
‘ภาษา’ (ที่คนทั่วไปฟังไม่รู้เรื่อง) กับ ‘การเมือง’ | ปราปต์ บุนปาน

การก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม ไปสู่โลกอันไม่คุ้นเคย ไปสู่ภาษาใหม่ๆ ที่เราฟังไม่รู้เรื่อง นั้นสื่อถึงนัยยะความหมายอะไรได้บ้าง?
ด้านหนึ่ง นี่ย่อมหมายถึงการได้ออกเดินทางไปทำความรู้จักโลกกว้าง เพื่อตระหนักว่าโลกใบนี้ยังมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีกเยอะแยะ หรือตระหนักว่าความรู้และประสบการณ์ของเรานั้นคับแคบเพียงใด
หลายปีก่อน “บงจุนโฮ” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งพาหนังเรื่อง “Parasite” คว้ารางวัลออสการ์ 4 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม เคยออกมากระตุ้นเตือนคนดูหนังในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสื่อสาร และไม่นิยมดูหนังภาษาต่างประเทศไปพร้อมๆ กับการอ่านซับไตเติ้ล ให้ลองก้าวข้ามกำแพงดังกล่าว
เพราะหากก้าวข้ามพรมแดนภาษาได้ เราก็จะมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ดีๆ อีกมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหมายถึงการได้เรียนรู้วัฒนธรรม-วิถีชีวิต อันแตกต่างหลากหลายไปจากความคุ้นชินเดิมๆ ที่จำกัดจำเขี่ยของตน
กล่าวได้ว่า เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์หรือแง่มุมบวกๆ จากการทดลองก้าวข้ามพรมแดนทางภาษา
แต่อีกด้านหนึ่ง มนุษย์บางคนก็อาจเลือกใช้ภาษาที่สมาชิกร่วมสังคมส่วนใหญ่ฟังไม่เข้าใจ ฟังไม่ออก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาบางอย่าง
ดังที่เราทราบว่า สังคมมนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นมาและขยับขยายขอบเขตออกไปได้ ผ่านการมี “ภาษากลาง” หรือ “ภาษาการค้า/ภาษาตลาด” ซึ่งชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปสามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจได้ง่ายอย่างทั่วถึงกัน
กระทั่งภาษาดังกล่าวกลายสถานภาพเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ผู้คนนำมาใช้พูดคุยติดต่อกันในวิถีชีวิตประจำวัน ก่อเกิดสายสัมพันธ์ที่โยงใยถึงกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การก่อตัวขึ้นของโลกทางเศรษฐกิจ โลกทางการเมือง มีการสร้างบ้านแปงเมือง สร้างอาณาจักร สร้างประเทศ สร้างรัฐชาติตามมา
ด้วยเหตุนี้ ในสังคมการเมืองยุคปัจจุบัน ถ้าใครเป็น “นักการเมืองของประชาชน” เป็น “นักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน” หรือเป็น “นักการเมืองที่ต้องรับผิดรับชอบต่อประชาชน” พวกเขาก็พึงต้องสื่อสารพูดจาด้วยภาษาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นๆ ฟังออกและเข้าใจได้ตรงกัน
ยิ่งเป็น “นักการเมืองที่มีชนักปักหลัง” ยิ่งต้องหมั่นสื่อสารทำความเข้าใจกับสาธารณชนอย่างกระจ่างแจ้ง มิใช่จงใจใช้ “ภาษาต่างประเทศ” (ไม่ใช่ภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ) เพื่อหลบเลี่ยงการตอบคำถามกับสื่อมวลชน สร้างความสับสนให้ประชาชนเจ้าของประเทศ หรือแกล้งชาวบ้านให้งุนงงเล่น
นักการเมืองที่เลือกใช้ “แท็กติกทางภาษา” ข้างต้น จึงถือเป็นนักการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้มีสถานะเป็นตัวแทนของประชาชน และไม่น่าจะรับผิดรับชอบต่อประชาชนได้จริงๆ
เป็นนักการเมืองที่ไม่น่าเคารพและไม่มีคุณค่าในตัวเอง
ยิ่งกว่านั้น การเลือกสื่อสารหรือประกอบพิธีกรรมบางประเภทด้วยภาษาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ใช้กัน ยังอาจหมายถึงการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือแสดงสถานะว่าตนเองมีความสูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ เหนือกว่าผู้คนธรรมดาทั่วๆ ไป
ผ่านการเอื้อนเอ่ย “ภาษาศักดิ์สิทธิ์” ที่คนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองนั้นๆ ฟังไม่เข้าใจ
นี่ย่อมทำให้ผู้พูดจาด้วย “ภาษาพิเศษ” แลดู “สูงศักดิ์” กว่าสามัญชนผู้ใช้ภาษาบ้านๆ ตลาดๆ จำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน “ผู้สูงศักดิ์” ดังกล่าว ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน (ดังได้กล่าวไปแล้ว)
ถ้านักการเมืองบางคนทำตัวสูงศักดิ์ พูดจาเพี้ยนๆ ด้วยภาษาแปลกๆ อยู่แค่คนเดียว (กับเงาตัวเองในกระจก) ตามลำพัง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจสักเท่าใดนัก
แต่สถานการณ์จะน่ากังวลทันที หากนักการเมืองคนนั้นมีเครือข่ายผู้ทรงอำนาจหลายคนคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพราะนั่นหมายความว่า ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็จะพลอยหลุดลอยออกจากประชาชนตามไปด้วย
นักการเมืองที่แปลกแยกจากประชาชน ย่อมไม่ใช่นักการเมืองที่ดี และยากที่จะรักษาอำนาจอันสูงล้นของพวกตนเอาไว้ได้อย่างยั่งยืนตลอดรอดฝั่ง •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


