เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

การศึกษา/ถึงเวลา… “มหาวิทยาลัย” เปิด-ปิดเทอมตามเดิม??

27.08.2017

ถึงเวลา… “มหาวิทยาลัย” เปิด-ปิดเทอมตามเดิม??

กลับมาเป็นประเด็นฮ็อตอีกครั้งกับการต่อต้านมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ให้เปิด-ปิดภาคเรียนตามกลุ่มประเทศอาเซียน…

ทปอ. มีมติเมื่อปี 2554 ให้เปิดภาคเรียนที่ 1 ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม จากเดิมมิถุนายน-ตุลาคม ภาคเรียนที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม จากเดิมพฤศจิกายน-เมษายน โดยให้เริ่มนำร่องปีการศึกษา 2557 พร้อมให้เหตุผลว่า

1. สอดรับกับการเปิด-ปิดของมหาวิทยาลัยในอาเซียน

2. การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

3. การรับนักศึกษาต่างชาติเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของไทยสะดวกมากขึ้น

4. การปิดภาคเรียนในฤดูฝน ช่วยลดปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง

และ 5. มีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อปรับพื้นฐานนักศึกษาก่อนเปิดเทอม

ตลอดเวลาที่ผ่านมาคณะที่ได้รับความเดือดร้อนต่างออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน

อย่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ให้เหตุผลว่า ทุกหลักสูตรของการฝึกหัดครูจะมีรายวิชาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูระหว่างเรียนและการปฏิบัติการสอนหรือการฝึกสอนในชั้นปีที่ 4 หรือชั้นปีที่ 5 การเปิดปิดภาคเรียนที่ไม่ตรงกับสถานฝึกปฏิบัติวิชาชีพซึ่งคือโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมแล้วเป็นเวลานานถึง 4 เดือนต่อปี

ส่งผลให้ไม่มีสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างเพียงพอ

และอาจกระทบต่อคุณภาพในการผลิตบัณฑิตครู และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของอาจารย์ที่ไม่ได้พักเลย

และยังกระทบต่อนักเรียน ม.6 ที่รอเข้ามหาวิทยาลัยในเดือนสิงหาคมเกือบ 7 หมื่นคนที่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ 4-6 เดือน อีกทั้งไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย

ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ก็ออกมาต่อต้านตั้งแต่ปีแรกๆ โดยให้เหตุผลว่า

1. ภาคเรียนที่ 2 ตรงกับช่วงฤดูร้อน ทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพ

2. เดือนเมษายนมีวันหยุดมากทำให้ขาดความต่อเนื่องในการเรียน

3. นักศึกษาจบไม่ทันฤดูรับสมัครงาน

4. ขาดความต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

5. เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิต เนื่องจากต้องเรียนในสภาพอากาศร้อนจัด

และ 6.เกิดปัญหาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์ไทยกับต่างประเทศ เนื่องจากมีภาระการสอนตรงกัน พร้อมทั้งได้ทำแบบสอบกลุ่มอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษาเรื่องการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2558 พบว่าคณาจารย์ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 73.2 บุคลากรไม่เห็นด้วย ร้อยละ 63

และนักศึกษาไม่เห็นด้วย ร้อยละ 60.9

ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) สำรวจความคิดเห็น 48 สถาบัน ต่อเรื่อง “ผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษา ภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” พบว่า ร้อยละ 86.33 ไม่เห็นด้วย พร้อมเสนอให้สถานศึกษาไทยทุกระดับเปิด-ปิดให้สอดคล้องกัน หลีกเลี่ยงการสอนเดือนเมษายน ปรับเปลี่ยนการศึกษาทุกประเทศในอาเซียนให้เหมือนกัน และปรับเปลี่ยนวันเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู การรับสมัครงานให้สอดคล้องกับวันสำเร็จการศึกษา ปรับเปลี่ยนปีงบประมาณให้สอดคล้องกับการเปิด-ปิดภาคเรียน และเปลี่ยนวงรอบการปฏิบัติราชการใหม่ให้สอดคล้องกับภาคเรียน

ไม่ต่างจากสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทยที่สะท้อนปัญหาว่า การสอน การวิจัยและบริการวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรน้ำจำนวนมาก การเปิด-ปิดแบบอาเซียนทำให้การจัดหลักสูตรด้านเกษตรลำบาก น้ำไม่พอ นักศึกษาเกษตรเจอปัญหาการทำกิจกรรมการเรียนและการฝึกปฏิบัติในแปลงเกษตร รวมถึงการเรียนด้านสัตว์น้ำเพราะไม่ใช่ช่วงการวางไข่ ส่งผลให้ไม่ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้จริง

ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ปคมทร.) มองว่า นักศึกษาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพราะการอยู่หอพักในช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นหน้าร้อน ส่งผลต่อการฝึกงานและสหกิจศึกษาซึ่งสถานประกอบการมีปัญหาในการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน และในการฝึกสอนของนักศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาชีพครู ก็ไม่สอดคล้องกับสถาบันอาชีวศึกษา

ส่งผลให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ราว 10 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 7 แห่งกลับไปเปิด-ปิดตามเดิม…

วันนี้ปัญหากลับมาปะทุอีกครั้ง เพราะแม้ ทปอ. ยืนยันว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนเป็นดุลพินิจของแต่ละแห่ง แต่การไปกำหนดปฏิทินระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส) โดยยึดโยงกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน กระทบต่อแผนรับนักศึกษาของบางมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาสละที่นั่งเพื่อไปเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงกว่าในระบบทีแคสในช่วงแอดมิสชั่นส์

เหตุนี้ ปอมท. จึงถกด่วนร่วมกับ ปคมทร. ทปสท. ส.ค.ศ.ท. และสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

ก่อนมีมติว่าจะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณากลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เชื่อว่านายกฯ ต้องส่งกลับไปให้ ทปอ. พิจารณา และมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล จึงมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้โดยตรง

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ. ระบุว่า ทปอ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างรองานวิจัยเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และยังต้องวิจัยและศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของทีแคสด้วย

เนื่องจากการเปิดปิดภาคเรียนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง

ขณะที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มก. ระบุว่า คณะวิจัย มก. ได้สรุปผลการวิจัยให้ ทปอ. แล้ว เบื้องต้นสรุปผลกระทบและข้อเสนอแนะ 3 แนวทางคือ

1. เปิด-ปิดตามอาเซียน

2. เปิด-ปิดตามเดิม

และ 3. เปิด-ปิดแบบหลากหลาย

จากผลวิจัยพบว่าแนวทางที่เป็นปัญหาน้อยที่สุด คือ กลับไปเปิด-ปิดแบบเดิม ซึ่งจะมีประโยชน์กับผู้เรียนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องช่วงเวลาปฏิบัติการสอน และการสอบบรรจุครู กลุ่มผู้เรียนสาขาเกษตรและวิทยาศาสตร์ ที่ต้องฝึกปฏิบัติงานและใช้ห้องแล็บซึ่งสภาพอากาศมีผลต่อการเรียน

ขณะเดียวกัน การเปิด-ปิดตามอาเซียนมีผลให้ค่าไฟสูงขึ้น เป็นภาระค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย สำหรับข้อเสียหากกลับไปเปิด-ปิดตามเดิม จะกระทบกับมหาวิทยาลัยที่ทำข้อตกลงเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับต่างประเทศไว้แล้ว

ส่วนการให้อิสระมหาวิทยาลัยเปิด-ปิดภาคเรียนแบบหลากหลาย เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะเป็นปัญหาต่อระบบการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลการเปิด-ปิดภาคเรียนในต่างประเทศ พบว่าคำนึงถึงสภาพอากาศเป็นหลัก

แม้เจ้ากระทรวงจะเห็นว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย แต่การกำหนดปฏิทินทีแคสที่ยึดโยงกับการเปิด-ปิดอาเซียนย่อมกระทบกับบางมหาวิทยาลัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ แรกเริ่ม ทปอ. วางนโยบายโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานงานวิจัย แต่วันนี้งานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงของ มก. ออกมาตรงกันว่าการเปิด-ปิดตามอาเซียนส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ถึงเวลาหรือยังที่ ทปอ. ต้องทบทวนเรื่องนี้บนพื้นฐานงานวิจัยและข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเสียหน้า…



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568