

เร็วๆ นี้ สำนักพิมพ์มติชนเพิ่งวางจำหน่ายหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการโซเมีย, ไท-ไต ใน ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์'” ซึ่งถือเป็นผลงานรวมข้อเขียนเล่มล่าสุดของ “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ผู้ล่วงลับ บรรณาธิการโดย “สุจิตต์ วงษ์เทศ”
แม้ในหนังสือเล่มดังกล่าว อาจารย์นิธิจะนำเอาแนวคิดเรื่อง “โซเมีย” ซึ่งหมายถึงบริเวณพื้นที่สูงอันกว้างใหญ่ไพศาล จากทิวเขาหิมาลัย, ทิเบต, บางส่วนในจีนและอินเดีย, พื้นที่มหาศาลในพม่า, ภาคตะวันตกและภาคเหนือตอนบนของไทย รวมถึงอีสาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา, ลาวทั้งประเทศ มาจนถึงเวียดนามเกือบทั้งประเทศ
มาสนทนา-รื้อสร้าง “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” และ “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยชนชาติไท(ย)” เสียใหม่
ทว่า ในสายตาของเพื่อนมิตรนักวิชาการหลายคน หนังสือที่เพิ่งออกเผยแพร่ของอาจารย์นิธิ ยังซุกซ่อนประเด็นร่วมสมัยอันน่าสนใจเอาไว้ด้วย
ดังที่รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งจัดวงเสวนาโต๊ะกลมว่าด้วยหนังสือเล่มนี้ไป และมีเนื้อหาบางส่วนที่น่านำไปขบคิดต่อ อาทิ
“ถ้าดูในแผนที่ของหน้าปกหนังสือ ค่อนข้างจะชัดเจนว่าพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าเป็นโซเมีย มันก็คือพื้นที่ที่มีการสู้รบอยู่ในเวลานี้ มันชี้ให้เห็นว่า สำนึกของความแตกต่างระหว่างคนที่ในเมียนมาเขาเรียกว่า ‘คนพื้นราบ’ กับ ‘คนในที่ราบสูง’ หรือ ‘คนในเขตภูเขา’ มันมีมาเป็นพันๆ ปีแล้ว
“แต่ในปัจจุบัน ด้วยกระบวนการสร้างรัฐ-สร้างชาติของเมียนมา มันทำให้สำนึกในทางประวัติศาสตร์ สำนึกของอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ราบสูงหรือพื้นที่ภูเขา มีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนกับคนในที่ราบ ถ้ายึดตามภาษายึดตามเชื้อชาติ ก็มีความแตกต่างกัน
“ในขณะที่พื้นที่ที่เป็นโซเมีย รัฐฉาน รัฐคะเรนนี บางส่วนของรัฐมอญ คะฉิ่น ฉิ่น (ชิน) หรืออาระกันบางส่วน ถ้าเราดูแผนที่ พอเห็นปุ๊บ เราสามารถเชื่อมโยงได้ทันทีว่า นี่มันเป็นพื้นที่การสู้รบ
“ถ้าเราพูดถึงสถานการณ์ในเมียนมาในปัจจุบัน ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าพื้นที่รอบนอกตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ก็พยายามที่จะสู้รบ แล้วก็มีเซนส์ของการต่อต้านรัฐในส่วนกลาง ที่มาจากรัฐเมียนมา ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโซเมีย”
(ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

หนังสือ “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการโซเมีย, ไท-ไต ใน ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์'”
“คําหนึ่งที่เราจะได้ยิน ถ้าเรากลับไปอ่านพวกงานประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการก่อตัวของรัฐชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันจะมีอยู่คำหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมชอบใช้ เพื่อที่จะอธิบายในเชิงวิพากษ์พวกเจ้าอาณานิคม ก็คือ คำว่า ‘แบ่งแยกและปกครอง’ divide and rule
“แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคอาณานิคม เขาทำอย่างนั้น ผมคิดว่าเขาทำจากความเข้าใจจริงๆ ว่ามันแตกต่างกันจริงๆ แล้วมันอยู่ด้วยกันยาก
“แต่โจทย์ของพวกชาตินิยมอยากจะทำอะไร? ก็คือ ลำพังคนพื้นราบ ถ้าดูแผนที่โซเมีย พวกชาตินิยมสู้มาจากที่ราบแคบๆ ต่อให้ชาตินิยมสยามก็เถอะ หรือในพม่า ในเวียดนาม ไม่ว่าคุณจะเป็นชาตินิยมชนชั้นนำหรือชาตินิยมแบบประชาชน
“ความที่จะสร้างรัฐขึ้นมา คุณจะต้องสร้างจินตนาการของความเป็นรัฐแบบใหม่ ที่คุณจะต้องขีดเส้นทับลงไปบนพื้นที่โซเมีย แล้วพื้นที่โซเมียก็จึงเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งในรัฐสมัยใหม่ตลอดมา ตั้งแต่เกิดรัฐสมัยใหม่ ตรงนี้คือปัญหา”
(รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
“เวลาเราพูดถึงโซเมียในหนังสือเล่มนี้ โซเมียเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เส้นทางสายไหม’ แล้วตอนนี้จีนเขาพยายามโปร One Belt One Road อะไรต่างๆ ชัดเจนเลยครับ
“เพราะฉะนั้น ในแง่ของความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น โซเมียมีความสำคัญ มีการศึกษาเยอะมากในชายแดนระหว่างเนปาลกับจีน คือจีนสร้างถนนมาแล้ว One Belt One Road แล้วก็เปลี่ยนแปลงชีวิตคนในท้องถิ่น
“มีบทความศึกษาพวกคนในเนปาลว่าเอาของมาขายให้คนงานจีนที่มาสร้างถนน หรือมีความสัมพันธ์อะไรต่างๆ กับคนจีน เมื่อก่อนไม่เคยมีเลย ไม่เคยมา เดี๋ยวนี้ เข้ามามากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น
“ผมคิดว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น คุณชอบจีน-ไม่ชอบจีน เรื่องหนึ่ง แต่คุณต้องเห็นว่าอิทธิพลจีนมาแน่นอน เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ โซเมีย นักวิชาการก็ทำไป แต่มันเป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น มันไกลจากประเทศไทยก็จริง แต่ถ้า (เส้นทาง) เส้นนี้เสร็จเมื่อไหร่ ผมคิดว่าผ่านภาคเหนือของพม่า รัฐฉาน แน่นอน แล้วรัฐฉานมาภาคเหนือของประเทศไทยนี่ไม่นานหรอกครับ
“ความเป็นจริงมันเกิดขึ้นแล้วครับ โซเมียมันไม่ใช่แค่ปัญหาของนักวิชาการ มันคือปัญหาที่เป็นจริง เกิดขึ้นแน่นอน”
(ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ นักมานุษยวิทยา) •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


