
ตุ๊กตาเสียกะบาน แต่เดิมเป็นตุ๊กตาแทนตัวมนุษย์ ที่ถูกบูชายัญเซ่นผีเพื่อความอุดมสมบูรณ์

ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง อ.ล้อม เพ็งแก้ว (พ.ศ.2479-2467) ได้เคยอธิบายเอาไว้ในข้อเขียนที่มีชื่อว่า “เสียกบาล-เสียหัว-หัวใคร เสียกะบาน ไม่ใช่เสียหัว” ที่ตีพิมพ์ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2534 แล้วว่า คำว่า “กะบาน” ที่ใช้ในคำเรียก “ตุ๊กตาเสียกะบาน” ไม่ควรเกี่ยวข้องกับคำว่า “กบาล” ที่แปลว่า ‘หัว’ (เพราะไม่มีการต่อย หรือทุบทำลายหัวของตุ๊กตาในพิธี) แต่เกี่ยวข้องกับการเซ่นผี โดยอ้างอิงพจนานุกรม 2 ฉบับ เอาไว้อย่างน่าสนใจได้แก่
พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ ฉบับสถาบันทักษิณคดี (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2525) ให้ความของคำว่า “บาน” เอาไว้ว่า
“น. บาน ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กกว่ากระด้งราวหนึ่งในสี่, กะบาน ก็ว่า”
ในขณะที่ หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ (ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2416) ไม่มีคำว่า “กะบาน” แต่มีคำว่า “กระบาน” โดยได้นิยามความหมายไว้ว่า
“ของทำด้วยกาบหยวกหฤาสิ่งอื่น เป็นสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ใส่ของกินต่างๆ เส้นผี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
และหากจะว่ากันตาม ข้อมูลที่ อ.ล้อมได้ค้นคว้ามาข้างต้นแล้ว “ตุ๊กตาเสียกะบาน” จึงควรเป็นเครื่องใช้เซ่นผี ที่ใส่ไว้ในภาชนะชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจทำจากหยวกกล้วย หรือภาชนะสานไม้ไผ่ก็ได้
ดังนั้น จึงเรียกกันว่า ตุ๊กตาเสียกระบาน/กะบาน คือเซ่นเสียผีด้วยการใส่กระบาน/กะบาน ไม่ได้หมายถึงตุ๊กตาที่ถูกต่อย หรือทุบตีให้เสียหัว (กบาล) และแต่เดิมจึงควรสะกดว่า “กะบาน” หรือ “กระบาน” ไม่ใช่ “กบาล” นั่นเอง
และอันที่จริงแล้ว พิธีปั้นตุ๊กตาเสียกระบานในหลายๆ ชุมชนนั้น ก็ไม่ได้มีการทุบทำลายกบาลของตุ๊กตาให้เสียหาย อย่างที่มักจะเข้าใจกันไปเองเลยจริงๆ นั่นแหละครับ
ในพิธีการปั้น “ตุ๊กตาเสียกะบาน” นั้น อะไรที่เรียกว่า “กะบาน” (ที่ในปัจจุบันมักจะเรียกกันว่า “กระทง”) นี้ ถูกใช้สำหรับใส่ตัวตุ๊กตา โดยหลายครั้งก็จะใส่ร่วมลงไปกับเครื่องเซ่นอื่นๆ เช่น ข้าวปลาอาหารต่างๆ เงินทอง หรือแม้กระทั่งตุ๊กตาดินเหนียว ที่ปั้นเป็นรูปของสิงสาราสัตว์ต่างๆ ด้วยก็มี นัยว่าเป็นการ เซ่นผี หรือเลี้ยงผี
ส่วนอะไรที่เรียกว่า “การเลี้ยงผี” (ที่ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทในชุมชน ก็มักจะถูกจับมาแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ แล้วเรียกว่า การทำบุญ) ในพื้นที่ของผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทำนองนี้ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับพิธีวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อพิธีถูกจัดขึ้นในช่วงที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลผลิต
โดยพิธีกรรมเพื่อวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีการใช้ตุ๊กตารูปมนุษย์ ซึ่งมักจะปั้นเป็นตุ๊กตาเปลือย ก็คือ ประเพณีบุญบั้งไฟ ที่เชื่อกันว่าจัดขึ้นเพื่อขอฝนจากพญาแถน
พิธีแห่ในประเพณีบุญบั้งไฟนั้น มักจะประกอบไปด้วยตุ๊กตารูปชายหญิงเปลือยกาย บ้างก็อยู่ในท่าทางสังวาส แม้กระทั่งรูปปั้นอวัยวะเพศ (ที่ส่วนมากมักเป็นของเพศชาย ที่ภาคกลางเรียก “ขุนเพ็ด” หรือที่อีสานเรียกว่า “บักแบ้”) มีประกอบอยู่ในพิธีกรรมขอฝนอื่นๆ ด้วย
ดังที่พระยาอนุมานราชธน (ยง เสถียรโกเศศ, พ.ศ.2431-2512) อธิบายเอาไว้ในหนังสือ “การศึกษาประเพณีของไทย” (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2505) ว่า ตุ๊กตาลักษณะดังกล่าวที่ประดับอยู่ในขบวนแห่นางแมว ประเพณีขอฝนของชาวบ้าน โดยเฉพาะทางภาคกลาง ที่เรียกว่า “ตุ๊กตาปั้นเมฆ” ซึ่งก็เป็นตุ๊กตาเปลือยที่ถูกปั้นขึ้นเพื่อใช้ในพิธีขอฝนด้วยเช่นกัน
เป็นได้ว่าตุ๊กตาทํานองนี้มีอยู่โดยทั่วไป และถือเป็นประเภทเดียวกัน แต่เรียกตามภาษาที่ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ในงานของเจ้าคุณอนุมานฯ เองท่านก็เรียกตุ๊กตาเหล่านี้ว่า ตุ๊กตาปั้นเมฆ ทั้งหมดเลยนะครับ
ดังเช่นความตอนหนึ่งที่เจ้าคุณท่านอ้างว่า ที่อุบลราชธานีถ้าปีใดฝนแล้งจัด ชาวบ้านแต่ละตําบลจะนํา “ตุ๊กตาปั้นเมฆ” ประจําของแต่ละชุมชนมารวมกันแล้วแห่เวียนไปรอบชุมชน กระบวนแห่มีทั้งกลองยาวกลองเถิดเทิง ชายหญิงเซิ้งกันไปอย่างสนุกสนาน
พิธีการอย่างที่ว่า ดูคล้ายกับการแห่บั้งไฟที่มักจะปั้นรูปตุ๊กตาเปลือย บางทีก็ปั้นเป็นชายหญิงก่ายเกี่ยวกันอย่างสุขสม ตุ๊กตาพวกนี้ก็คงเป็นตุ๊กตาปั้นเมฆเช่นเดียวกัน โดยที่เจ้าคุณอนุมานฯ เองท่านก็ว่าตุ๊กตาเหล่านี้เทียบได้กับรูปปั้นเมฆ ยิ่งใช้ในพิธีการที่เกี่ยวกับการขอฝนด้วยแล้วก็ยิ่งชวนให้มั่นใจได้ยิ่งขึ้น
เป็นไปได้ว่า แต่ตั้งเดิมนั้น “ตุ๊กตาเสียกะบาน” ก็มีความหมายที่เกี่ยวข้องเป็นสัญลักษณ์ของการวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์ในทำนองเดียวกันกับ “ตุ๊กตาปั้นเมฆ” นี่แหละ จึงได้ถูกนำไปใส่รวมอยู่ในกะบาน/กระบาน เพื่อเซ่นผีร่วมกับเครื่องเซ่นอื่นๆ
แต่นี่ยังไม่สามารถอธิบายได้ถึง ร่องรอยของความเชื่อในปัจจุบันที่ว่า ตุ๊กตาเสียกะบานนั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสะเดาะเคราะห์ให้แก่ผู้สร้างตุ๊กตา และครอบครัว (หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง) เกี่ยวกับเรื่องนี้เราอาจต้องทำความเข้าใจถึงร่องรอยที่ตกค้าง เกี่ยวกับพิธีกรรมบุชายัญมนุษย์ เพื่อวิงวอนขอความอุดมสมบูรณ์ที่มีเหลืออยู่ไม่มากนักในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยคงเหลืออย่างเด่นชัดที่สุดในกลุ่มชนที่ถูกเรียกว่าพวก “ว้า”
“ว้า” นั้นเป็นชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคนไทยในภาคกลางเรียกว่า “ละว้า” ส่วนคนภาคเหนือเรียกว่า “ลัวะ” เฉพาะในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา, จ.ชัยภูมิ และ จ.เพชรบูรณ์ จะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ชาวบน” เพราะอาศัยอยู่บนที่สูง
พวกว้ากลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกว่า “ว้าฮ้าย” (คือ ว้าร้าย) หรือ “ว้าเลิน” โดยในเอกสารหลายชิ้นมักจะเรียกว่า ว้ากลุ่มนี้ว่า “ว้าป่าเถื่อน” ซึ่งหลายครั้งก็ถูกมองว่าเป็นครึ่งคน ครึ่งภูตผีปีศาจไปเลยทีเดียว
เหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกว้ากลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “ร้าย” นั้น เป็นเพราะพวกเขามีประเพณีการ “ล่าศีรษะมนุษย์” เพื่อนำไปบูชา “ผีไร่” เป็นประจำทุกปี
แต่ก็ไม่ใช่ว่า พวกว้าฮ้าย จะล่าศีรษะมนุษย์ไปเซ่นบูชา ‘ผีไร่’ ซึ่งก็คือผู้ปกปักผืนไร่ อยู่ตลอดทุกช่วงเวลาหรอกนะครับ เพราะมีบันทึกด้วยว่า ในปีหนึ่งๆ พวกว้าจะล่าศีรษะมนุษย์กันเพียงแค่ 3 เวลาเท่านั้น ซึ่งก็ได้แก่
1. เวลากำลังจะเริ่มปลูกข้าวไร่
2. เวลาเก็บเกี่ยวข้าวไร่ เรียกกันว่า “ไปหาหัวฮ้า” ฮ้า คือ ร้า หรือของบูดเน่าของหมักดองอย่างปลาร้านั่นเอง
และ 3. ก่อนปีใหม่สัก 7-8 วัน ตกราวเดือนเมษายน ทั้งนี้เพื่อให้ฝนตกลงมา จะได้ปลูกข้าวไร่
จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาในการล่าศีรษะมนุษย์ของพวกว้าฮ้ายนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับการเพาะปลูก และแนวคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด
โดยในบางหมู่บ้าน ก็เอาไม้ไผ่ทะลุปล้องศีรษะมนุษย์เอาไว้ทางด้านบน แล้วเอาไปปักไว้ที่ลานหน้าบ้าน โดยมีลำรางไม้รองรับน้ำเหลืองให้ไหลลงสู่พันธุ์ข้าวไร่ที่อยู่ในกระบุงทางด้านล่าง เพื่อเป็นการเซ่นสรวงผีไร่นี่แหละ
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีนิทานอธิบายเหตุของชาวว้าเล่าเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งหัวหน้าชาวว้าคนหนึ่ง ลงไปซื้อพันธุ์ข้าวมาจากชาวจีนฮ่อที่ตั้งเรือนอยู่ที่ตีนเขา แต่พันธุ์ข้าวนั้นกลับปลูกไม่ขึ้น หัวหน้าชาวว้าผู้นั้นจึงโกรธเพราะคิดว่าพ่อค้าจีนฮ่อหลอกเอาพันธุ์ข้าวลวกน้ำร้อนมาหลอกขายตน ดังนั้น จึงสั่งให้ลูกน้องลงไปซื้อพันธุ์ข้าวมาจากพ่อค้าคนเดิม แต่กำชับไปด้วยว่าเมื่อซื้อแล้วให้ตัดศีรษะของพ่อค้ากลับมาด้วย
ลูกน้องได้รับคำสั่งก็ปฏิบัติตาม โดยเมื่อทำธุระเสร็จตามนายสั่งแล้ว ก็นำพันธุ์ข้าวที่ซื้อรองไว้ที่ข้างล่างของตะกร้า แล้วเอาศีรษะของพ่อค้านั้นวางไว้ทางด้านบน จนน้ำเลือด น้ำหนองชโลมไปทั่วพันธุ์ข้าว แต่เมื่อนำไปปลูกแล้วกลับเป็นว่าข้าวนั้นเจริญงอกงามจนผิดธรรมดา จึงถือกันว่าผีไร่โปรด และเกิดเป็นธรรมเนียมการตัดศีรษะมนุษย์มาบูชาผีไร่เป็นประจำทุกปี
อย่างไรก็ตาม นิทานเรื่องนี้ก็เป็นเพียง ‘นิทานอธิบายเหตุ’ คือไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นนิทานที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายที่มาที่ไปของอะไรบางอย่างที่หาคำอธิบายไม่ได้แล้ว ในชั้นหลังเสียมากกว่า
เพราะอันที่จริงแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับ การใช้ชีวิตมนุษย์เป็นเครื่องเซ่นสังเวย เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารนั้น มีปรากฏเป็นร่องรอยอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยหลายครั้งผู้ที่กลายเป็น ‘เชื้อแห่งความอุดมสมบูรณ์’ นั้นก็เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมแห่งนั้น เช่น กรณีของเทพเจ้าโอซิริส (Osiris) ในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ เป็นต้น
ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูโหดร้ายสำหรับทัศนะของผู้คนในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนัก หากจะเคยมีการเซ่นสรวงบูชาผีไร่นา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ด้วยชีวิตของมนุษย์ ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ของอุษาคเนย์ยุคโบราณ แล้วค่อยๆ เสื่อมหายไปตามค่านิยมในแต่ละยุคสมัย จนส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็น “ตุ๊กตาเสียกะบาน” อันเป็นสัญลักษณ์แทน “ชีวิตของมนุษย์ผู้ถูกบูชายัญ” ไปในที่สุดนั่นแหละครับ •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022