เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ระเบียบอำนาจ/ระเบียบการเมือง (political order) | เกษียร เตชะพีระ

19.06.2024

ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และครูผู้บุกเบิกทฤษฎีกับการปฏิบัติเรื่องการเมืองแห่งความไม่รุนแรง (the politics of nonviolence) ในเมืองไทยเคยบอกกับผมว่าหน้าที่ของนักวิชาการคือการ launch concepts ซึ่งผมใคร่แปลว่าการแผลงแนวคิด (ในความหมายแผลงศร) เข้าไปในสังคมเพื่อช่วยจัดหาเสนอสนองเครื่องมือการคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจสถานการณ์ของตัวเองให้แก่ผู้คน

คำของครูโดนใจผมมาก และเมื่อลองทบทวนประสบการณ์ตัวเองแล้วก็จริงทีเดียว

นับแต่เริ่มขีดเขียนตีพิมพ์ งานวิเคราะห์การเมืองออกมาเมื่อ 40 ปีก่อน ผมก็ได้ “แผลงแนวคิด” ต่างๆ เข้าใส่สังคมวัฒนธรรมและวิชาการไทย มาตามลำดับตั้งแต่ :

“รัฐราชการ”, “ประชาธิปไตยต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน”, “การเมืองวัฒนธรรม”, “ปัญญาชน-สาธารณะ”, “นายหน้าวาทกรรม”, “โครงสร้างโอกาสทางวัฒนธรรม”, “การแปล/แปรชาตินิยม”, “จินตนากรรม ชาติที่ไม่เป็นชุมชน”, “อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย”, “คำล่องลอย-ความหลากหลาย-ของทดแทน”, “คุมคำ-คุมความหมาย-คุมความคิด-คุมคน”, “ประชาธิปไตยไม่เสรี”, “ระบอบทักษิณ”, “พระราชอำนาจนำ”, “ฉันทามติภูมิพล”, “สาธารณรัฐจำแลง”, “เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์” เป็นต้น

แนวคิดเหล่านี้มีบ้างที่ผมใช้อยู่คนเดียวและถูกลืมเลือนไป แต่ก็มีบ้างที่ถูกนักคิดวิเคราะห์นักวิชาการและหน่วยงานอื่นๆ หยิบยกไปวิพากษ์วิจารณ์และประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ต่อมา อาทิ

“ระบอบทักษิณ” ในคำวินิจฉัยที่ 1-2/2550 ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเรื่องอัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 30 พฤษภาคม 2550 ไปจนถึง

“the Bhumibol Consensus” ในหนังสือ Thai Politics in Translation: Monarchy, Democracy and the Supra-constitution (2021) ซึ่งมี Michael K. Connors & Ukrist Pathmanand เป็นบรรณาธิการ และ

“translation-as-transformation” ในบทความ “Beyond vernacular and metropolitan concepts: Good governance, translation and word coinage in Thailand” ของ Claudio Sopranzetti ใน HAU : Journal of Ethnographic Theory, 12 : 3 (717-731), 2022.

รายการสนทนาของคุณชัยธวัช ตุลาธน กับคุณอธึกกิต แสวงสุข ทาง matichon tv 15 พฤษภาคม 2567 & ศาสตราจารย์แกรี เกอเซิล ผู้เขียน The Rise and Fall of the Neoliberal Order : America and the World in the Free Market Era, 2022

ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะสะดุดคำว่า “ระเบียบอำนาจ” ในคลิปสัมภาษณ์ของคุณชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แก่คุณอธึกกิต แสวงสุข ข้างต้น

จำได้เลาๆ ว่าผมลอง “แผลง” คำนี้ออกไปราวช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเอาคำว่า “ระเบียบ” ไปผูกติดกับคำว่า “อำนาจ” เพื่อพยายามบ่งชี้ถึงอะไรบางอย่างซึ่งยืนนานกว่า “รัฐบาล” แต่ก็แตกต่างจากการจัดประกอบสถาบันการเมืองการปกครองทางการแบบเฉพาะเจาะจงที่เรียกว่า “ระบอบ”

หากมุ่งหมายถึงการจัดแจงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ในสังคมการเมืองที่อิงอาศัยอุดมการณ์ ชุดนโยบายและฐานมวลชนรองรับสนับสนุนที่แน่นอนหนึ่งๆ

ไหนๆ หัวหน้าต๋อมก็ได้ออกปากเอ่ยถึงคำนี้แล้ว ผมก็เลยอยากถือโอกาสคลี่คลายขยายความแนวคิด “ระเบียบอำนาจ/ระเบียบการเมือง” ตามที่ผมหยิบยืมประยุกต์ใช้บ้างนะครับ

 

คําว่า “ระเบียบอำนาจ” แบบที่ผมใช้ละม้ายใกล้เคียงกับแนวคิด “political order” ของศาสตราจารย์แกรี เกอเซิล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เจ้าของผลงานโดดเด่นเรื่อง The Rise and Fall of the New Deal Order, 1930-1980 (1989) และ The Rise and Fall of the Neoliberal Order : America and the World in the Free Market Era (2022) ตรงที่เห็นได้ว่าต่างก็รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี นักทฤษฎีการเมืองสังคมนิยมเช่นกัน (ดูรายละเอียดใน เกษียร เตชะพีระ, “แนวคิดเรื่องอำนาจนำ”, ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, บก. การเมือง อำนาจ ความรู้ : หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์ (2564), น.29-52)

และดังนั้น จึงเป็นประโยชน์ที่จะนำมาป้อนเลี้ยงเติมเต็มแก่กันและกัน

 

นิยามและหลักคิด :

ระเบียบอำนาจหมายถึงการชุมนุมเกาะกลุ่มของอุดมการณ์ต่างๆ นโยบายต่างๆ และฐานมวลชนต่างๆ ที่ส่งผลกำหนดการเมืองในลักษณะที่ยั่งยืนยาวนานกว่าแค่รอบการเลือกตั้งหนึ่งๆ

ตรงหัวใจของระเบียบอำนาจคือหลักนโยบายเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นเอกเทศ เช่น หลักนโยบายเศรษฐกิจ การเมืองแบบสังคมประชาธิปไตยของระเบียบอำนาจนิวดีลสมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ และหลักนโยบายเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมเสรีสุดโต่งของระเบียบอำนาจเสรีนิยมใหม่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เป็นต้น

การสร้างระเบียบอำนาจขึ้นในการเมืองแบบเลือกตั้งประชาธิปไตยต้องอาศัยมากกว่าแค่ชนะเลือกตั้งครั้งสองครั้ง หากต้องมีแหล่งทุนหนาอุดหนุนคณะผู้สมัคร สถาบันคลังสมองและเครือข่ายนโยบายเพื่อแปรความคิดการเมือง เป็นโครงการที่ดำเนินการได้ พรรคการเมืองที่กำลังผงาดขึ้นมาและยึดกุมฐานเสียงมวลชนได้หลากหลายฐาน ความสามารถที่จะกำหนดความคิดเห็นทางการเมืองทั้งในสถาบันระดับสูงและในสื่อสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดีย

รวมทั้งวิสัยทัศน์ทางการเมืองและศีลธรรมเกี่ยวกับชีวิตที่ดีซึ่งดลบันดาลใจโหวตเตอร์ได้

ในความหมายนี้ ระเบียบอำนาจจึงเป็นโครงการอันสลับซับซ้อนที่เรียกร้องให้ต้องเดินรุกหน้าตลอดแนวรบอันกว้างขวาง

ระเบียบอำนาจหนึ่งๆ มักปรากฏขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เร่งรัดให้เกิดวิกฤตการปกครองตามมา

คุณสมบัติหลักประการหนึ่งของระเบียบอำนาจคือความสามารถของพรรคครอบงำทางอุดมการณ์ที่จะโน้มน้าวพรรคฝ่ายค้านตรงข้ามให้ยอมตามเจตจำนงของตนได้

 

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ :

คุณสมบัติหลักประการหนึ่งของระเบียบอำนาจคือการยึดกุมอำนาจนำ (hegemony) หรือนัยหนึ่งความสามารถของพรรคครอบงำทางอุดมการณ์ที่จะโน้มน้าวพรรคฝ่ายค้านตรงข้ามให้ยอมตามเจตจำนงของตนได้นั่นเอง ตัวอย่างเช่น :

ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ แห่งพรรครีพับลิกัน (1953-1961) ยอมเดินตามแนวนโยบายนิวดีลของอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งพรรคเดโมแครต

ส่วนประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต (1993-2001) ก็เดินตามแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งพรรครีพับลิกัน

ในสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล แห่งพรรคอนุรักษนิยม ผู้แพ้เลือกตั้งแก่พรรคแรงงาน หลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1948 แต่ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกในปี 1951-1955 แต่กระนั้นก็ไม่ได้รื้อทิ้ง หรือโอนเป็นของเอกชนซึ่งบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ที่รัฐบาลพรรคแรงงานสร้างไว้

ส่วนนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ แห่งพรรคแรงงาน (1997-2007) ก็เดินตามแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ของนายกรัฐมนตรีหญิงมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ แห่งพรรคอนุรักษนิยม เป็นต้น

แน่นอนว่าไม่มีอำนาจนำใดสัมบูรณ์แบบ การยอมรับแนวนโยบายของพรรคฝ่ายตรงข้ามดังกล่าวย่อมไม่เบ็ดเสร็จสิ้นเชิง ยังคงมีจุดตึงเครียดอ่อนเปราะต่างๆ ในสังคมการเมืองขึ้นกับว่าสังคมการเมืองนั้นแตกตัวแบ่งแยกกันมากน้อยเพียงใด

 

ความสำเร็จและเสื่อมถอย :

ระเบียบอำนาจหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นกับความช่ำชองของมันในการสร้างและยึดครองอำนาจนำ

หรือนัยหนึ่งกำหนดความคิดเห็นของนักการเมืองผู้ได้รับเลือกตั้งกับโหวตเตอร์ในทั้งสองฟากข้างการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายทางการเมืองให้กลายเป็นฉันทามติ (consensus) ว่าอะไรดำรงอยู่? อะไรถูกต้อง? และอะไรเป็นไปได้?

ในทางกลับกันการสูญเสียสมรรถภาพในการยึดครองและธำรงอำนาจนำย่อมเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเสื่อมถอยของระเบียบอำนาจหนึ่งๆ

ในช่วงอำนาจนำเสื่อมถอยนั้น บรรดาความคิดและแนวนโยบายทางการเมืองต่างๆ ที่เคยถูกหาว่าราดิกัล ไม่ไทย โลกสวย หรือปัดทิ้งง่ายๆ ว่าทำไม่ได้หรอก เป็นแค่จินตนาการของกลุ่มซ้ายจัด/ขวาจัดเล็กกระจิริด ก็จะขยับเคลื่อนจากชายขอบมาสู่กระแสหลัก

ดังที่ความคิดเสรีนิยมใหม่ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกดูแคลนถากถาง, ลัทธิอำนาจนิยมแบบทรัมป์, ลัทธิสังคมนิยมแบบ เบอร์นี แซนเดอส์ ทะลุทะลวงเข้ามายึดพื้นที่การเมืองกระแสหลักและหยั่งรากได้ในการเมืองอเมริกันบางช่วง

หรือความคิดสุดโต่ง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของกำนันเทพเทือกแห่ง กปปส.เข้ายึดปิดกรุงเทพฯ ก่อนรัฐประหาร คสช. เป็นต้น

 

สรุป :

แนวคิดระเบียบอำนาจเป็นประโยชน์ในการใช้มองประวัติศาสตร์ช่วงยาว หรือที่เรียกว่า “วิวตานก” (bird’s-eye view)

มันช่วยให้เห็นกลุ่มขบวนแถวช่วงชั้นพลังอันหลากหลายทั้งชนชั้นนำ/มหาชน, เศรษฐกิจ/ศีลธรรม, สากล/ในประเทศ ที่ส่งอิทธิพลกำหนดรูปโฉมชีวิตการเมือง

มันช่วยขยายความคิดความเข้าใจของเราเกี่ยวกับช่วงเวลาทางการเมือง ให้มองเห็นช่วงที่เหยียดยาวกว่ารอบวัฏจักรการเลือกตั้งออกไป ซึ่งเป็นตัวกักขังจองจำวิสัยทัศน์ของคนส่วนใหญ่เอาไว้

มันช่วยให้เราเข้าใจพลังอำนาจของ [อุดมการณ์+วัฒนธรรม] ทางการเมืองซึ่งเมื่อมันสถาปนาขึ้นเป็น “อำนาจนำ” แล้วก็สามารถกลายเป็นกรอบกำกับจำกัดกดดันสังคมการเมืองให้อยู่ในฉันทามติได้

มันช่วยให้เราลองหัดตรวจสอบความขัดแย้งในลักษณาการใหม่ๆ ที่ดำเนินอยู่ได้แม้ในท่ามกลางฉันทามติ

มันช่วยให้เราสนใจเพ่งเล็งจังหวะสำคัญในประวัติศาสตร์เมื่อระเบียบอำนาจเดิมแตกสลายลงและระเบียบอำนาจใหม่ดิ้นรนถือกำเนิดขึ้นมา

ดังที่อาจลองประยุกต์ใช้แนวคิด “ระเบียบอำนาจ” มาพินิจพิจารณาพระราชอำนาจนำและฉันทามติภูมิพลในประวัติการเมืองไทย เป็นต้น

 

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (18) วิถีแห่งสงครามของกองทัพรัสเซีย
ตึกถล่ม รัฐล้มเหลว? (จบ)
ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (71)
มนุษย์รักพวกพ้อง (รักชาติ)
เมษา พฤษภา 2553 เจาะใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจาะใจ อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ อาวุธชีวภาพสุดสยอง (3)
ปฏิบัติการ 1,326 วัน สถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน(1) : การทูตหลังฉาก ยุครัฐบาลทหาร
‘คำชม’ (ほめ言葉) ใครๆ ก็อยากได้
ครั้งที่สองกับ Lionel Messi ลูกยิงประตู 2 ลูก สวยงามตราตรึง
ตึกไม้แห่งมาลเมอ กับรากลึกของนโยบายป่าไม้สวีเดน
รำลึกแอนโธนี รีด ผู้ก้าวข้ามพรมแดนทั้งหลายในอุษาคเนย์ศึกษา
แลนดิ้งสู่เกาะผี : การเดินทางผ่านอัลบั้มใหม่ ของวง King Gizzard