
คุยกับทูต | เยฟกินี โทมิคิน ครบรอบ 80 ปี แห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียตในมหาสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิ (จบ)

คุยกับทูต | เยฟกินี โทมิคิน
ครบรอบ 80 ปี แห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียต
ในมหาสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิ (จบ)
9 พฤษภาคมของทุกปีคือวันแห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียตเหนือนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มหาสงครามของผู้รักชาติ (The Great Patrotic Day) เป็นวันหยุดที่ผู้คนเฉลิมฉลองมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากวันปีใหม่ ถือเป็นไฮไลต์ของปฏิทินรัสเซียและเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมรัสเซีย
เป็นวันแห่งความรุ่งโรจน์ทางการทหารของรัสเซีย – วันแห่งชัยชนะของประชาชนชาวโซเวียตในสงครามรักชาติครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างปี 1941-1945
“ในช่วงเวลานั้น กองกำลังพันธมิตรฟาสซิสต์ในยุโรปพ่ายแพ้ต่อความพยายามร่วมกันของกองกำลังพันธมิตรซึ่งรวมถึงสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอีกหลายๆ ประเทศ หากปราศจากการสนับสนุนของทุกประเทศจะทำให้ชัยชนะครั้งนั้นเกิดขึ้นไม่ได้เลย
จากการสู้รบกันอย่างดุเดือดในกรุงมอสโก สตาลินกราด เคิร์สก์ และอีกหลายๆ เมืองที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ผลของสงคราม คือกองทัพนาซีและพวกพ้องต้องประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่และถอยทัพไปในที่สุด
ทั้งนี้ กองทัพโซเวียตได้ค่อยๆ ทำลายตำนานความแข็งแกร่งของกองทัพนาซีที่นำโดยฮิตเลอร์พร้อมกับทำลายขวัญและกำลังใจของเยอรมนี โดยความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซีกว่า 70% นั้น เป็นการสู้รบกับสหภาพโซเวียต

นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานวันแห่งชัยชนะที่มาบรรจบครบรอบ 80 ปี ของอดีตสหภาพโซเวียตในมหาสงครามปกป้องปิตุภูมิ

9 พฤษภาคมของทุกปีคือวันแห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียตเหนือนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2
ท่ามกลาง 62 ประเทศที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักที่สุดและสูญเสียชีวิตผู้คนไปมากกว่า 26 ล้านคน
เมือง ตำบล หมู่บ้าน โรงงาน เหมืองแร่ เส้นทางรถไฟมากมาย และความมั่งคั่งของชาติโดยรวมซึ่งประเมินค่าไม่ได้นั้นมลายหายไปในสงคราม ตัวเลขที่น่าตกตะลึงเตือนให้เราทุกคนตระหนักถึงมูลค่าอันมหาศาลเพื่อแลกกับสันติภาพที่ยั่งยืน
ในรัสเซีย เบลารุส ยูเครน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อาร์เมเนีย และประเทศที่แยกมาจากสหภาพโซเวียตนั้นกล่าวได้ว่า ไม่มีครอบครัวใด ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนั้น หลายคนมีคุณปู่ที่ร่วมรบในสงครามและมีสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวไปประจำการที่แนวหน้าของสมรภูมิ บางคนต้องทำงานในคลังอาวุธเป็นเวลานานเพื่อให้กองทัพได้มีกระสุนและเสบียงอย่างต่อเนื่อง บางคนมีญาติพี่น้องที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานอยู่ในค่ายกักกันแรงงาน
เสียงสะท้อนจากสงครามได้รวมทุกประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นบทเรียนแห่งความทรงจำที่ส่งต่อถึงลูกหลานของพวกเขาที่ได้รับชัยชนะในครั้งนั้น และปีนี้ เป็นปีที่ครบรอบ 80 ปี ในการรำลึกถึงการสิ้นสุดของมหาสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิในครั้งนั้น

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง, ภาพ-เซอร์เกย์ บ็อบลี

รถถังหลักรุ่นใหม่ T-90M Proryv ของรัสเซียในจัตุรัสแดงระหว่างขบวนพาเหรดทางทหารในวันแห่งชัยชนะ
สําหรับผู้ที่เคยอยู่ในยุคสหภาพโซเวียต รวมถึงนักการทูตและครอบครัวของพวกเขาที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เราได้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และแง่มุมของเหตุการณ์ในอดีต
ในวันนี้ ณ อนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะและสุสานของผู้ล่วงลับที่ประเทศรัสเซีย ประชาชนไปร่วมวางดอกไม้และพวงหรีด ผู้คนนับล้านไปรวมตัวกันที่ใจกลางเมืองของแต่ละเมือง โดยมีกลุ่มคนถือรูปของบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่มีส่วนร่วมในมหาสงครามรักชาติรวมกับญาติของพวกเขา เพื่อเดินขบวนในการรำลึกถึงพวกเขาในชื่อว่า กองทหารอมตะ (Immortal Regiment)
ส่วนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของรัสเซียในวันนี้ได้เผยแพร่ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามและคอนเสิร์ตโดยเหล่าศิลปินหลากหลายวัยและหลากหลายแนว ซึ่งรวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่
จากประสบการณ์ของสงคราม บทบาทของสงครามในประวัติศาสตร์โลก และผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนธรรมดา ได้สะท้อนออกมาในรูปแบบของหนังสือ ภาพวาด บทละคร และการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมมากมาย
บางส่วนของผลงานที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดได้แก่ Life and Fate ผลงานของ Vasily Grossman, The Dawns Here Are Quiet ผลงานของ Boris Vasilyev หรือ Wait for Me ผลงานของ Konstantin Simonov เป็นต้น

Life and Fate ผลงานของ Vasily Grossman

เครื่องบินขับไล่ MiG-29 จากหน่วย Strizhi (Swifts) และเครื่องบินขับไล่ Su-30SM จากหน่วย Russkiye Vityazi (Russian Knights)

ประชาชนถือรูปของบรรพบุรุษที่มีส่วนร่วมในมหาสงครามรักชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
ชัยชนะที่ได้มาด้วยความยากลำบากของคนยุคนั้น จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เรายกย่องการกระทำของพวกเขาในอดีต ที่ชาวสหภาพโซเวียตทุกคนยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเลือดเนื้อ ความกล้าหาญ ความเพียรพยายาม ความแข็งแกร่ง และชีวิตของตัวเอง เพื่อสันติภาพ
เอกอัครราชทูตเยฟกินี โทมิคิน กล่าวทิ้งท้ายว่า
“วันแห่งชัยชนะเป็นอีกวันที่เศร้าโศก เป็นการรำลึกถึงความเสียสละทั้งหมดที่ทุกครอบครัวต้องเผชิญ ทุกชีวิตที่สูญเสียไปในสนามรบ ในค่ายกักกัน และดินแดนที่ถูกยึดครอง ผมจึงขอให้พวกเราทุกคนได้จดจำวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 หรือเมื่อ 80 ปีก่อน ปีที่ทหารโซเวียตธรรมดาๆ ได้รับชัยชนะจากสงครามครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024?fbclid=IwAR22RbstgOdFjK3Kl_MAt_MusBlq5oxijEcCbx_-0y6zmJhXvZl3Q_2G-cE