
‘อ่านเก็บความ’ ไม่เป็น ‘ฟังจับความ’ ไม่ได้! ‘ใบตองแห้ง’ ชวน ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ตีโจทย์ปัญหา ‘การศึกษาไทย’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
‘อ่านเก็บความ’ ไม่เป็น ‘ฟังจับความ’ ไม่ได้!
‘ใบตองแห้ง’ ชวน ‘ธงชัย วินิจจะกูล’
ตีโจทย์ปัญหา ‘การศึกษาไทย’
หมายเหตุ “ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข” ชวน “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” มาสนทนาหลากหลายประเด็นในรายการ “ประชาธิปไตยสองสี” เผยแพร่ผ่านทางช่องยูทูบมติชนทีวี
โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทั้งคู่แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างน่าสนใจ ก็คือเรื่อง “ปัญหาการศึกษา” ของสังคมไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ใบตองแห้ง : การศึกษาไทย ถ้าเรามองคุณภาพของมัน ผมจำได้ว่าอาจารย์ชอบพูดเรื่องการเรียนทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ว่ามีความสำคัญ
แต่คนจำนวนหนึ่งเหมือนกลับมองแค่ว่าการศึกษาคือคุณเรียนเอไอ คุณเรียนวิทยาศาสตร์ให้เก่ง คุณไม่ต้องไปสนใจเรื่องทางสังคม จนมีอาจารย์ทางสังคมศาสตร์ประท้วงว่าทุกวันนี้ เขาตกเป็นเหมือนบุคลากร “ชั้นสอง”
แล้วก็จะมีคนบอกว่าไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปเรียนมันเลย (สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์)
ธงชัย : ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็ตามใจ คือเป็นความคิดที่ผิดแน่ๆ เอาตัวอย่างง่ายๆ
เราอาจจะคิดว่าวิทยาศาสตร์สำคัญ แล้วก็เป็นหัวหอกการเปลี่ยนแปลง สร้างมูลค่าใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ สร้างนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกัน (วิทยาศาสตร์) ราวเหมือนกับเป็นทางออก เพื่อจะหลีกหนีการปะทะกันในปัญหาทางสังคม
แต่ทุกสังคมยังหนีไม่พ้นการต้องอยู่กันในความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ไม่ใช่เรื่องของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
ยกตัวอย่างเช่น ต้องอยู่กันในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย? ต้องอยู่กันในสังคมที่มีศาสนาในแบบที่ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ เกื้อกูลกัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งสิ้น
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องอยู่ด้วยวัฒนธรรม ซึ่งต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มาแช่แข็งไว้ เป็นไปไม่ได้
ถ้ากลับมาพูดถึงเรื่องการศึกษา ผมยกตัวอย่างแล้วกันว่า มีการเรียนรู้สำคัญมากๆ สำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเรียนวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็เถอะ ก็คือการรู้จัก “อ่าน” รู้จัก “เขียน” รู้จัก “ฟัง”
ปัญหาสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาหลายปี ผมเฝ้าสังเกต มันมีการสอบ PISA ใช่ไหม ที่นักเรียนไทยทำคะแนนได้ไม่ดี ประเด็นที่คนสนใจก็ไปที่คณิตศาสตร์ ไปที่อะไรต่ออะไร (แต่) ผมสนใจในเรื่องของการ “อ่านเก็บความ” (reading comprehension)
ทำไมการอ่านเก็บความต้องเป็นหนึ่งในการทดสอบ PISA ด้วย? เพราะการอ่านเก็บความคือพื้นฐานของการที่มนุษย์จะรู้จัก “ภาษา” พื้นฐานของการที่มนุษย์จะรู้จัก “วัฒนธรรม” พื้นฐานของการที่มนุษย์จะเข้าใจกันและกัน
หมายถึงเมื่อเราอ่านแล้วเข้าใจความ เราจะรู้ข้อถกเถียง เราตั้งคำถามได้ เราสงสัยได้ เรานำไปสู่ข้อสรุปได้ เรารู้จักเลือกปฏิบัติตัว
การเรียนรู้เรื่องภาษา เรียนรู้เรื่องการอ่านเพื่อทำความเข้าใจ การเรียนรู้เรื่องการฟังให้เข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นทักษะสำหรับการมีชีวิตอยู่อย่างปกติในสังคม และการมีชีวิตอยู่ปกติไม่ใช่หมายความว่าโดยไม่เปลี่ยนแปลง พอสังคมเปลี่ยนทุกอย่างเปลี่ยน
การมีชีวิตอยู่อย่างปกติ เช่น สมัยไม่มีทีวีกับสมัยมีทีวี มันก็ต้องมีการอ่าน การเขียน การเรียน การฟัง ไม่เหมือนกัน เมื่อมีโซเชียลมีเดีย ก็มีการอ่าน การเขียน การเรียน การฟัง ที่ไม่เหมือนกัน
คิดอย่างง่ายๆ นะ นักเรียนไทย เราพูดกันมานานว่าต้องมีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ ผมขอบอกว่าถ้าอ่านแล้วยังไม่รู้เรื่องเลย ฟังแล้วยังจับความไม่ได้เลย คุณไม่สามารถมีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ได้
สำหรับสังคมไทย ปัญหาน่าห่วงคือการอ่านเก็บความ-การฟังจับความของเราค่อนข้างแย่ นักเรียนไทยหลายรุ่นแล้วมีการบ่นกันมากว่า ไม่ใช่เพราะอ่านภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง อ่านภาษาไทยก็ไม่เก็บความ ฟังภาษาไทย (ก็จับความไม่ได้)
หรือแม้แต่นักข่าว ผมเคยเจอยี่สิบปีแล้วมั้ง ผมถึงขนาดอยากจะเลิกให้สัมภาษณ์ ตอนนั้นก่อนที่จะมีทีวีอะไรมากมาย
เพราะนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ผมมีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่ง คือสรุปเก็บความ แล้วก็ทำมาผิด สอง เขาก็เลยถอดเทปเป็นคำๆ ซึ่งก็อ่านไม่รู้เรื่องเหมือนกัน เขาอ่านเก็บความและฟังจับความไม่เป็น
แล้วผมก็เจอว่ามีคนเป็นอย่างนั้นเยอะมาก
ใบตองแห้ง : ซึ่งเป็นอย่างนี้มันก็ไม่ได้เก่งวิทยาศาสตร์นะ
ธงชัย : ไม่เก่ง คุณจะคิดไปได้แค่ขั้นหนึ่งน่ะ เพราะคุณอย่าลืม คณิตศาสตร์มันคือเรื่องของตรรกะ คณิตศาสตร์คือการเข้าใจความสัมพันธ์ ตรรกะแปลว่าความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์มีบวกลบคูณหาร ความสัมพันธ์มีสารพัด แบบม้วนรวมตัวกัน ขยายตัว หดตัว พวกนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทั้งนั้น คุณต้องสามารถคิดได้
ซึ่งการคิดเนี่ย มีฐานอยู่ที่การรู้จักจัดการกับภาษา ต่อให้คุณสามารถก้าวข้ามภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ เข้าสู่ภาษาวิทยาศาสตร์ มันก็ยังเป็นภาษาอยู่ดี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022