เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์ : เขตธรณีสงฆ์สมัยใหม่ ภายใต้ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (8)

19.06.2024

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ วัดวังเวิน จ.เพชรบูรณ์ คณะศิษยานุศิษย์มากมายเดินทางมากราบสักการะและประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวรให้แก่ร่างของหลวงพ่อจันทร์ กิติญาโณ ซึ่งเป็นพระเกจิร่างไม่เน่าเปื่อยเนื่องในวาระวันครบรอบ 11 ปี วันมรณภาพ โดยในขณะที่นำร่างของท่านออกมาจากโลงแก้วเพื่อประกอบพิธี ได้เกิดเรื่องฮือฮาในหมู่ญาติโยมขึ้นเพราะได้มีผู้สังเกตเห็นตัวเลขคล้ายเลข 135 ที่ใบหน้าของท่าน จนต่างบอกต่อๆ กันเพื่อนำไปเสี่ยงโชคซื้อเลขรางวัลในงวดวันที่ 1 เมษายน 2567 (อ้างถึงใน https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8156529)

ข่าวและเรื่องเล่าทำนองนี้พบเห็นได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน สอดคล้องกับธรรมเนียมใหม่ของวัดหลายแห่งซึ่งเคยมีพระเกจิชื่อดังเป็นเจ้าอาวาส ที่มักเลือกเก็บร่างของพระเกจิรูปนั้นๆ ไว้เพื่อให้ญาติโยมผู้ศรัทธาสามารถเดินทางมากราบไหว้ ขอพร และขอโชคลาภ เสมือนว่าพระเกจิรูปนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือยังคงแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏอยู่ภายในวัด ไม่ได้เป็นการมรณภาพและหายสูญไปจากวัดโดยที่ไม่เหลืออะไรทิ้งไว้เลย

นอกจากตัวอย่างข้างต้น วัดที่มีการเก็บร่างพระเกจิเอาไว้ยังมีอีกมาก เช่น วัดท่าซุง อุทัยธานี (ร่างหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ), วัดจุมพล ขอนแก่น (ร่างหลวงปู่วรพรตวิธาน), วัดตะโก อยุธยา (ร่างหลวงพ่อรวย), วัดโฆษิตาราม ชัยนาท (ร่างหลวงพ่อกวย), วัดวารีบรรพต ระนอง (ร่างหลวงพ่อด่วน), วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี (ร่างหลวงพ่ออุตตมะ), วัดตะเคียนทอง ระยอง (ร่างหลวงพ่อก๋วน) วัดอนุภาษกฤษฎาราม ภูเก็ต (ร่างหลวงพ่อบุญมา) และวัดอัมพวัน สุพรรณบุรี (ร่างหลวงตาทองใบ)

ในวัดกลุ่มนี้ การเลือกเก็บร่างเอาไว้แทบทุกกรณีมักจะมีเรื่องเล่าปรากฏคู่กันเสมอ นั่นก็คือ “ปาฏิหาริย์ร่างกายไม่เน่าเปื่อย” ภายหลังมรณภาพ ซึ่งน่าสนใจว่า เรื่องเล่าชุดนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานนัก จากการสำรวจและสังเกตโดยส่วนตัวพบว่าเกิดขึ้นเพียงราวต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

ในอดีตก่อนหน้านั้น เรื่องเล่าปาฏิหาริย์พระเกจิมักเป็นเรื่องราวในทำนองที่เมื่อมีการฌาปนกิจร่างกายของท่านแล้ว อัฐิบางส่วนได้เปลี่ยนกลายไปเป็นผลึกแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเป็นพระอริยสงฆ์ แม้ปัจจุบัน เรื่องเล่าชุดนี้ยังปรากฏอยู่และทรงพลังอยู่เช่นเดิม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ “ปาฏิหาริย์ร่างกายไม่เน่าเปื่อย” เริ่มเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สิ่งที่ผมยังคิดไม่ตกก็คือ ทำไม “ปาฏิหาริย์ร่างกายไม่เน่าเปื่อย” จึงเริ่มปรากฏมากขึ้นในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ซึ่งประเด็นนี้คงต้องรอให้ผู้สนใจท่านอื่นมาศึกษาวิเคราะห์กันต่อไป

ภาพภายในวิหารแก้ว 100 เมตร วัดท่าซุง ซึ่งเป็นที่ตั้งโลงแก้วของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
ที่มาภาพ : เพจ Matichon Online

ย้อนกลับมาที่ประเด็นของบทความ วัดในกลุ่มนี้ส่วนมากจะนิยมนำร่างพระเกจิใส่ไว้ในโลงแก้วและตั้งไว้ในวิหารหรืออาคารที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้ญาติโยมสามารถกราบไหว้และมองเห็นร่างกายที่ไม่เน่าเปื่อยได้

กรณีวัดท่าซุงคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและน่าจะถือว่าเป็นวัดต้นแบบแห่งแรกๆ ของแนวทางนี้ แม้ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าจะเป็นวัดแรกสุดหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่ใจคือ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแน่ๆ ในกลุ่มวัดที่เก็บร่างพระเกจิเอาไว้

พระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เมื่อครั้งยังมีชีวิตถือได้ว่าเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงมากในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะวิชา “มโนมยิทธิ” ตัวท่านแวดล้อมไปด้วยเรื่องเล่าปาฏิหาริย์มากมาย หลายเรื่องเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์แห่งชาติและตำนานกษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ถือว่าเป็นหนึ่งในพระเกจิที่มีบุญาบารมีสูง

เมื่อท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2535 ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อร่างกายไม่เน่าเปื่อยแม้จะไม่มีการฉีดฟอร์มาลีนเลยก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า

“…มีคนไปทำความสะอาดใบหน้า คือโกน แล้วเอาเซลล์ผิวหนังไปแจกกัน เดี๋ยวนี้ขาวเป็นแก้วแล้ว เขาเอาไปให้กันทางสุพรรณฯ…” (คอลัมน์ “จากคำบอกเล่า” ธัมมวิโมกข์ มีนาคม 2536 อ้างถึงในเพจ Watthasung.com https://www.facebook.com/photo/?fbid=1319125918263944&set=a.887217744788099)

ต่อมาลูกศิษย์ได้นำร่างท่านบรรจุในโลงแก้วฝังมุกและนำไปตั้งอยู่ภายใน “วิหารแก้ว 100 เมตร” ของวัด ซึ่งได้รับการออกแบบสวยงามอลังการ ภายในประดับด้วยกระจกแผ่นเล็กๆ ในลักษณะแบบโมเสกเต็มผนังภายในทุกด้านและเสาทุกต้น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดของคนที่เดินทางไปอุทัยธานี

เดินลอดโลงแก้วหลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล เพื่อเสริมสิริมงคล
ที่มาภาพ : เพจ Khaosod Online

วัดท่าซุง ในทัศนะผม มีความพิเศษต่างจากวัดอื่นในกลุ่มนี้ เพราะนอกจากจะมีร่างพระเกจิสำหรับสักการะในเชิงความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์แล้ว ตัวสถาปัตยกรรมยังออกแบบอย่างสอดคล้องกับแนวทาง Instgrammable temple แม้จะไม่สมบูรณ์ครบองค์ประกอบนักก็ตาม

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่วัดแห่งนี้จะกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สายมูไม่พลาดที่จะต้องเดินทางไปกราบไหว้ร่างของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ และถ่ายภาพภายในวิหารแก้ว 100 เมตรเพื่อแชร์ใน social media

ในส่วนวัดอื่นๆ มักให้ความสำคัญเฉพาะลงไปที่พิธีกรรมและปาฏิหาริย์ของร่างพระเกจิที่ไม่เน่าเปื่อย (ไม่ได้แน้นตัวสถาปัตยกรรมนัก) เช่นในกรณีวัดจุมพล ขอนแก่น ซึ่งหลวงปู่วรพรตวิธาน พระเกจิชื่อดังภาคอีสาน เคยเป็นเจ้าอาวาสมาก่อน โดยท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ.2544 และร่างกายไม่เน่าเปื่อย โดยทางวัดได้นำร่างของท่านใส่โลงแก้วตั้งอยู่ภายในมณฑป

สิ่งพิเศษคือ ในเวลาต่อมาร่างกายของท่านมีการเปลี่ยนสีจากน้ำตาลเข้มมาเป็นสีเขียวมรกต ถือเป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้ผู้คนต่างเดินทางมากราบไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก

ร่างของท่าน ณ ปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมวัด มีการเปิดให้คนทั่วไปเข้ามากราบไหว้ และมีการพากันเดินลอดใต้สังขารหลวงปู่เพื่อความเป็นสิริมงคล ถือว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัวตามความเชื่อ โดยมีผู้ดูแลสถานที่เป็นผู้นำพูดกล่าวขอขมาและลอดด้านล่างโลงของหลวงปู่สามรอบ จากนั้นจะต่อด้วยการยกหินทำนายตามคำขอ และปิดทองรูปหล่อหลวงปู่เพื่อความเป็นสิริมงคล

(อ้างถึงใน https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7570822)

 

ไม่ใช่เพียงแค่วัดนี้นะครับ ทุกวัดที่มีการเก็บร่างพระเกจิ ล้วนแล้วแต่มีการนำร่างกายของท่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ขอพร และความเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ในกลุ่มวัดที่เคยมีพระเกจิ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาได้เกิดพิธีกรรมและอาคารประเภทใหม่ขึ้นซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตามธรรมเนียมการออกแบบวัดจารีตของไทย

นั่นก็คือ อาคารประดิษฐานร่างกายที่ไม่เน่าเปื่อยของพระเกจิ อาคารหลังนี้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องไปกับความเชื่อพุทธศาสนาสมัยใหม่ในโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยลัทธิพิธีใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยแยกขาดออกจากเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์

อย่างไรก็ตาม การเก็บร่างกายพระเกจิแม้เริ่มเห็นมากขึ้น แต่ก็มิได้เป็นแนวทางเดียวที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัดที่เคยมีพระเกจิ มีวัดอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงมีการฌาปนกิจร่างกายเมื่อท่านได้มรณภาพแล้ว โดยวัดในกลุ่มนี้เลือกที่จะทำการก่อสร้างอาคารอีกประเภทหนึ่งแทนสำหรับเป็นสถานที่ในการระลึกถึงพระเกจิที่ล่วงลับไปแล้ว

หากเรียกกันอย่างทั่วไปก็อาจเรียกได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่ดังที่ได้อธิบายไปแล้วในสัปดาห์ก่อน พิพิธภัณฑ์กลุ่มนี้จะไม่ใช่พื้นที่จัดแสดงข้อมูลและความรู้ในแบบทั่วไป แต่คือพิพิธภัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการเก็บรักษาความทรงจำตลอดจนปาฏิหาริย์ทั้งหลายที่พระเกจิรูปนั้นเคยสร้างไว้ให้สามารถคงอยู่กับวัดได้ตลอดไป

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นมักเป็นการผสมกันระหว่างพื้นที่ใช้สอยแบบพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ที่ต้องเก็บรวบรวมและจัดแสดงประวัติ สิ่งของเครื่องใช้ วัตถุมงคล และเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ของพระเกจิ เข้ากับลักษณะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

ซึ่งรูปแบบที่นิยมมากที่สุดที่พบเห็นได้บ่อยก็คือการสร้าง “พิพิธภัณฑ์เจดีย์”

 

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ส่องความเห็นนักวิชาการเตือน “แพทองธาร” อย่ายุบสภา หวั่นเปิดทางรัฐประหาร – ชี้การเจรจาลับหากช่วยหลีกเลี่ยงสงคราม ชี้สังคมไทยควรตั้งสติ-อย่าตกเป็นเครื่องมือสร้างวิกฤต
กต.เชิญทูตเขมร รับหนังสือประท้วงปมกัมพูชาปล่อยคลิปเสียงนายกฯ ผ่านสื่อ – ซัด! ไร้มารยาททางการทูต – ผิดมารยาทระหว่างรัฐ – ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ 2 ประเทศ – ย้ำไม่ว่านายกฯ จะเป็นใครต้องให้เกียรติ
“ณัฐพงษ์” ชี้วิกฤตผู้นำ “แพทองธาร” ไม่อาจเป็นที่ไว้วางใจได้ต่อไป เรียกร้องนายกฯ รับผิดชอบทางการเมือง ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน
CJ MORE เปิดเส้นทางเชื่อมร้อยชุมชน หนุนคนตัวเล็ก สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน
กรมการปกครองต้อนรับ กมธ.ปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาดูงานด้านกฎหมาย
Thai-style Neoclassical Revival กับความทรงจำที่เพิ่งสร้าง บนถนนราชดำเนิน (3)
การปกครองเปลี่ยน-แฟชั่นปรับ : แฟชั่นสมัยคณะราษฎร-สงคราม (9)
มหากาพย์ ปราบ ‘คางคกอ้อย’ (2)
“ลูกแบด ภราดร” ประกาศลาออกจาก “รองประธานสภา” รักษาหลักการเสียงข้างมาก คืนอำนาจให้สภาฯเลือกใหม่
พรรคไทยสร้างไทย แถลงการณ์ จี้ นายกฯ แสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก”
ดาวกับดวง วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2568
ลุงป้อมออกแถลงการณ์ บี้นายกฯลาออกแสดงความรับผิดชอบ ย้อนตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจเคยเตือนแล้วภาวะผู้นำ ไม่ใช่เวทีมือสมัครเล่น