เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

‘ความเข้าใจ’

11.05.2025

พายุฝนต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้ป่าชุ่มฉ่ำ ใบไม้เขียวทึบ

สภาพอากาศซึ่งเมื่อเดือนก่อนร้อนอบอ้าว เปลี่ยนแปลง เช้าๆ ถึงตอนสายเราอยู่กับสายหมอก บ่ายๆ อุณหภูมิสูงขึ้น

แต่ตั้งแต่หัวค่ำถึงดึก ต่อเนื่องถึงเช้าเราอยู่กับอากาศเย็น

ท้องฟ้ามืดครึ้มในช่วงบ่าย สิ่งที่เลี่ยงไม่พ้นกับการอยู่ในซุ้มบังไพร คือ ยุง

แหล่งอาหารของสัตว์ป่า กลับมาอุดมสมบูรณ์

ฝูงกระทิงมีลูกเล็กๆ ส่วนพวกตัวผู้วัยรุ่นที่ถูกขับออกจากฝูง ก็มารวมตัวกัน สะสมพละกำลังและความเข้มแข็ง ก่อนจะต้องไปใช้ชีวิตลำพัง

ในแหล่งอาหาร มีซากกวาง, เก้ง ปรากฏให้เห็น หมาไนทำงานของพวกมัน

ในความสมบูรณ์ ความมีชีวิต ความตายอยู่ไม่ไกลกัน

 

เมื่อฝนเข้าครอบคลุมผืนป่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เส้นทางสัญจรที่เราใช้ เชื่อมระหว่างป่ากับเมืองจะกลายเป็นหล่มลึก เนินลื่นไถล ทั้งๆ ที่เพิ่งปรับปรุงกระทั่งราบเรียบไม่นาน

พลบค่ำ ผมกลับจากซื้อเสบียงในเมือง ผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยที่อยู่กลางทาง เหลือระยะทางอีกราว 10 กิโลเมตรจะถึงจุดหมาย เส้นทางไต่ขึ้นทางชัน ข้ามสะพานซึ่งเป็นไม้วางพอดีช่วงล้อรถข้างละท่อน ทางโค้งไปทางซ้าย ผ่านดงไผ่ที่แตกใบใหม่เขียวทึบ

พ้นจากโค้ง มีช้างร่างทะมึนยืนขวาง ผมหยุดรถ และเตรียมถอย เพราะรู้ว่าร่างทะมึนที่ยืนขวางอยู่นั่นเป็นอย่างไร

คนที่นี่เรียกมันว่า ไอ้ด้วน ทุกคนแม้จะไม่เคยพบแต่จะรู้จักชื่อเสียง

ชื่อของมันได้มาจากปลายหางที่ไม่มีพู่ เพราะถูกตัดขาดไป มันถูกคนใช้มีดฟัน

ชื่อเสียงมันได้มาจากเคยเข้าโจมตีคน เสียชีวิตมาแล้วสองราย

คนหนึ่งเป็นคนงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ขี่มอเตอร์ไซค์กลับจากบ้าน พบไอ้ด้วนกะทันหันตรงทางโค้งหยุดไม่ทัน รถล้ม และเขาวิ่งหนีไม่ทัน

อีกรายเข้ามาหาเห็ด พบไอ้ด้วน เขากับเพื่อนๆ ตะโกนไล่เสียงเอะอะ ไอ้ด้วนไม่หนี มันเข้าโจมตี คนซึ่งมีมีดเป็นอาวุธเสียชีวิต

ไอ้ด้วนกลายเป็นช้างที่ไม่มีใครอยากพบเจอ

คนพบกับไอ้ด้วนบนเส้นทางบ่อยๆ ทุกครั้งที่พบ มันจะไม่ลังเลในการเข้าโจมตี ประสบการณ์ในการปะทะกับคน และบาดเจ็บ ทำให้มันหงุดหงิดเสมอเมื่อพบคน

นอกจากไอ้ด้วนบนเส้นทาง ช้างอีกตัวที่คนพบเจอบ่อยๆ คือ เจ้าเตี้ย พวกเขาเรียกตามลักษณะที่ตัวอ้วนใหญ่ แต่ดูไม่สูง

“เจ้าเตี้ยนิสัยดีครับ ไม่ก้าวร้าว เจอคนก็ไม่สนใจ หากินไปตามปกติ ถ้าอยู่บนทางก็จะหลบให้รถผ่าน”

นิสัยดีๆ ของเจ้าเตี้ย ดูเหมือนทำให้ไอ้ด้วนยิ่งดูน่าเกรงขาม

 

ขณะถอยรถ ภาพที่เห็นคือ หัวใหญ่โต ใบหูโบกสะบัด พร้อมกับเสียงร้อง “แปร๋น” ดังสนั่น

ผมถอยไปราวๆ 100 เมตร มันชะลอและหยุด ยืนมอง ส่ายหัวไปมา สักพักก็เดินช้าๆ เข้าข้างทาง ต้นไม้ไหวยวบยาบค่อยๆ ห่างไป

“วันนี้คงอารมณ์ดีแหละ” ผมนึกในใจ

 

เทียนบนโต้ะไม้เก่าๆ วับแวม เหล้าขาวดองม้ากระทืบโรงหมดไปครึ่งขวด

“ถึงเวลาที่สัตว์มันจะเอาคืนบ้างแล้วแหละครับ” น้าชัย พิทักษ์ป่าอาวุโสพูดก่อนลุกขึ้นขอตัวกลับห้องพัก

กับวันเวลาของการทำงานในป่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมถูกสัตว์ป่าโจมตี หลายครั้งนั้นฉิวเฉียดกับการบาดเจ็บ มีบางครั้งที่ผู้เข้าโจมตีฝากบาดแผล และกลายเป็นแผลเป็นไว้เป็นบทเรียน

ทุกครั้งที่พบกับเหตุการณ์คับขัน แววตาที่เห็นใกล้ๆ ทำให้ผมเข้าใจสิ่งหนึ่ง

นี่ไม่ใช่การเอาคืน แต่มันคือการโต้กลับของชีวิตที่จนมุม

ในแววตาที่เห็นใกล้ๆ ผมเห็นแววแห่งความหวาดหวั่น

ไม่ใช่แววตาที่มองผมเป็นศัตรู

ควายป่า – เมื่อเข้าใกล้เกินระยะที่จะอนุญาต ควายป่าตัวนี้ก็พร้อมจะให้บทเรียน

บ่ายนี้ฝนไม่ตก ตกค่ำคืนแรมสี่ค่ำ ท้องฟ้ามืด ดาวส่องประกายระยิบ อากาศเย็นยะเยือก

ระหว่างผมกับไอ้ด้วนเราคงพบเจอกันอีก และไม่รู้ว่ามันจะทำร้ายใครอีก

มันทำให้ผมนึกถึงปัญหาที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญ อย่างที่เรารู้และพูดกันเสมอว่า แหล่งอาศัยพวกมันลดลง ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพคล้ายเกาะ โดนล้อมด้วยพื้นที่เกษตรและชุมชน เส้นทางเดินหากินตามฤดูกาลถูกตัดขาด ออกมากินพืชผลของคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้ง ที่การปะทะรุนแรงถึงขั้นชีวิต

ในบางพื้นที่ สัตว์ป่าบางชนิด เช่น ช้าง, กระทิงแพร่พันธุ์อย่างไร้สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่งควบคุม และกลายเป็นปัญหา เป็นความขัดแย้งกับคนหนักยิ่งขึ้นทุกวัน ไม่ผิดนักหากจะเรียกว่า นี่คือสงคราม

สงครามที่ควรเรียกว่า สงครามที่ไม่ยอมจำนน

 

มีคนมากมายใช้ความตั้งใจ รวมกับความรู้ความเข้าใจเพื่อแก้ไขปัญหา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยในชุมชนซึ่งเดือดร้อน พยายามหาวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง

การควบคุมประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ซึ่งมีปัญหามาก จำเป็นแล้ว

โลกมาถึงวันที่เราต่างยอมรับว่า ปัญหาที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญนั้น ต่างจากเมื่อ 30-40 ปีก่อน

การถูกล่าโดยตรงยังเกิดขึ้น แต่พวกมันก็พบเจอปัญหาที่ใหญ่พอๆ กัน และสัตว์ป่าในทุกมุมโลกพบกับปัญหาคล้ายๆ กัน

แน่นอนว่า ในแต่ละพื้นที่ การแก้ไขปัญหาย่อมใช้วิธีที่แตกต่างกัน

ในแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายๆ แห่งบนโลกนี้ มีหลายวิธีที่ได้ผล วิธีการควบคุมปริมาณ เป็นวิธีหนึ่ง

การทำหมันเพื่อลดจำนวนประชากรช้างในพื้นที่ ซึ่งมี “สงคราม” จำเป็น

ไม่เห็นผลในวันสองวันหรอก มันจะมีผลในระยะยาว

 

หลังผ่านพ้นเหตุการณ์คับขัน ระหว่างผมกับสัตว์ป่า ผมรู้อย่างหนึ่ง

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องยอมรับอย่างแท้จริงว่า โลกไม่ได้ถูกออกแบบมาเพียงเพื่อให้คนอาศัย ต้องยอมรับการมีอยู่ และสัตว์ป่าอยู่บนโลกนี้เพื่ออะไร ยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญนั้นเกิดขึ้นเพราะเรา

เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา

แต่ก่อนอื่น คงต้องยอมรับว่า บางปัญหานั้น ต้องแก้ไขด้วยความ “เข้าใจ” ไม่ใช่แค่เพียงความรัก •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568