

ปัญหา ‘ท้องถิ่น’
ในการเลือกตั้ง ‘ท้องถิ่น’
“การเลือกตั้งท้องถิ่น” ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ หรือการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งไม่ได้เป็นการเลือกผู้นำรัฐบาล-ผู้นำประเทศทางอ้อมด้วย
แม้ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาเราอ่าน-ดูข่าวว่าด้วยการเลือกตั้ง อบจ. เรามักพบเห็นหน้าตาหรือชื่อเสียงเรียงนามของคนอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” “อนุทิน ชาญวีรกูล” กระทั่ง “เนวิน ชิดชอบ” อยู่บ่อยๆ ก็ตาม
ขณะเดียวกัน เวลาคอการเมืองที่กรุงเทพฯ ท้าพนันกันสนุกๆ ว่าสีไหนจะชนะศึกเลือกตั้งนายก อบจ. กี่สนาม หรือสีไหนจะแพ้รวด
เราก็แทบจะวางเดิมพันกันโดยไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตน หน้าตา ภูมิหลัง ของผู้สมัครนายก อบจ. แต่ละราย ของแต่ละจังหวัด เลยด้วยซ้ำ
เราได้ตีขลุมไปแล้วเรียบร้อย (แม้อาจเป็นความจริงอยู่บ้างบางส่วน) ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการประลองกำลังทางการเมืองระดับชาติ ซึ่งจะบ่งชี้ผลเลือกตั้งใหญ่ในอนาคตได้บ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงสามารถวัดอำนาจ-บารมีของผู้นำบางคน พรรคการเมืองพรรค เครือข่ายการเมืองบางกลุ่ม ณ สภาวะปัจจุบันได้
เรื่องแปลกประหลาด ก็คือ พอนานวันเข้า เราก็ค่อยๆ ลืมเลือน “ข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐาน” ไปว่า การเลือกตั้ง อบจ. (ทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.) นั้นคือ “การเมืองในระดับท้องถิ่น”
นั่นหมายความว่า กระบวนการทั้งหมดของการเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่การสรรหาผู้สมัคร การหาเสียงหรือวิธีการให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงประเภทอื่นๆ พฤติกรรมการลงคะแนนของประชาชน ไปจนถึงผลการเลือกตั้ง ล้วนยึดโยงอยู่กับ “ปัญหาของท้องถิ่น”
เรื่องใหญ่เรื่องนี้นี่แหละ ที่ไม่ค่อยได้รับการนำเสนอโดย “ส่วนสื่อกลาง” ในกรุงเทพฯ ซึ่งชอบคาดการณ์กันแต่เพียงว่า ใครมีโอกาสชนะในสนามไหน โดยพิจารณาจากเครดิตเดิมๆ ของผู้สมัครแต่ละคน หรือไม่ก็ใครคือพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ผู้นำทางการเมืองระดับชาติ ที่คอยหนุนหลังผู้สมัครเหล่านั้นอยู่
แต่สื่อส่วนกลางก็ไม่ค่อยลงลึกไปถึงข้อมูลในส่วนที่ว่า แต่ละจังหวัดมีปัญหาใหญ่ๆ อะไร (ที่อยู่ในขอบเขตการบริหารจัดการขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น)? บรรดาผู้สมัครมีนโยบายหรือแนวทางการทำงานที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไร? ปัญหานั้นๆ ส่งผลมาถึงพฤติกรรมการลงคะแนนของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ แค่ไหน?
พูดอีกแบบได้ว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดี สภาพเศรษฐกิจฐานรากก็ดี และคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ก็ดี ส่งผลอย่างไรต่อการไปหรือไม่ไปเลือกตั้งของคนท้องถิ่น? และส่งผลอย่างไรต่อการกากบาทเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของพวกเขา?
แน่นอน มิติที่ซุกซ่อนใต้พรมเหล่านี้ จะปรากฏโฉมออกมาผ่านผลการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครพยายามอ่านหรือไม่? และอ่านออก-วิเคราะห์แตกแค่ไหน?
สำนักข่าวใหญ่ๆ ที่กรุงเทพฯ ก็คงต้องทำการบ้านข้อนี้อย่างหนักเช่นกัน โดยไม่ต้องแคร์กับข้อหา “เก่งหลังสถานการณ์” ให้มากนัก
เพราะอย่างน้อย เราก็ยังได้ลงมือทำงาน ในสิ่งที่ควรทำ แต่อาจไม่ได้ทำกันมากพอมาตั้งแต่ต้น •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024?fbclid=IwAR22RbstgOdFjK3Kl_MAt_MusBlq5oxijEcCbx_-0y6zmJhXvZl3Q_2G-cE
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


