เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ศึกลูกหนังไทยลีก 1 แยกตัว ‘พยุงหรือพัง’ ทั้งองคาพยพ!

17.05.2025

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลลีกอาชีพไทยสำหรับการที่สโมสร ไทยลีก 1 ประชุมหารือกัน และแสดงเจตนารมณ์ที่จะ “แยกตัว” ออกจากภายใต้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และมาจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อจัดการแข่งขันและหาสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง

จากการประชุมร่วมกันของสโมสรในศึกรีโว่ ไทยลีก หรือไทยลีก 1 ได้ปรึกษาหารือกันหลายประเด็น แต่ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดเลยคือ การที่ทีมไทยลีก 1 จะแยกตัวมาเปิดบริษัทจัดการแข่งขันกันเอง เพื่อจะได้บริหารจัดการสิทธิประโยชน์ ทำให้สโมสรจะได้รับเงินมากกว่าที่เคยได้รับในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2566 ไทยลีก 1 ไม่สามารถหาผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้ เคยมีแนวคิดเสนอแยกไทยลีก 1 ออกมาตั้งบริษัทเองแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นมี เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์, ปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรบีจี ปทุม และ นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ (ในเวลานั้น) เป็นแกนนำ

แต่ตอนนั้นโปรเจ็กต์ถูกพับไป ก่อนที่นวลพรรณได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในปัจจุบัน โดยล่าสุดถูกปัดฝุ่นหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งสโมสรไทยลีก 1 ได้พูดคุยอย่างตึงเครียด ทั้งการประเมินข้อดี-ข้อเสีย ก่อนที่จะแยกตัวออกมาอย่างจริงจัง

 

สาเหตุของการจุดชนวน “แยกตัว” ครั้งนี้ ต้องยอมรับก่อนว่าในปัจจุบันนี้ ฟุตบอลลีกอาชีพที่มีมูลค่ามากที่สุดของเมืองไทยคือ “ไทยลีก 1” ดังนั้น การหารายได้ หรือสิทธิประโยชน์ คนที่จ่ายก็เพราะคาดหวังกับความนิยมของแฟนบอล เหมือนกับเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งที่พร้อมทำกำไรได้

ยกตัวอย่างเรื่องเงินจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฤดูกาลปัจจุบันได้จาก ทรูวิชั่นส์ ประมาณ 190 ล้านบาท บวกกับผู้สนับสนุนรายอื่นๆ เช่น โตโยต้า, ช้าง และเจ้าอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าคนซื้อก็สนใจแค่ลีกสูงสุดหรือฟุตบอลถ้วยเท่านั้น ส่วน ไทยลีก 2-3 ถือว่าเป็นแค่ของแถม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการแบ่งเงินในปัจจุบันนั้น สโมสรไทยลีก 1 ได้เงินสนับสนุนเพียงแค่ทีมละ 10 ล้านเท่านั้น จนกลายเป็นข้อสังเกตว่า พวกเขาได้เงินสนับสนุนทีมจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไม่เหมาะสมกับที่ลงทุนทำทีมเท่าไหร่นัก ต่างกันมากพอสมควร

จนนำมาสู่ความต้องการที่จะแยกตัวออกมาเปิดบริษัทใหม่ โดยให้สโมสรเป็นผู้ถือหุ้น 16 หุ้นในสัดส่วนเท่ากัน เพื่อหารายได้ สิทธิประโยชน์ และแบ่งกันเอง โดยไม่ต้องสนใจลีกระดับล่าง หรือสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็จะทำให้พวกเขาได้รับเงินมากกว่าที่เคยได้ตอนนี้

ข้อดีของการแยกตัวจะทำให้พวกเขามีอำนาจในการหาสิทธิประโยชน์เพื่อหารายได้ให้มากกว่าเดิม ซึ่งเมื่อมีรายได้มาแบ่งให้สโมสรได้มากกว่าเดิม ก็จะทำให้มาตรฐานการแข่งขันมันสูงขึ้นตาม ทีมสามารถนำเงินที่ได้ไปลงทุน รวมถึงการสร้างมูลค่าลีกให้เพิ่มขึ้น และจะทำให้รายได้ของลีกสูงขึ้นตามมา

 

การแยกตัวของสโมสรไทยลีก 1 ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นนี้ ได้มีการนำเสนอแผนงานด้วยการนำโมเดลจากฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นตัวตั้ง

ย้อนกลับไปจุดกำเนิดของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ มาจากกระแสของฟุตบอลอังกฤษที่ลดลงในช่วงยุค 80-90 เริ่มเป็นรอง สเปน หรือ อิตาลี อีกทั้งปัญหาที่คล้ายๆ กับฟุตบอลไทยคือ สโมสรในลีกสูงสุดมองว่าส่วนแบ่งรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

จึงทำให้เกิดการแยกออกมาตั้งเป็น บริษัท เอฟเอ พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1991 และเริ่มเปิดประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลและจัดการแข่งขันในฤดูกาล 1992-1993 ทันที

เงินก้อนแรกที่เอฟเอ พรีเมียร์ลีก ได้ คือค่าลิขสิทธิ์จาก สกายสปอร์ตส์ มูลค่าถึง 304 ล้านปอนด์ (คูณค่าเงินไทยในช่วงเวลานั้น 1 ปอนด์ = 44.5 บาท จะตกราวๆ 13,528 ล้านบาท) โดยทีมพรีเมียร์ลีกแบ่งหุ้นกันตามจำนวนทีม (ตอนนั้น 22 ทีม ก่อนลดเหลือ 20 ทีมในปัจจุบัน) ก็จะแบ่งรายได้กัน

จากนั้นพรีเมียร์ลีกก็ค่อยๆ พัฒนาความนิยมขึ้นมา จนกลายเป็นลีกเบอร์ 1 ของโลกอย่างในทุกวันนี้

แต่ต้องยอมรับว่า โมเดลของพรีเมียร์ลีกจะได้ผลกับไทยลีก 1 หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานการใช้ชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนใจในการดูกีฬาฟุตบอลที่คนอังกฤษกับคนไทยก็มีธรรมชาติในเรื่องนี้แตกต่างกัน

หากมีการแยกตัวของไทยลีก 1 ตั้งบริษัทใหม่ด้วยตัวเอง ในอีกมุมก็อาจจะเป็นการทำลายระบบฟุตบอลของประเทศไทยไปโดยปริยาย เพราะทุกวันนี้ไทยลีก 2-3 หรือลีกอื่นๆ แทบจะไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง คนสนใจก็น้อย และแทบจะไม่มีมูลค่าในตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว ที่อยู่รอดได้ เพราะเงินสนับสนุนจากรายได้ที่ไทยลีก 1 เป็นคนหาเอาไว้

กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ ไทยลีก 1 อยากเอาตัวเองให้รอดก่อน ไม่ได้มองถึงการแบ่งรายได้ให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ หรือทีมระดับล่าง แต่หากหารือกันเพื่อแบ่งปันรายได้ต่างๆ จุนเจือลีกระดับล่างบ้าง ก็จะช่วยพยุงทั้งองคาพยพของฟุตบอลลีกอาชีพไทยให้พอไปได้

ตัวอย่างถ้าแบ่งรายได้ออกเป็น 100 ส่วน ไทยลีก 1 อาจจะนำเอาเงินแบ่งกัน 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถนำมาแบ่งกลับคืนให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เพื่อนำเอามาแบ่งสันปันส่วนให้ทีมในลีกระดับล่าง อย่างน้อยเพื่อให้ทีมเหล่านี้ยังสามารถมีรายได้อยู่

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการแยกตัวของไทยลีก 1 คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

รวมทั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กำลังเปิดประมูลผู้ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก ระยะเวลา 4 ปีอยู่

หากทุกอย่างลงตัวปิดดีลกันได้ เท่ากับว่าฟุตบอลไทยลีกจะต้องผูกอยู่กับสัญญาฉบับนี้ไปอีก 4 ปี ถ้าจะแยกออกมาตั้งบริษัทใหม่อาจต้องพูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้กันอีกพอสมควร

ยังไม่รวมถึงสัญญากับผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กับ แพลนบี ซึ่งในเงื่อนไขสัญญาจะต้องมีเรื่องของฟุตบอลไทยลีก 1 อยู่ด้วย ถ้าหากทีมไทยลีกแยกออกมาตั้งบริษัทใหม่ เท่ากับว่าเงื่อนไขที่เคยเซ็นไว้ไม่ครบ อาจจะโดนฟ้องร้องค่าเสียหายได้เช่นกัน กลายเป็นโอละพ่อเลยทีเดียวล่ะ

สโมสรไทยลีก 1 อาจจะมองแค่การเอาตัวเองรอดให้ได้ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าพวกเขาเดินหน้าไป หันหลังมาอีกทีอาจจะไม่เห็นทีมในระดับล่างที่จะไม่มีทีมใดเดินตามมาได้ทันแล้ว เพราะทีมเล็กๆ คงจะไปต่อไม่ไหวในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ดังนั้น การแยกตัวของไทยลีก 1 อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำลายองคาพยพวงการฟุตบอลลีกอาชีพไทยหากไม่ได้มีการวางแผนให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ

แต่หากวางแผนร่วมกันทั้งไทยลีกสูงสุด และทีมระดับล่าง ให้ทุกฝ่ายต่างวิน-วินทุกฝ่ายแล้ว

ก็อาจจะเป็นแนวทางที่ช่วยพยุงให้วงการฟุตบอลลีกอาชีพไทยไปรอดร่วมกันทั้งองคาพยพก็เป็นได้… •

 

เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่

[email protected]



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568