เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ปรีดี แปลก อดุล : จอมพล ป.ผู้ปราศจากฐานอำนาจ

16.05.2025

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

ปรีดี แปลก อดุล

: คุณธรรมน้ำมิตร (65)

 

จอมพล ป.ผู้ปราศจากฐานอำนาจ

พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์ อธิบายไว้ใน “สงครามเวียดนาม สงครามกับความจริงของ ‘รัฐไทย'” ว่า ที่ผ่านมามักเข้าใจกันว่าสาเหตุที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำประเทศเข้าสู่ค่ายโลกเสรีนั้นเป็นผลมาจากความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ไทยจึงจำเป็นต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากมหาอำนาจฝ่ายโลกเสรีเพื่อปกป้องตนเอง แต่งานวิจัยยุคหลัง เช่นของ เกษียร เตชะพีระ และ แดเนียล ไฟน์แมน ได้ท้าทายทัศนะดังกล่าว

เกษียร เตชะพีระ เห็นว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่เอานโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์มาใช้เพื่อประโยชน์ของไทยและของตน

ส่วนแดเนียล ไฟน์แมน เห็นว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม แสวงหาความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตนเป็นเหตุผลสำคัญ หาใช่เป็นเรื่องของการคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ล้วนๆ ไฟน์แมนยังชี้ว่าก่อนที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะนำประเทศไทยเข้ามายืนอยู่แนวหน้าของโลกเสรีนั้น ภาพพจน์ของคอมมิวนิสต์เวียดนามในสายตาชนชั้นนำไทยใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด

ส่งผลให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องประสบกับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากสมาชิกในรัฐบาลด้วยกันเองในการประกาศรับรองรัฐบาลหุ่นเบาได๋

 

ทัศนะของเกษียร เตชะพีระ และ แดเนียล ไฟน์แมน ดังกล่าว ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อธันวาคม พ.ศ.2481 นั้น สถานะของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ล้วนเข้มแข็งหนักแน่นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ความสำเร็จของชัยชนะในการปราบปรามกบฏบวรเดชทำให้เกิดความเชื่อถือยกย่องจากประชาชนที่ต้องการรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและความสำเร็จในสงครามอินโดจีนฝรั่งเศสจนเกิดคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการเมืองไทยคือการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดความเป็นไปทางการเมือง

แต่การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เมื่อ พ.ศ.2491 มีความแตกต่างกันในแทบทุกด้าน นับแต่พฤติกรรมที่มีลักษณะเผด็จการระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกที่ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เสื่อมความนิยมในฝ่ายประชาธิปไตยไม่น้อย รวมทั้งการปราศจากอำนาจใดๆ ในฐานะทหารนอกราชการ ซึ่งแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ก็มิได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเหมือนในอดีตจึงปราศจากฐานอำนาจที่เป็นจริง

การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาซึ่งกลายเป็นมหาอำนาจลำดับ 1 ของโลกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นช่องทางที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะแสวงประโยชน์สร้างพลังอำนาจต่อรองขึ้นทดแทนได้

 

เปรียบเทียบการเปลี่ยนนโยบาย

จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีประวัติ “เปลี่ยนใจ” หลายครั้ง หลายลักษณะ

ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยในระดับ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ได้ปลุกจิตสำนึกแห่งความหวงแหนเอกราชของชาติอย่างได้ผล คนไทยจำนวนไม่น้อยยอมรับคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และเห็นพ้องต้องกันว่าไทยจะต้องรักษาความเป็นกลางไว้เสมอชีวิต จะไม่ยอมให้ต่างชาติรุกรานโดยคนไทยไม่ต่อต้าน

จนนำไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทยเมื่อเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ที่บันทึกความเสียสละของคนไทยระดับ “ชาวบ้าน” ทั้งชายหญิงและยุวชนทหารจำนวนนับไม่ถ้วน

การตัดสินใจของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแทบจะทันทีที่ญี่ปุ่นบุกจึงเป็นเรื่องเหนือความคาดคิดและสร้างความผิดหวังให้แก่คนไทยผู้รักชาติในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง แม้จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะพยายามอธิบายให้เห็นถึงความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยอย่างไม่อาจประเมินได้ก็ตาม

 

แต่การเปลี่ยนจุดยืนด้วยการตัดสินใจเป็นศัตรูกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีประเทศกลุ่มอินโดจีนเป็นเพื่อนบ้านครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนบ้านอีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากฝรั่งเศสมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอีสานที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเชื้อชาติจนแทบแยกกันไม่ออก จนปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเสรีไทยในภาคอีสานเคยให้ความช่วยเหลือการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวอินโดจีนทั้งการฝึกอาวุธและการเข้าร่วมต่อสู้

อีกทั้งรัฐบาลไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเปิดเผยในลักษณะต่างๆ หนังสือพิมพ์หลายฉบับในยุคนั้นซึ่งยังไม่ถูกควบคุมจากการรัฐประหารเมื่อปลายปี พ.ศ.2490 แม้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ส่วนใหญ่กลับให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ไม่รับรองรัฐบาลเบาได๋ รวมทั้งปัญญาชนก้าวหน้าและคนไทยที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพ

การเปลี่ยนจุดยืนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งนี้จึงนำไปสู่การคัดค้านอย่างกว้างขวาง คล้ายกับที่เคยถูกต่อต้านเมื่อครั้งประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อนายปรีดี พนมยงค์ ที่สหรัฐอเมริกาประทับตราคอมมิวนิสต์ร่วมกับโฮจิมินห์ไปแล้ว

นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกฝ่ายอนุรักษนิยมจัดเป็นศัตรูหมายเลข 1 อยู่แล้วตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงกลายเป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปในที่สุด

ข้อหาคอมมิวนิสต์ที่ถูกกล่าวหาตั้งแต่ครั้ง “สมุดปกเหลือง” จะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ เพิ่มด้วยข้อหาพัวพันการเสด็จสวรรคตของ ร.8

 

พันธมิตรผู้เอางานเอาการ

พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์ อธิบายต่อไปว่า ทันทีหลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศนำประเทศเข้าสู่ค่ายโลกเสรี รัฐบาลก็เริ่มสร้างข่าวคอมมิวนิสต์วางแผนจะบุกประเทศอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะไปกล่าวอะไรที่ไหนจะต้องพ่วงเอาเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ไว้ด้วยเสมอเพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเข้าร่วมกับฝ่ายตะวันตกเพราะต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหารไว้ป้องกันประเทศ ข่าวคอมมิวนิสต์มักพ่วงท้ายด้วยความจำเป็นที่รัฐบาลต้องซื้ออาวุธเพื่อป้องกันประเทศมากขึ้น

ในเดือนกันยายน พ.ศ.2492 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เสนอว่าจะอนุญาตให้ทหารอังกฤษและอเมริกันเข้ามาประจำในประเทศไทยเพื่อร่วมกันปราบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักจนต้องเลิกความคิดไป ในเวลาเดียวกันจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แถลงว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ที่จะให้อำนาจกับรัฐบาลในการสั่งห้ามการประชุมของฝ่ายคอมมิวนิสต์และสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่คำโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ มีการกวดขันการฉายภาพยนตร์เพราะเชื่อว่าพวกคอมมิวนิสต์ใช้หนังสือและภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิของตน

เดือนมีนาคม พ.ศ.2493 มีข่าวแพร่สะพัดออกจากฝ่ายรัฐบาลว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ไทยถึงขั้นต้องการให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ธนบุรี และบางจังหวัดในทุกภาคของประเทศ

หลังจากนั้นอีกไม่ถึงสัปดาห์ก็มีข่าวลือว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนใจไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว แต่จะออกพระราชกำหนดป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์แทน โดยจะจับบรรดานักหนังสือพิมพ์ที่โจมตีนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลในข้อหาคอมมิวนิสต์ และสมาชิกสภาผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายกว้าง ทองดี ก็ให้สัมภาษณ์ว่าบรรดาชาวเวียดนามในภาคอีสานของไทยกำลังจะเปลี่ยนประเทศไทย

ข่าวลือเรื่องคอมมิวนิสต์จะบุกไทยถูกปล่อยออกมาอีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2495 คณะรัฐมนตรีถึงกับมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประเทศไทยอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการรุกรานจากจีนด้วยเหตุผลว่ากองทัพจีนได้เคลื่อนลงมาประชิดพรมแดนจีนตอนใต้ รัฐบาลอาจต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ.2497 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้านายปรีดี พนมยงค์ รวบรวมพวกไทยลื้อในยูนนานได้สำเร็จก็จะนำกองทัพบุกไทยแน่

ความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ถูกปลูกฝังจากรัฐบาลอย่างเอางานเอาการ เป็นระบบและต่อเนื่อง ภายใต้การอำนวยการและร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มที่จากองค์การสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ