีปูติน (และว่าที่จริง ก็ไม่ต่างกับผู้นำสายอำนาจนิยมในเอเชียบางคนเช่นกันด้วย)… การเมืองในระบอบดังกล่าว แม้จะไม่เป็นเผด็จการเต็มรูป แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูป จนอาจเรียกในเชิงภาพลักษณ์ว่าเป็น “ระบอบครึ่งๆกลางๆ”

Advertisement

ในระบอบเช่นนี้ การเลือกตั้งไม่ได้มีความหมายถึง การตัดสินของประชาชนในการเลือกผู้ปกครองประเทศ แต่การเลือกตั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำเก่า ขณะเดียวกันก็สร้างกติกาและข้อกำหนดต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้นำสายอำนาจนิยมมี “ภาพลักษณ์ที่ดี” โดยใช้การเลือกตั้งเป็นการโฆษณาทางการเมือง หรือการเลือกตั้งเป็น “ผงซักฟอก” ทางการเมืองนั่นเอง

แน่นอนว่า ระบอบพันทางของการเมืองแบบ “ครึ่งๆกลางๆ” เช่นนี้ ไม่ได้มีแต่ในรัสเซีย ตัวอย่างในเอเชียไม่ว่าจะเป็นในกัมพูชา ในไทย หรือในเมียนมา (ก่อนรัฐประหาร 2021) ก็ดูจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน จนอาจต้องกล่าวว่า ระบอบพันทางคือ การ “ฟอกตัว” ทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งภายใต้ข้อกำหนดของฝ่ายอำนาจนิยมเดิม… ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะคาดหวังให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้อย่างไร และภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ระบอบเผด็จการใหม่ของศตวรรษที่ 21” ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครเป็นตัวแทนของระบอบนี้ได้ดีเท่ากับประธานาธิบดีปูติน

ถนนการเมืองสายนี้ทำให้ประธานาธิบดีปูตินสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบใหม่ที่มอสโคว์ได้อย่างยาวนาน จนเกิดสิ่งที่ขอเรียกว่า “รัสเซียของปูติน” ที่มีความเป็นเผด็จการมากขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น แม้คนหนุ่มสาวหลายคนจะเติบโตมากับ “ระบอบของปูติน” แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า คนเหล่านี้เติบโตในสังคม “ยุคหลังโซเวียต” ที่สหภาพโซเวียตรัสเซียและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายไปหมดแล้ว

Advertisement

หากย้อนอดีตสักนิด เราจะเห็นได้ว่าหลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในต้นเดือนพฤศจิกายน 1989 แล้ว อีกสองเดือนต่อมาคือ สิ้นเดือนมกราคม 1990 สัญลักษณ์สำคัญของโลกทุนนิยมก็เกิดขึ้นในย่านใจกลางเมืองหลวงมอสโคว์… ร้านแมคโดนัลเปิดตัวเป็นครั้งแรก และเป็น “ร้านอาหารจานด่วน” แห่งแรกของอเมริกันในสังคมรัสเซีย พร้อมกับการพัดมาของกระแสโลกาภิวัตน์เข้าสู่สังคมรัสเซีย

คงต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่รัสเซียชอบแมคโดนัล ดื่มโค้ก อ่านหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์… ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาที่เติบโตมากับยุคของพรรคคอมมิวนิสต์และโลกสงครามเย็น หรือที่อาจเรียกว่าเป็นยุค “ชีวิตหลังม่านเหล็ก” และคงต้องยอมรับอีกประการว่า “คนในยุคหลังโซเวียต” ไม่ได้ต้องการกลับไปมีชีวิตทางสังคมในแบบที่พ่อแม่ของพวกเขาต้องทนอยู่ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้ต้องการมีชีวิตอยู่กับ “รัสเซียของปูติน” ที่มีความเป็นเผด็จการมากขึ้น แต่ต้องการสังคมที่เป็นเสรีนิยม แม้จะถูกถากถางว่าเป็น “ชีวิตแบบตะวันตก” ก็ตาม

ประธานาธิบดีปูตินมักจะประนามคนรุ่นใหม่เหล่านี้ว่าเป็นพวก “กบฏของชาติ” ที่พยายามทำลาย “มาตุภูมิรัสเซีย” ด้วยค่านิยมตะวันตกและความคิดแบบเสรีนิยม (ถ้าเป็นสำนวนในการเมืองไทย ก็คงเรียกคนพวกนี้เป็นพวก “ชังชาติ”)… แน่นอนว่า ค่านิยมของคนหนุ่มสาวรัสเซียไม่ใช่คุณค่าในแบบที่เป็น “รัสเซียของปูติน”

ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่เป็น “ฝ่ายโปรประชาธิปไตย” จึงกลายเป็น “ฝ่ายต่อต้านปูติน” และสนับสนุนนักการเมืองในปีกฝ่ายค้านไปโดยปริยาย ในอีกด้าน คนเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นเหมือน “สายลับตะวันตก” เพราะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก สื่อสายนิยมปูตินจึงมักจะเรียกคนพวกนี้ว่า “แนวที่ห้า” ซึ่งเป็นภาษาเก่าที่ใช้เรียกพวกสายลับ

แต่เราคงต้องยอมรับความสำเร็จของ “ระบอบปูติน” ที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือในการ “ล้างสมอง” คนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ไม่แตกต่างจากในเกาหลีเหนือ หรือประเทศกึ่งเผด็จการในเอเชีย) ซึ่งกลไกระบอบคอมมิวนิสต์เก่าของรัสเซียมีประสบการณ์อย่างมากในเรื่องนี้ และการสื่อสารด้วยการชวนเชื่อทางการเมือง (หรืออาจเรียกในแบบไทยว่า การทำ “ไอโอ”) ทำให้คนรัสเซียคล้อยไปกับ “วาทกรรมเฟคนิวส์” ของรัฐ ดังเช่น วันนี้คนรัสเซียเชื่อว่า ยูเครนปกครองโดยรัฐบาลนาซี และกองทัพรัสเซียต้องเข้าไปช่วยปลดปล่อยดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเชื่อว่า การสังหารประชาชนยูเครนในหลายพื้นที่เป็นฝีมือของฝ่ายขวาจัดยูเครน ทหารรัสเซียบริสุทธิ์และไม่เคยสังหารประชาชน และเชื่อตามประธานาธิบดีปูตินอย่างมากว่า กองทัพรัสเซียกำลัง “ปฎิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน ไม่ใช่ “การรุกราน” และ ไม่ใช่ “การก่อสงคราม” อย่างที่โลกตะวันตกกล่าวหารัสเซีย แต่ถ้าใครใช้สองคำนี้ในรัสเซีย จะถูกจับกุมทันที เพราะถือว่าเป็นการแสดงตนที่เป็น “ปฎิปักษ์ต่อรัฐ” ซึ่งไม่มีรัฐเผด็จการที่ไหนยอมรับท่าทีต่อต้านเช่นนี้ของประชาชน

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความสำเร็จอย่างสำคัญของประธานาธิบดีปูตินจึงไม่ใช่เพียงการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการมีอำนาจด้วยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวางอีกด้วย จนต้องถือว่า ประธานาธิบดีปูตินเป็น “นักโฆษณาชวนเชื่อ” ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่ก็เป็นความสำเร็จที่เปราะบาง เพราะรัสเซียกำลังถูกโดดเดี่ยว และการประท้วงต่อต้านในบ้านก็มีมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มสาวรัสเซียส่วนหนึ่งแสดงออกอย่างกล้าหาญทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยการประท้วง “สงครามของปูติน” เช่น ในสัปดาห์ที่สามของสงครามยูเครน นักร้องเพลงแร้ปที่เป็นคนรุ่นใหม่ชาวรัสเซียจัดคอนเสิร์ตที่อิสตันบูลในตุรกี ชื่องานคือ “ชาวรัสเซียต่อต้านสงคราม” เพื่อส่งเงินไปช่วยผู้ลี้ภัยชาวยูเครนในโปแลนด์ และคำตอบที่ชัดเจนจากคนรุ่นใหม่ในยุค “หลังโซเวียต” คือ “ไม่มีที่ไหนที่คนรัสเซียจะถูกปฎิบัติอย่างเลวร้ายเท่ากับในรัสเซียเอง”… คำตอบแบบตลกร้ายเช่นนี้เป็นเรื่องน่าเจ็บปวด ฉะนั้น การต่อสู้ระหว่าง “โลกเก่าของปูติน vs โลกใหม่ของคนหนุ่มสาว” ที่แม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ทันที จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

คำตอบที่เจ็บปวดในอีกด้านคือ คนหนุ่มสาวรัสเซียเหล่านี้ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในบ้านตัวเองได้อย่างปกติอีกต่อไป เพราะการคุกคามจากรัฐ … ว่าที่จริงแล้ว รัฐเผด็จการที่ไหนก็เลวร้ายไม่แตกต่างกัน เป็นแต่เพียงผู้นำเผด็จการจะชื่ออะไรเท่านั้นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image