

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
ราชาปราชญ์
และระบอบการเมืองการปกครอง
ของเพลโต
“เพลโต” (Plato) หนึ่งในสามเสาหลักแห่งปรัชญากรีก ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “ระบอบการเมืองการปกครอง” (Political Regimes) จำนวนทั้งหมด 5 แบบ เอาไว้ในหนังสือ “Republic”
ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง “โสกราตีส” (Socrates) ผู้เป็นอาจารย์ของเพลโตกับผู้คนต่างๆ เกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” (Justice) และ “รัฐที่ดีที่สุดในอุดมคติ” (Ideal State)
เนื้อความเกี่ยวกับระบอบการปกครองปรากฏอยู่ในบทที่ 8 หลังจากที่บทก่อนหน้านี้เขาอธิบายความคิดทางการเมืองมาแล้วหลายแง่มุม แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องของ “วิญญาณ 3 ส่วนของมนุษย์” (The Tripartite Soul) อันเป็นที่รู้จักกันในนาม “ทฤษฎีเรื่องวิญญาณ” (Theory of Soul)
ซึ่งเพลโตนำแนวคิดนี้มาเชื่อมโยงไปสู่แนวคิดเรื่องรัฐที่มีโครงสร้างที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนเช่นกัน
วิญญาณของมนุษย์ตามความคิดของเพลโตคือ
(1) ภาคตัณหา (appetitive part) ในภาษากรีกคือ eros
(2) ภาคน้ำใจ (spirited part) ในภาษากรีกคือ thymos
และ (3) ภาคเหตุผล (rational part) ในภาษากรีกเรียกว่า logos
ทั้งสามส่วนนี้ต่างก็เป็นองค์ประกอบของมนุษย์เหมือนกัน แต่ต่างบทบาทหน้าที่และมีลำดับชั้นที่ต้องควบคุมกันให้อยู่ในร่องในรอย
ภาคตัณหาคือเรื่องปากท้อง กิน นอน เพศสัมพันธ์ เป็นความกระหายอยาก (desire) ความปรารถนาตามสัญชาตญาณของร่างกายซึ่งต้องการเติมเต็ม เช่น หิวก็ต้องกินอาหาร เป็นต้น
ในขณะที่ภาคน้ำใจเป็นส่วนของความกล้าหาญ ความเข้มแข็งทรหดอดทน เป็นอารมณ์อันแรงกล้าในทางดี (passion) เป็นส่วนที่เหนือกว่าภาคตัณหา แต่ด้อยกว่าภาคเหตุผลในทางตรรกะ ภูมิปัญญา และความรู้
ดังนั้น ภาคน้ำใจต้องควบคุมภาคตัณหา แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้การควบคุมของภาคเหตุผล
เหมือนคนหิวก็ต้องใช้เหตุผลพิจารณาว่าจะกินอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าสักแต่กิน
หรือนักมวยซึ่งมีทั้งฝีไม้ลายมือและจิตใจที่เข้มแข็งก็ใช่ว่าจะไปต่อยตีกับใครก็ได้ แต่ต้องใช้สมองไตร่ตรองว่าจะสู้เมื่อไหร่และสู้อย่างไร
หากวิญญาณของมนุษย์อยู่ภายใต้ระเบียบดังกล่าวนี้ชีวิตย่อมดีงามและสมดุล
เพลโตคิดว่ารัฐก็มีโครงสร้างแบบนี้เช่นกัน ประกอบไปด้วยคน 3 ชนชั้นซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากัน และมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่
(1) คนทั่วไปในสังคม เช่น คนงาน คนทำการผลิต แรงงาน ช่างฝีมือ เกษตรกร เป็นต้น คนพวกนี้มีจำนวนมาก เป็นคนส่วนใหญ่ในรัฐ
(2) พวกนักรบหรือทหาร ซึ่งมีจำนวนน้อยลงมา
และ (3) พวกผู้ปกครอง อันมีจำนวนน้อยที่สุด
ในบรรดาผู้ปกครองเหล่านี้ คนที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนมาอย่างถูกต้องเป็นเวลายาวนานจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน และเป็นสิ่งดีงามถาวรไม่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าหรือผลประโยชน์ชั่วคราว
ความรู้ในการปกครองที่ถูกต้องคือภูมิปัญญาอันเป็นทักษะพิเศษซึ่งไม่มีอยู่ในคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการศึกษา
ผู้ปกครองเช่นนี้มีความรู้ที่เพียบพร้อมทั้งปรัชญา คณิตศาสตร์ การใช้เหตุผล ความแข็งแรงของร่างกาย และสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับการปกครอง
ผู้ปกครองที่แท้จริงต้องสามารถแยกแยะระหว่าง “ความคิดเห็น” (opinion) กับ “ความรู้” (knowledge) ได้
โดยเพลโตยก “อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ” (Allegory of the Cave) ขึ้นมาในบทที่ 7 เพื่อแสดงว่า “ความเป็นจริง” (reality) ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับ”สิ่งที่ปรากฏ” (appearance)
เหมือนนักโทษในถ้ำที่เห็นเพียงแต่เงามาทั้งชีวิต ย่อมไม่รู้ว่าความจริงแล้วเงาเป็นเพียงของปลอมที่เลียนแบบมาจากของจริงต้นตอ
ผู้ปกครองที่ดีจึงต้องสามารถเข้าถึงความจริงแท้ได้ ไม่ใช่หลงติดอยู่เพียงแค่เงา แล้วทึกทักไปเองว่าเงาคือความจริง
(ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความชื่อ “อุปมาเรื่องถ้ำของเพลโต” ทางลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_787203 )
เพลโตเรียกผู้ปกครองเช่นนี้ว่า “ราชาปราชญ์” (Philosopher-King) เป็นผู้ปกครองที่เหมาะสมและดีที่สุดในอุดมคติ
แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองที่ดีที่สุดในทัศนะของเพลโต นั่นคือ “อภิชนาธิปไตย” (Aristocracy) ซึ่งเป็นการปกครองของคนกลุ่มน้อยที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเหนือกว่าคนส่วนใหญ่ และมีเฉพาะบางคนเท่านั้นที่มีคุณสมบัติ
เมื่อราชาปราชญ์เป็นคนใดคนหนึ่งในกลุ่มของผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเหมาะสม อีกทั้งยังใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก ไม่ใช่โดยการส่งต่อสืบทอดทายาท ดังนั้น จึงเป็นระบอบอภิชนาธิปไตย ไม่ใช่ราชาธิปไตย
เพลโตคิดว่าอภิชนาธิปไตยสามารถเสื่อมถอยไปสู่ระบอบอื่นได้ โดยเปลี่ยนไปสู่ “วีรชนาธิปไตย” (Timocracy) อันเป็นการปกครองของพวกนักรบหรือทหาร ซึ่งเขาคิดว่าเป็นระบอบที่ดีรองลงมา
การถดถอยนี้เป็นไปตามที่แนวคิดเรื่องวิญญาณสามส่วนที่ภาคเหตุผลอยู่บนสุด
เมื่อเทียบกับรัฐแล้วราชาปราชญ์ก็คือภาคเหตุผลเป็นผู้ปกครองซึ่งคอยควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่ถูกต้อง และทำให้ร่างกายสมดุลดำเนินไปในทิศทางที่ดี
พอขยับลงมาจากภาคเหตุผลแล้วจึงเป็นภาคน้ำใจซึ่งเมื่อเทียบกับรัฐแล้วก็คือกองทัพ เป็นระบอบที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเกียรติยศและความกล้าหาญ มีความเข้มแข็งแต่ก็ไม่ได้มีเหตุผลที่ดีที่สุด
ต่อมาเมื่อพวกนักรบถอยห่างจากเกียรติมาสู่ความเพลิดเพลินทางกาย เริ่มสะสมทรัพย์สินเงินทอง และติดใจรสชาติของความมั่งคั่ง ระบอบวีรชนาธิปไตยจะเสื่อมลงและขยับถอยลงมาสู่ระบอบ “คณาธิปไตย” (Oligarchy) ที่อำนาจปกครองตกอยู่ในมือของกลุ่มคนรวย สนใจแต่ความมั่งมี เต็มไปด้วยความโลภ และกระหายอำนาจเพื่อกอบโกยผลประโยชน์
ดังนั้น จึงเป็นระบอบที่แย่ เมื่อเกิดสภาพการณ์เช่นนี้นานเข้า ท้ายที่สุดก็อยู่ไม่ได้ เกิดการแย่งชิงอำนาจมาอยู่ในมือคนจนซึ่งมีจำนวนมากกว่า และเสื่อมถอยไปสู่ระบอบคนจนเป็นใหญ่ และทำอะไรตามใจโดยไร้ขอบเขต
ซึ่งเพลโตเรียกว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy)
อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบที่ดีและผู้คนเทิดทูนอย่างมากในปัจจุบัน กลับมีความหมายที่ติดลบอย่างยิ่งตามนิยามของเพลโต
เขามองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เรียกร้องต้องการความเท่าเทียมให้กับสิ่งที่ไม่เท่าเทียม
เช่น คนจนได้อำนาจเท่ากับคนรวย ปฏิบัติต่อสิ่งที่ไม่เหมือนกันให้เหมือนกัน เช่น พ่อทำตัวเหมือนลูก ครูเท่ากับศิษย์ และให้เสรีภาพกับสิ่งที่ไม่ควรมี แม้กระทั่งสัตว์ก็ยังได้รับการปฏิบัติเท่ากับคน
นอกจากนี้ยังเห็นว่าคนทั่วไปไม่ได้มีความรู้ความสามารถและสติปัญญาที่ควรเป็นผู้ปกครองแต่ก็ยังได้อำนาจมาปกครอง
เขายกอุปมาเปรียบเทียบขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งในบทก่อนหน้านี้คือ “อุปมาเรื่องรัฐนาวา” ซึ่งอยู่ในบทที่ 6 เพื่อโจมตีระบอบประชาธิปไตยที่เขาจงเกลียดจงชัง และสนับสนุนระบอบอภิชนาธิปไตยภายใต้การปกครองของราชาปราชญ์
(ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “อุปมาเรื่องรัฐนาวาของเพลโต” ทางลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_739649)
ประชาธิปไตยจะทำให้สังคมเสื่อมทรามเละเทะ เกิดวิกฤตและความขัดแย้งขึ้น เปิดโอกาสให้พวก “ผึ้งตัวผู้” หรือ “กาฝาก” (drones) ฉกฉวยโอกาสในการเข้ามาคลี่คลายวิกฤต และสวมบทเป็นฮีโร่คืนความสงบสุขให้กับสังคม โดยเข้ามาประสานประโยชน์ ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
แต่ท้ายที่สุดก็เสพติดอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว ซ้ำยังหวาดระแวงผู้คน จนทำให้ต้องกำจัดศัตรูทางการเมืองไปเรื่อยๆ
คนมีความสามารถที่ท้วงติงจะถูกขจัดให้พ้นทาง รัฐจึงสูญเสียสิ่งที่ดีที่สุดแทนที่จะรักษาเอาไว้
เพลโตเรียกระบอบนี้ว่า “ทรราชย์” (Tyranny) ซึ่งหาความดีไม่ได้เลย เป็นระบอบที่แย่ที่สุด และเป็นจุดตกต่ำที่สุดของสังคม
เพลโตเป็นนักปราชญ์ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยและสนับสนุนอำนาจของชนชั้นนำ
ปัจจุบันนี้ความคิดทางการเมืองของเขาแทบไม่ได้รับการยอมรับ
ซ้ำยังถูกรังเกียจว่านำไปสู่สิ่งที่ชั่วร้ายยิ่งกว่า คือการเป็น “เผด็จการอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ” (Totalitarianism) ของพวกอภิสิทธิ์ชน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาความคิดของเขาไว้ก็ไม่สูญเปล่า ซ้ำยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักคิดสายประชาธิปไตยสำหรับทบทวนข้อบกพร่องของทฤษฎี ตลอดจนอุดช่องว่าง และหาทางปรับปรุงพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ในอนาคต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


