เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

‘ภาพยนตร์’ กับ ‘ระบอบเผด็จการ’

11.05.2025

“เปโดร อัลโมโดวาร์” คือ “เจ้าป้านักทำหนัง” วัย 75 ปี จากประเทศสเปน ผู้มีผลงานโด่งดังในระดับนานาชาติหลายเรื่อง

อาทิ “All About My Mother” ที่ได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 1999 “Talk to Her” ซึ่งได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ปี 2002 และ “The Room Next Door” ที่ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) จากเทศกาลหนังเวนิสปี 2024

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อัลโมโดวาร์เพิ่งมีบทสัมภาษณ์ชิ้นใหม่ตีพิมพ์ลงในจดหมายข่าวของเว็บไซต์ “เดอะ ฟิล์ม คอมเมนต์”

โดยผู้สัมภาษณ์คือ “ไมเคิล คอเรสกี” ได้ชวนผู้กำกับฯ อาวุโสย้อนรำลึกไปถึงห้วงเวลาที่ประเทศสเปนตกอยู่ในระบอบเผด็จการภายใต้การปกครองของ “จอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก” ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

 

คอเรสกี : ชีวิตการทำงานของคุณตกอยู่ภายใต้เงาทะมึนที่ทอดยาวหรืออิทธิพลตกค้างของยุคเผด็จการ “ฟรังโก้” เสมอมา เพราะคุณเริ่มต้นทำหนังยาวเรื่องแรกหลังจากที่ประเทศสเปนเพิ่งเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย

ตอนนี้ สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ระบอบอำนาจนิยมกำลังเรืองอำนาจ คุณคิดว่าศิลปะจะสามารถเบ่งบานหรือสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนในห้วงเวลาแห่งการกดขี่อันแสนสาหัสเช่นนี้ได้หรือไม่?

อัลโมโดวาร์ : ภาพยนตร์ของผมไม่มีทางจะถูกสร้างขึ้นได้เลย แม้แต่ในช่วงเวลาห้าปีสุดท้ายในชีวิตของ “ฟรังโก้” ดังนั้น หนังของผมจึงพูดถึงการเปลี่ยนผ่านนี้ และแม้ว่าผลงานเหล่านั้นจะไม่ได้ดีเลิศสมบูรณ์แบบ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีทางของการพยายามฟื้นคืนเสรีภาพ ในยุคสมัยที่ประชาธิปไตยเริ่มหวนกลับมา

ณ ห้วงเวลาที่ซับซ้อนและยากลำบากแบบนั้น สิ่งที่เราควรทำเป็นลำดับแรก ก็คือ การพยายามพูดถึงมัน

คุณเป็นผู้สื่อข่าว ส่วนผมเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เวลานี้ พวกเรากำลังพูดคุยกันว่าด้วยความจริงเรื่อง “(โดนัลด์) ทรัมป์” และความเดือดร้อนที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของเขา ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่สหรัฐ แต่ยังรวมถึงทุกๆ ประเทศด้วย

ดังนั้น จึงต้องมีใครบางคนที่ออกมาพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ไม่ว่าจะผ่านภาพยนตร์หรือรายงานข่าว เพื่อบอกกล่าวกับเขา (ทรัมป์) ว่า เขาไม่ได้เป็นผู้รักษาความสงบที่ยิ่งใหญ่ดังที่เขาคิดว่าตัวเองเป็น แต่ในความเป็นจริง เขามีแนวโน้มจะถูกประวัติศาสตร์ตัดสินให้เป็นหนึ่งในผู้ก่อความหายนะใหญ่หลวงที่สุดในรอบศตวรรษ

ด้วยเหตุนี้ ใครที่สามารถพูดเตือนเรื่องนี้ได้ จึงควรจะต้องพูดถึงมัน

ผมสามารถพูดเรื่องนี้ได้โดยอิสระเพราะผมมาจากประเทศสเปน ชีวิตผมไม่ได้พึ่งพาฮอลลีวู้ด พวกคุณต้องการอิสรภาพในการสื่อสาร เพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องนี้ออกมา เพราะทุกครั้งที่คุณตื่นขึ้นมาอ่านข่าวร้ายๆ ในตอนเช้า คุณก็ย่อมตระหนักได้ทันทีว่า ทรัมป์ได้ทำอะไรไว้กับโลกใบนี้บ้าง

ภาพประกอบ – By Harald Krichel – Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=152353434

ผมคิดออกแค่ว่า ถ้าตัวเองเป็น “(สแตนลีย์) คูบริก” (ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ ที่มีผลงานสำคัญๆ อาทิ 2001 : A Space Odyssey, A Clockwork Orange, The Shining และ Full Metal Jacket) ผมอาจจะทำหนังว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับ “(วลาดิมีร์) ปูติน” เป็นต้น

น่าเสียดายที่ผมไม่ใช่คูบริก แล้วผมก็ไม่ได้มีความเก่งกาจในการทำหนังการเมืองแบบนั้น แต่ควรมีใครสักคนที่ทำหนังแนวนี้

แน่นอน คุณรู้ว่าผมมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงที่ได้รับรางวัล “แชปลิน อวอร์ด” (รางวัลเกียรติยศซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยทายาทของ “ชาร์ลี แชปลิน” ที่มอบให้แก่คนทำหนัง-นักแสดง ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ขับเน้นคุณค่าของสภาวะสัจนิยม, ความหลากหลาย และความกล้าหาญ)

ถ้าผมเป็น “แชปลิน” ผมก็คงต้องทำหนังเรื่อง “The Great Dictator” (1940) เหมือนกัน

เพราะในมุมมองของผม สิ่งที่เป็นแก่นสารสำคัญก็คือการได้พูดออกมาอย่างชัดเจนและเป็นอิสระ โดยไม่ปล่อยให้ความกลัวเข้ามาเซ็นเซอร์ควบคุมความคิดของคุณ

ผมบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต เหมือนที่ผมมองเห็นมัน ผมคิดว่าคนเป็นผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องมีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาอย่างถึงที่สุด เพราะนี่คือ “หนี้” ที่พวกเราติดค้างสาธารณชนอยู่

 

คอเรสกี : เพราะผลงานของคุณถูกสร้างสรรค์ขึ้นหลัง “ยุคฟรังโก้” แล้วหนังสเปนหลายเรื่องที่พวกเราคนอเมริกันรู้จักและเคยดู ก็เกิดขึ้นหลังยุคสมัยดังกล่าวเหมือนกัน ผมจึงเข้าใจว่า คนดูหนังชาวอเมริกันไม่ค่อยได้รับรู้เกี่ยวกับบรรยากาศของสังคมสเปนในยุคที่ถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการมากนัก

แต่ “ฟรังโก้” เรืองอำนาจในช่วงเวลาที่คุณเป็นวัยรุ่นจนถึงตอนอายุยี่สิบต้นๆ จึงอยากทราบว่าคุณจดจำบรรยากาศอะไรในยุคสมัยโน้นได้บ้างไหม?

อัลโมโดวาร์ : ผมไม่เคยมีปัญหากับพวกตำรวจ ซึ่งถูกพวกเราเรียกขานว่า “ไอ้พวกชุดเทา” ตามสีเครื่องแบบของพวกเขา

ในทศวรรษ 1690 ซึ่งผมยังเป็นวัยรุ่นและ “ฟรังโก้” ยังคงมีอำนาจ แม้ว่าการกดขี่จะเกิดขึ้นทั่วไป ทว่า การต่อต้านแข็งขืนต่างๆ ก็รั่วไหลออกมาผ่านทางรอยปริร้าวเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถพบเห็นได้ในประเทศอื่นๆ เช่นกัน

ดังนั้น พวกเราจึงได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตใหม่ๆ ซึ่งผู้คนได้ทดลองทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องเพศ วัฒนธรรมเรื่องเพศกำลังเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่เปิดเผยยิ่งขึ้น

ที่สเปน ทุกสิ่งยังต้องเกิดขึ้นในลักษณะหลบๆ ซ่อนๆ ตอนนั้น ผมได้ถ่ายหนัง 8 ม.ม. ที่มีชื่อเรื่องว่า “The Fall of Sodom” (1975) (ความล่มสลายของการเสพสังวาสทางเวจมรรค) โดยเราต้องเดินทางไปถ่ายหนังในพื้นที่ชนบทห่างไกลกันแบบมิดชิด ไม่ให้ใครอื่นสังเกตเห็น กระทั่งตำรวจก็ไม่รู้เรื่องของพวกเรา

ในช่วงนั้นเช่นกัน ที่ผมได้ลองเล่นกับความลื่นไหลทางเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่มีความหลากหลาย

ในยุคโน้น ผมต้องไปทำงานที่บริษัทโทรศัพท์ในทุกๆ เช้า แล้วมีเวลาว่างเขียนบทหนังตอนบ่ายๆ พอตกค่ำ ผมก็ไปทำงานอีกกะที่บริษัทอิสระแห่งหนึ่ง ซึ่งมีจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการอย่างเผ็ดร้อน นั่นคือช่วงเวลาเดียวที่ผมได้ต่อต้านท้าทายระบบเซ็นเซอร์

มีเรื่องหนึ่งในยุคปลาย 60 ถึงต้น 70 ที่เราสามารถนำมาบอกเล่าได้ นั่นก็คือการบังเกิดขึ้นของ “บรรยากาศเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งผู้คนกำลังตระเตรียมตัวเอง

ดังเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมาว่า ครัวเรือนจำนวนมากในสเปนได้ซื้อแชมเปญเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า โดยแช่มันเป็นอย่างดีในน้ำแข็ง แล้วรอคอยที่จะเปิดแชมเปญขวดนั้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันที่ผู้นำเผด็จการวายชนม์ลง •

 

ข้อมูลจาก https://www.filmcomment.com/blog/interview-pedro-almodovar-2025/

 

| คนมองหนัง



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568