

สัปดาห์นี้คอการเมืองได้เห็นการเปิดศึกทางการเมืองครั้งใหญ่ของ 2 คีย์แมนเบื้องหลังการเมือง 2 กลุ่มอำนาจสำคัญ
เอ่ยชื่อกันตรงๆ ทักษิณ ชินวัตร ปะทะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นแหละ
อันที่จริงอาการไม่สบอารมณ์ของทักษิณ ชินวัตร กับ พล.อ.ประวิตรในฐานะ “เสาหลักบ้านป่ารอยต่อฯ” มีมานานแล้ว
ย้อนกลับไปช่วงที่ทักษิณยังอยู่ในร่าง “โทนี่ วูดซัม” วิเคราะห์การเมืองผ่านคลับเฮาส์เห็นได้ชัด
เป็นที่มาของวลี “ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ.เลย” กลายเป็นภาพจำของ พล.อ.ประวิตร ทำเอาคนแซวกันทั้งบ้านทั้งเมือง
กลับมาที่ทักษิณ แม้จะสร้างปรากฏการณ์ระดับ “ปาฏิหาริย์” กลับประเทศไทยมาได้โดยไม่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียวสำเร็จ แถมยังทำทุกอย่างชอบธรรมตามกฎกติกาทุกประการ
แต่ระหว่างกระบวนดังกล่าว เจ้าตัวก็รู้ว่าถูกสังคมตั้งคำถามไม่น้อย ท่าทีการให้สัมภาษณ์ในช่วงแรกจึงอยู่ในอารมณ์ของการขอความเห็นใจ อยากกลับมาเลี้ยงหลาน ทั้งยังสื่อสารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่า “ต่างคนต่างอยู่”
ขอมุ่งให้คำแนะนำรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งยังให้สัมภาษณ์อย่างแหลมคม เข้าอกเข้าใจปัญหาประเทศ ความยากลำบากของยุคสมัย
ทักษิณรู้ดีว่า สิ่งที่จะพยุง “รัฐบาลพรรคร่วมภายใต้การนำของเพื่อไทย” ได้ดีที่สุดก็คือการผลิตนโยบายที่โดนใจประชาชน เพื่อกู้ศรัทธา ซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็ว ตรงเป้า และเป็นรูปธรรม
แต่การขยับของทักษิณช่วงออกจากเรือนจำ และทิศทางนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยบางเรื่อง กลับเพิ่มความกังวลให้ฝ่ายอำนาจเก่าบางส่วน
จึงเป็นที่มาของกลุ่ม 40 ส.ว.ชุดรักษาการ ที่ถนัดเล่น “การเมืองดึกดำบรรพ์” ชิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญหวังยืมมือองค์กรอิสระ “จัดการ” พรรคเพื่อไทย
ที่นายทักษิณออกมาพูดเรื่อง “การเมืองลี้ลับ” ก็คือเรื่องนี้
ปฏิบัติการครั้งนี้สั่นคลอนพรรคเพื่อไทยโดยตรง มีผลทำให้นายพิชิต ชื่นบาน ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี “คอขึ้นเขียง” อนาคตทางการเมืองอยู่ที่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
การ “รุก” ที่กระทำต่อกองทัพเพื่อไทยจาก “ขั้วอำนาจเก่ากลุ่มหนึ่ง” จึงเป็นที่มาของการ “ท้ารบ” บ้านป่ารอยต่อฯ จาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า”
หลังทักษิณส่งสัญญาณ “ท้ารบ” แม้พลพรรคเพื่อไทยทั้งในทำเนียบและนอกทำเนียบ จะไม่พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “คนในบ้านป่าฯ” ที่นายทักษิณกล่าวถึงนั้นคือใคร ทั้งยังขอไม่อยากให้ตีความ ไม่อยากให้พูดถึงอีก แต่ทุกคนก็รู้ว่าคือ พล.อ.ประวิตร
ต้องไม่ลืมว่าการเมืองไทยรอบทศวรรษที่ผ่านมา บ้านป่ารอยต่อฯ คือหนึ่งในศูนย์กลางอำนาจสำคัญ และเป็นเบื้องหลังควบคุมการเปลี่ยนการเมืองยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้ชื่อพรรคพลังประชารัฐ
ว่ากันว่าแต่ก่อนกลุ่มการเมือง ธุรกิจ แวดวงสังคมต่างๆ ที่ต้องสัมพันธ์กับอำนาจรัฐบาลก่อน จำเป็นก็ต้องเข้าหาบ้านป่ารอยต่อฯ ก่อน ปริมาณ “หนาแน่น” จนต้องทำ “บัตรคิว”
แต่หลังการเลือกตั้งปี 2566 สถานการณ์ตรงกันข้าม บ้านป่ารอยต่อฯ เงียบลงไปมาก อำนาจต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลก็มีน้อยนิด
โควต้าสำคัญของพรรคพลังประชารัฐมีเพียง 2 กระทรวงตามจำนวนเก้าอี้ แถมในพรรคพลังประชารัฐก็แบ่งเป็นหลายกลุ่ม-หลายมุ้ง
หลักๆ คือกลุ่มก้อนอำนาจที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ครองเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ พร้อมคุมเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค
แน่นอน ร.อ.ธรรมนัส เป็นมือไม้ของ พล.อ.ประวิตร ไม่มีใครเถียง แต่ถามว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทักษิณเบอร์ไหน คำตอบไปย้อนดูการตั้งแถวต้อนรับในคราวนายทักษิณลงพื้นที่ดูงาน จ.เชียงใหม่ ก็จะเห็นชัด
คนเขาเคยเป็นลูกน้องเจ้านายกันมาก่อน…มองตาก็รู้ใจ
ถัดมาคือกลุ่มของ พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย ประกอบด้วย ส.ส.ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกบางส่วน แต่ก็ยังน้อยกว่า
ต่อด้วยกลุ่มเพชรบูรณ์ ของสันติ พร้อมพัฒน์ และกลุ่มกำแพงเพชร ของวราเทพ รัตนากร ทั้งสองกลุ่มคือกลุ่มย่อย ต่างเคยทำงานกับรัฐบาลไทยรักไทย คุ้นเคยกับ “นายทักษิณ” เป็นอย่างดี
จะเห็นว่า ผู้เล่นหลักในพรรคพลังประชารัฐ แม้จะอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร แต่ส่วนใหญ่ก็ทำงานได้ดีกับรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส
ทําไมการออกมาท้ารบ “บ้านป่ารอยต่อฯ” ของนายทักษิณ จึงมีนัยยะสำคัญยิ่ง
เพราะนับตั้งแต่หลังเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าเป็นจังหวะ “ขาลง” ของการเมือง 3 ป.
พล.อ.ประยุทธ์ วางมือทางการเมือง ลงจากหลังเสือได้แบบไร้แรงต้าน ตรงกันข้ามกับ พล.อ.ประวิตร ที่ยังไม่สามารถลงจากหลังเสือได้ ยังอยู่ใน “วงจร” การเมือง
วันนี้เห็นได้ชัดว่า “เครือข่ายทางการเมือง” รอบ พล.อ.ประวิตร ที่สร้างมากับมือ ยังทำงานอยู่ ปฏิบัติการ 40 ส.ว.ยื่นฟันนายเศรษฐา ยิ่งสะท้อนว่า บ้านป่ารอยต่อฯ ยังไม่ปล่อยวางจากอำนาจง่ายๆ
คำถามคือ บ้านป่ารอยต่อฯ “ขยับทางการเมือง” ไปเพื่ออะไร?
การออกมาให้สัมภาษณ์เชิง “ท้ารบ” ของนายทักษิณ “คือร่อยรองของคำตอบ”
ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้อยู่ภายใต้การเปลี่ยนผ่าน ทุกสนามการเมืองเต็มไปด้วยการปะทะกันของกลุ่มอำนาจเก่า-กลุ่มอำนาจใหม่
การเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดขั้วอำนาจใหม่ “ก้าวไกล” เสี่ยงจะถูกยุบ หรืออาจจะเกิดปรากฏการณ์พรรคแตกรอบสอง
วันนี้แกนนำหลายคนออกมาพูดเรื่อง “งูเห่า” ในพื้นที่โซเชียลของตัวเอง ยิ่งเป็นการยืนยันว่า มีปฏิบัติการล่อซื้อจริง
ขณะที่รัฐบาลเพื่อไทยวันนี้ใครกล้ายืนยันว่าจะมีเสถียรภาพ รู้อยู่ว่า อนาคตของทักษิณ และรัฐบาลเพื่อไทยอยู่ในกำมือองค์กรอิสระ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด
ขณะที่ความนิยมทางการเมืองของพรรครัฐบาลก็ดิ่งตกต่ำ สะท้อนผ่านผลโพลเร็วๆ นี้ของสถาบันพระปกเกล้า คะแนนนิยมฝ่ายค้านพุ่งพรวด ของรัฐบาลดิ่งเหว
หรือสะท้อนผ่านนิด้าโพลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าคนจำนวนมากไม่พอใจผลงานรัฐบาลรอบ 9 เดือน
ยิ่งกระบวนการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ ยิ่งส่งเสริมให้เกิด “ความไม่ไว้วางใจ” ในปีกอนุรักษนิยมไทย ด้วยความกังวลว่าเครือข่าย “บ้านใหญ่” และ “เครือข่ายฝ่ายก้าวหน้า” จะเข้ามานั่งเก้าอี้สภาสูง
ปฏิบัติการเตะตัดขารัฐบาลเพื่อไทยจึงเกิดขึ้น
พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เพราะไม่มีช่วงเวลาไหนนับตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2566 ที่เอื้ออำนวยให้ “คนบ้านป่าฯ” ขนาดนี้
วันนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายอำนาจเก่า ปีกอนุรักษนิยมไทย ไม่มี “ผู้เล่น” สนามการเมืองในระบบดีพอ เหลือที่พึ่งเดียวคือองค์กรอิสระ
เมื่อสุดท้ายขั้วอำนาจเก่ากลุ่มหนึ่ง เลือกใช้กระบวนการ “นิติสงคราม” ต่อฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง การต่อต้านจึงเกิดขึ้น
ทักษิณมองเห็นจุดนี้ โดนมากับตัวเยอะแล้ว สัญญาณทำสงครามจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ถึง “การเมืองเครือข่ายบ้านป่ารอยต่อฯ” จึงเกิดขึ้น
แต่เป็นสัญญาณที่น่าสนใจ เป็นจังหวะจะโคนในอารมณ์ของคนที่ “ไม่ได้กลัว” การเมืองลี้ลับอีกแล้ว
“ษิณเหนือ” ขยับแล้ว จากนี้ไปจึงต้องจับตาว่า กองทัพเพื่อไทยจะแก้ต้นตอปัญหา “ผลไม้พิษ” หรือไม่
และ “เสือป้อม” จะแอ๊กชั่นอย่างไร
ในบริบทของประเทศที่องค์กรอิสระ นับวันยิ่ง “ปรากฏตัวชัดขึ้นเรื่อยๆ” ในการทำตามเป้าประสงค์ของผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ 2560
และในบริบทที่เศรษฐกิจประเทศอยู่ในภาวะ “ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี” อยู่ขณะนี้
ยิ่งคิดยิ่งน่าห่วง…
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

