เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

เทคโนโลยีสอนนกให้บินบนฟ้า สอนปลาให้ว่ายน้ำ/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

18.11.2021

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เทคโนโลยีสอนนกให้บินบนฟ้า

สอนปลาให้ว่ายน้ำ

 

วันนั้น เป็นเวลาเย็นย่ำค่ำ สายลมโชยพัดหวีดหวิว หิมะปลิวร่วงหล่นเคลือบถนนจนเป็นสีขาวโพลน สะอาดตา อีกไม่ช้า รถเกลี่ยหิมะคงจะมากวาดหิมะสีขาวปุกปุยไปกองรวมกันอยู่ข้างถนน พร้อมกับโปรยเกลือผสมกรวดทรายไปทั่ว จนดูเลอะเปรอะไปทั้งเมือง

ชายหนุ่มร่างผอมบาง (ผมเอง ตอนนั้นยังผอมอยู่) กำลังเดินกลับบ้านหลังจากเลิกงาน เขาสวมแจ๊กเก็ตขนเป็ดหนาเตอะ ที่แม้จะดูอ้วนปุกปุย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะระงับความเหน็บหนาวของอากาศได้ มือของเขาสั่นเทาด้วยความหนาว ไอน้ำก่อตัวขึ้นเป็นฝ้าบนแว่นตาเล็กๆ ทุกครั้งที่เขาพ่นหายใจออกมา

เขาแวะพักที่ร้านเช่าดีวีดี (ตอนนั้นยังไม่มีเน็ตฟลิกซ์) เพื่อให้คลายหนาว และกะว่าจะหาอะไรกลับไปดูเพื่อคลายเครียดตอนถึงบ้าน เดวิด เด็กเฝ้าหน้าร้านดีวีดี ทักทาย “เฮย์ เป็นไงบ้าง ข้างนอกหนาวมั้ย”

ชายหนุ่มมองหน้าเดวิดด้วยความเอือมระอา สภาพเขาตอนนี้ ยังกะลงไปนอนกลิ้งคลุกน้ำแข็งไสมา ดันถามมาได้ว่าหนาวมั้ย!

“มีเรื่องอะไรเข้าใหม่บ้าง” เขาถามเสียงเหนื่อย พร้อมทั้งถูมือที่เพิ่งถอดออกจากถุงมือไปมาเพื่อให้อบอุ่น

“ยูชอบถ่ายรูปนี่ ต้องเรื่องนี้เลย Winged Migration เป็นสารคดีเกี่ยวกับนกอพยพ ยูได้ดูหรือยัง” เดวิดตอบกระตือรือร้นน้ำเสียงอยากบริการเต็มที่

หนาวจนสมองไม่พร้อมจะคิดอะไร ชายหนุ่มตอบน้ำเสียงราบเรียบ พร้อมยื่นบัตรสมาชิกให้ “ยัง ยูแนะนำใช่มั้ย เอาเรื่องนั้นแหละ จัดมาเลย”

โรโบฟิชและฝูงปลาหางนกยูง (เครดิตภาพ : Bierbach และคณะ, 2020, Frontiers in Bioengineering & Biotechnology)

พอได้ดู ต้องบอกว่า Winged Migration เป็นสารคดีที่ต้องบอกว่าทำให้ผมประทับใจมากๆ กับความทุ่มเทของทีมโปรดิวเซอร์และช่างภาพ

ทีมถ่ายทำขึ้นเครื่องบินเล็ก บินเคียงไปกับฝูงนกอพยพ มือก็ถือกล้องแคมคอร์เดอร์คอยบันทึกภาพเหล่านกอพยพที่กำลังบินผ่านสถานที่ต่างๆ ทิวทัศน์เบื้องหลังแสนตระการตา

แต่เดี๋ยวนะ แล้วทำไมพวกเขาถึงเอาเครื่องบินเล็กบินไปได้กับนกโดยที่มันแตกตื่น กระจัดกระจาย พวกนกทำเหมือนกับว่าพวกเขาคือหนึ่งในสมาชิกของฝูง

ด้วยความสนใจในมุมกล้องที่เป็นเอกลักษณ์ คืออยากรู้ว่าถ่ายมาได้ยังไง ผมถึงกับต้องกลับไปเปิดดูคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำ นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่ผมแนะนำให้ดูคลิปเบื้องหลัง เพราะเด็ดมาก จนไม่ควรพลาด

เคยเรียนมาตอน ม.ปลาย “ลูกนกเวลาฟักออกจากไข่ ได้เห็นได้เจออะไรจะทึกทักว่าเป็นแม่” เสียงคุณครูชีววิทยาแว่วมาในมโนสำนึก “นี่เป็นพฤติกรรมฝังใจ ที่จะช่วยให้ลูกนกมีโอกาสรอดชีวิตได้เยอะ เพราะจะเดินตามแม่และจะได้รับการปกป้อง”

คือสารภาพว่าตอนเรียนก็เรียนไปให้พอรู้ แต่ไม่เคยคิดว่ามันจะเอาไปใช้อะไรได้

ทว่าโปรดิวเซอร์และทีมถ่ายทำ Winged Migration กลับประยุกต์ข้อมูลนี้มาใช้ในการถ่ายทำได้อย่างแยบยล พวกเขาอยู่กับพวกนกตั้งแต่พวกมันเพิ่งจะฟักออกมาจากไข่ พวกนกจึงฝังใจคิดว่าทีมงานเป็นแม่ อีกทั้งถูกฝึกให้เคยชินกับเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบินเล็กตั้งแต่ยังเป็นลูกนก

ทีมงานเลยสามารถถ่ายได้มุมแบบ bird eye view ของแท้ เรียกว่าบินไปถ่ายไปกับฝูงนกในระหว่างอพยพได้อิสระอย่างที่ใจต้องการ

User Interface ของโปรแกรมควบคุมการร่ายรำของหุ่นยนต์ผึ้งโรโบบี (เครดิตภาพ : Landgraf และคณะ 2018, https://arxiv.org/pdf/1803.07126.pdf)

ไอเดียในการจัดการพฤติกรรมสัตว์เป็นสิ่งที่ในมุมของนักวิทยาศาสตร์แล้วน่าสนใจมาก เพราะอาจจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์ได้ลึกซึ้งขึ้น จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์กับสังคมมนุษย์ก็เป็นได้

ความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมช้าง ทำให้นักวิจัยสามารถคิดและวางแผนวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของโขลงช้าง เช่น สร้างแหล่งอาหารล่อช้างในป่าลึก การทำโป่งเทียม หรือแม้แต่การปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบในรอยต่อเขตเกษตรกรรม ที่อาจจะทำช้างทั้งโขลงยอมเปลี่ยนเส้นทางการเดินให้เลี่ยงถนนหนทาง เส้นทางอันตรายและเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรได้

แต่ในยุคที่แผ่นดีวีดีกลายเป็นของโบราณสะสม งานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการพฤติกรรมสัตว์นั้นก็พัฒนาไปก้าวไกลกว่าเดิมมากเช่นกัน ในเวลานี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้เริ่มถูกเอามาใช้ศึกษาและสอนสั่งให้สัตว์มีพฤติกรรมตามที่มนุษย์ต้องการได้มากขึ้น

แน่นอน หุ่นยนต์ต้องดีไซน์ออกมาให้เหมือนจริงมากพอที่จะให้สัตว์ในธรรมชาติยอมรับเป็นพวก ดังนั้น แล้วแต่ว่าโจทย์ที่ต้องการศึกษาหรือปรับพฤติกรรมจะสัตว์ชนิดไหน การสร้างหุ่นสำหรับสัตว์แต่ละชนิดก็จะต้องใช้ดีไซน์ที่แตกต่างกันไป

บางชนิดเน้นรูปลักษณ์ บางชนิดต้องเน้นสี บางชนิดต้องเน้นกลิ่น และบางชนิดแค่ท่าดี ก็มีลุ้นแล้ว

 

สําหรับปลาหางนกยูง เจนส์ เคราส์ (Jens Krause) นักพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยฮุมบอลต์แห่งเบอร์ลิน (Humboldt-Universit?t zu Berlin) ได้ปรินต์ปลาหางนกยูงเลียนแบบที่เรียกว่าโรโบฟิช (Robofish) ขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติ แล้วลงสีด้วยมือ เธอเผยว่าสำหรับปลาหางนกยูง ตราบใดที่โมเดลมีตาชัดเจน และสีสันใกล้เคียงกับปลาจริงๆ อยู่บ้างก็เพียงพอแล้วที่จะใช้หลอกปลาหางนกยูงให้อยู่หมัดได้แล้ว

และเพื่อศึกษาบทบาทของขนาดตัวกับโอกาสในการเป็นผู้นำฝูงปลา เคราส์จึงปรินต์หุ่นยนต์โรโบฟิชขนาดต่างๆ ออกมา แล้วเอาไปต่อกับแม่เหล็กที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ ทำให้โรโบฟิชสามารถเคลื่อนที่ได้เหมือนปลาหางนกยูง ผลปรากฏว่าปลาหางนกยูงจะเลือกตามและยกย่องโรโบฟิชที่มีขนาดใหญ่มากกว่าเป็นผู้นำ

และแบบแผนการว่ายน้ำก็มีผลกับการรวมกลุ่ม เพราะถ้าโรโบฟิชว่ายเร็วไป วนเวียนอยู่ใกล้ฝูง ปลาตัวเล็กก็จะว่ายแบบแตกตื่นตกใจนึกว่าโดนล่า

นั่นหมายความว่าอัตราเร็วในการว่ายก็มีผลสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมการรวมกลุ่มว่ายน้ำของปลาหางนกยูงด้วยอีกเช่นกัน

“ถ้าคุณสามารถสร้างหุ่นยนต์เข้าไปแฝงตัวในฝูงสัตว์เป็นนกต่อได้ และพวกสัตว์ก็ยอมรับหุ่นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต่อมา คุณก็จะสามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำอะไรก็ตามที่คุณสั่ง แล้วสังเกตว่าสัตว์จริงๆ จะตอบสนองอย่างไร” ดอรา บิโร (Dora Biro) นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมสัตว์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในรัฐนิวยอร์ก (University of Rochester) กล่าว

 

แม้จะส่งโรโบฟิชลงไปกลายเป็นผู้นำไว้นำฝูงปลาได้ แต่การประยุกต์ใช้แบบชัดๆ ยังอาจจะมองได้ยากสำหรับปลาหางนกยูง แต่ลองจินตนาการว่าถ้าเราสามารถออกคำสั่งผึ้ง แมลงผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการผสมเกสร ให้บินไปไหนมาไหนได้ เลือกผสมเกสร และเก็บน้ำหวานที่สวนผลไม้ในบริเวณที่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนาก็คงจะดี

และไม่แน่ว่าบางทีปัญหาในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง อาจจะสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ก็เป็นได้

ถ้าอยากควบคุมผึ้ง ก็ต้องเข้าใจภาษาผึ้ง โดยปกติ ผึ้งจะสื่อสารกันด้วยการร่ายรำที่เรียกว่า wagging dance เป็นการร่ายรำส่ายบั้นท้ายไปมา แล้วเดินเป็นรูปวงกลม หรือบางทีก็เป็นรูปเลขแปด

ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยละเอียดแล้ว พบว่าเพียงแค่การเคลื่อนที่ขยับไป ขยับมาแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผึ้งที่รับสัญญาณรับรู้ได้ว่าจะต้องบินไปที่ไหนถึงจะเจอน้ำหวาน และเส้นทางการบินจะเป็นอย่างไร

หลังจากที่วิจัยและรวบรวมข้อมูลปัจจัยต่างๆ ในการสื่อสารของผึ้ง เช่น บั้นท้ายส่ายเร็วหรือถี่แค่ไหน เดินวนเป็นวงไปกี่รอบ เป็นเลขแปดไปกี่รอบ ทิศทางการเดินทำมุมอะไรอย่างไรกับดวงอาทิตย์ วิศวกรหุ่นยนต์ ทิม แลนด์กราฟ (Tim Landgraf) จากมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Free Univesity of Berlin) ประเทศเยอรมนี ได้ออกแบบหุ่นยนต์ผึ้ง โรโบบี และเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการควบคุมการร่ายรำสื่อสารของโรโบบีกับผึ้งตัวอื่นๆ ในรัง

ชัดเจนว่าโรโบบีสามารถสั่งผึ้งให้บินไปในทิศทางที่พวกเขากำหนดได้อย่างน่าสนใจ ถือเป็นก้าวแรกที่น่าจับตามอง ในตอนนี้

ถ้าจะให้เปรียบ โรโบบีก็คงเป็นเหมือนล่ามที่ช่วยแปลภาษาคนให้เป็นภาษาผึ้ง ที่จะช่วยสื่อสารบอกให้ผึ้งรู้ว่าเราอยากให้พวกมันทำอะไร หรือต้องการให้ไปช่วยผสมเกสรที่ไหนได้

 

นวัตกรรมหุ่นยนต์ควบคุมพฤติกรรมสัตว์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ

และเมื่อพัฒนาไปถึงจุดสุกงอม ก็น่าที่จะมีประโยชน์อย่างมหาศาลกับโลกและมวลมนุษยชาติ

ใครจะรู้ว่าวันหนึ่ง คนจะคิด (ใช้หุ่นยนต์) สอนผึ้งให้หาน้ำหวาน สอนปลาให้ว่ายน้ำ และสอนนกให้โบกบิน

บางที การมองนอกกรอบก็อาจจะทำให้เราได้เห็นเทคโนโลยีที่อาจจะทำสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นจริงขึ้นมาก็เป็นได้

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่