เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)

นอกจาก ‘ผ้านอกที่ใช้ขนสัตว์เป็นส่วนประกอบ’ เช่น ‘ขนสมุน’ ที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กวีสมัยอยุธยาทรงพรรณนาว่า

“๏ เห็นสมุนเจ้าอุ่นเนื้อ คิดสมุนเสื้อเมื่อซับทรง

ขนกลับเข้ากับองค์ เสื้อริ้วทองปล้องน้อยงาม ฯ

ยังมี ‘ส่าน’ หรือ ‘ผ้าส่าน’ ที่หนังสือ “บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ” เล่ม 1 อธิบายว่า

“ผ้าส่าน ในปทานุกรมแปลว่า ผ้าขนสัตว์โบราณ ผ้าเปลือกไม้โบราณ ผ้าส่านนั้นข้าพระพุทธเจ้าเดาว่า จะเป็นผ้าที่มีราคาเป็นของที่นิยมกันมาแต่ก่อน ในภาษาเปอร์เซียมีผ้าชะนิดหนึ่งเรียกว่า Shal ว่าเป็นผ้าทอด้วยขนอูฐปนไหมซึ่งเป็นผ้าของแขก ต่อมาเปลี่ยนเป็นทอด้วยขนแกะหรือขนสัตว์อื่นๆ ปนไหมหรือฝ้ายก็ได้ ซึ่งในภาษาฝรั่งเรียกว่า Camlet คำนี้เสียงใกล้กับคำ ‘กำมหลิด’ ในภาษาไทย บางทีจะโดยเหตุที่เรียกชื่อ ผ้าส่าน เป็น ผ้ากำมหลิด เสียแล้ว เพราะลักษณะของผ้าได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของวิชาช่าง คำว่า ‘ส่าน’ จึงได้สูญไปทั้งชื่อและผ้า” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

อย่างไรก็ดี คำว่า ‘ส่าน’ ซึ่งไม่มีใช้ในสมัยปัจจุบัน ยังมีบันทึกอยู่ในหนังสือเก่าๆ อาทิ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5

“ส่าน, เปนชื่อผ้าอย่างหนึ่ง เขาธอด้วยฃนสัตวมีราคาแพง เขาเอามาแต่เมืองเทษ

ห่มส่าน, คือเอาผ้าส่วนที่เขาเอามาแต่เมืองเทษ, มาคลุมตัวเข้านั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เมืองเทษ ในที่นี้ คือ เมืองเทศ หรือต่างประเทศ นั่นเอง

 

กาญจนาคพันธุ์ ได้ให้รายละเอียดที่ต่างกันอยู่บ้างไว้ในหนังสือเรื่อง “ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์” เล่ม 1 ว่า

“คำว่า ‘ชาล’ เป็นคำเปอร์เซีย และฮินดูใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่ง แต่เป็นผ้าชนิดเนื้อละเอียดอ่อนนุ่มที่สุด เท่าที่สอบค้นดู ได้ความว่า ทำจากขนแกะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในทิเบตและเอเชียกลาง แกะนี้มีขนสองชั้น ชั้นนอกเป็นขนหยาบ ชั้นในเป็นขนละเอียดอ่อนนุ่มเหมือนเส้นไหม แกะตัวหนึ่งเมื่อสางเอาขนหยาบออก จะได้ขนเส้นไหมนี้หนักราว 150 กรัม (ประมาณทองหนักราว 10 บาท) เอาขนเส้นไหมนี้มาทอทำเป็นผ้าสำหรับห่มอุ่นดีที่สุด ความละเอียดอ่อนนุ่มของผ้าชาลนี้ เมื่อทอขึ้นเป็นผืนผ้าห่ม ขนาดกว้างหลาครึ่ง ยาวสองหลาครึ่ง จะสามารถลอดวงแหวนที่ใส่นิ้วไปได้สบาย คำว่า ‘ชาล’ ของแขกนั้น ออกเสียงอย่างแขกเป็น ‘ซาล’ ได้ ลางทีคำว่า ‘ชาล’ หรอ ‘ซาล’ นี้เอง จะมาเป็น ‘ส่าน’ ของไทย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ไม่ว่า ‘ชาล’ หรือ ‘ซาล’ ที่แต่เดิมจะเป็นผ้าทอจาก ‘ขนอูฐปนไหม’ (บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม 1) หรือทอจาก ‘ขนอูฐชั้นใน’ (ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม 1) ก็ตาม ล้วนเป็นผ้าต่างประเทศที่ทอมาจากขนสัตว์ทั้งนั้น

อาจกล่าวได้ว่า ชาล ซาล หรือส่าน เป็นผ้าแขกที่มีบทบาทในสังคมไทยสมัยก่อน

ดังที่กวีกล่าวถึงคำว่า ‘ส่าน’ ไว้ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง อาทิ “เพลงยาวแต่งว่าจมื่นราชามาตย์”

‘จมื่นราชามาตย์’ นั้นต่อมาคือ ‘พระยามหาเทพ (ทองปาน)’ เนื้อความในเพลงยาวนี้ชี้ถึงอิทธิพลของจมื่นราชามาตย์ ข้าราชการในกรมพระตำรวจที่ถือตัวว่ารับใช้ใกล้ชิดเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ จึงแสดงอำนาจราชศักดิ์ของตนต่อหน้าคนทั้งหลาย ดังที่กวีบรรยายว่า

“เขาชมบุญเรียกเจ้าคุณราชามาตย์ แต่ร้ายกาจเกือบยักษ์มักกะสัน

ลงนั่งยังนาวาเหมือนชาละวัน ขึ้นบกตกมันเหมือนสิงทอง

จะเข้าวังตั้งโห่เสียสามหน ตรวจพลอึกกธึกกึกก้อง

ห่อผ้ากาน้ำมีพานรอง หอกสมุดชุดกล้องร่มค้างคาว

นุ่งปูมเขมรใหม่วิไลยเหลือ สวมเสื้อได้ประทานห่มส่านขาว”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่า ‘จมื่นราชามาตย์’ มีท่าทางกร่างคับฟ้า จะไปไหนทีต้องทำให้อึกทึกครึกโครมเอิกเกริกเกินยศศักดิ์ แต่งตัวอวดชาวบ้านก็ต้องให้เด่นเป็นสง่าด้วยผ้าชั้นดีมีราคาที่ได้รับพระราชทานมา ดังข้อความว่า “นุ่งปูมเขมรใหม่วิไลยเหลือ สวมเสื้อได้ประทานห่มส่านขาว” แทนที่จะเอาไว้ใช้เฉพาะเวลาเข้าเฝ้า

 

“พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ ของศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ (ราชบัณฑิต) ที่สำนักพิมพ์เมืองโบราณจัดพิมพ์ อธิบายเกี่ยวกับ ‘ผ้าปูมเขมร’ ไว้โดยละเอียดว่า เป็นผ้ามัดหมี่ของเขมรที่ราชสำนักสยามสั่งซื้อเข้ามาเป็นผ้านุ่งของขุนนาง เป็นผ้าขนาดใหญ่ กว้างและยาวมาก มักมีเชิงคล้ายผ้าปาโตลาของอินเดีย บางทีเรียกว่า สมปัก หรือสองปัก ภาษาเขมรหมายถึง ผ้านุ่ง ผ้าปูมเขมรที่สั่งเข้ามาจะพระราชทานให้ตามยศ เช่น สมปักปูม สมปักกรวยเชิง สมปักล่องจวนที่มีพื้นสีขาวสำหรับพราหมณ์นุ่ง”

ทั้งผ้านุ่ง เสื้อและผ้าที่ใช้ห่มของจมื่นราชามาตย์ล้วนเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์พระราชทานทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต่างจากที่สามพ่อลูกในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ได้รับพระราชทานในวาระต่างๆ กัน กวีบรรยายถึงขุนแผน พลายงาม และพลายชุมพล ดังนี้

ก่อนที่ขุนแผนและพลายงามจะยกทัพไปทำศึกกับพระเจ้าเชียงใหม่ สมเด็จพระพันวษาได้พระราชทานเสื้อผ้าสมฐานะและเกียรติยศ

“แล้วจึงตรัสสั่งคลังวิเศษ ให้จัดเสื้อโหมดเทศอย่างก้านแย่ง

แพรจีนดวงพุดตาลส่านสีแดง ทั้งสมปักตามตำแหน่งขุนนางใน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

หนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 1 ให้ความรู้โดยละเอียดเกี่ยวกับผ้าโหมดว่า

“โหมด มีหลักที่ทำด้วยกระดาษทองตัดเปนเส้นเหมือนเส้นทองแล่งทอกับไหม แล้วก็เรียกแยกไปตามสีไหม เปนโหมดเหลือง โหมดแดง โหมดเขียว ภายหลังมีผ้าทำมาอย่างใหม่ เอากระดาษทองพันเส้นไหมทอกับไหมสีเปนลายเหมือนแพรลายทอง ถ้าทำมาแต่อินเดียเรียกว่าโหมดเทศ ถ้าทำมาแต่ญี่ปุ่นเรียกโหมดญี่ปุ่น คงเปนหลักอยู่ที่ทำด้วยกระดาษแล้วเรียกโหมดทั้งนั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ในที่นี้ทั้ง ‘เสื้อโหมดเทศ’ ‘แพรจีน’ ‘ส่านสีแดง’ และ ‘สมปัก’ หรือผ้าปูมเขมร ล้วนเป็นของพระราชทานตามยศขุนนาง เนื่องจากเป็น ‘สินค้านอก’ ราคาสูง ราชสำนักสั่งมาจากต่างประเทศโดยตรง เพื่อใช้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศของขุนนาง นอกจาก ‘จมื่นราชามาตย์’ แล้ว ก็ยังมี ‘ขุนแผน’ ‘พลายงาม’ ซึ่งได้รับพระราชทานอีกครั้งหลังทำความดีความชอบร่วมกันรบชนะศึกเมืองเชียงใหม่ ขุนแผนได้เป็นพระสุรินทฦาไชย ครองเมืองกาญจนบุรี

“ให้เป็นที่พระสุรินทฦาไชย มไหสูรย์ภักดีมีสง่า

แล้วตรัสสั่งพระคลังในมิได้ช้า เติมเงินตราสิบห้าชั่งเป็นรางวัล

ทั้งเสื้อผ้าสมปักปูมส่าน พระราชทานมากมายหลายหลั่น”

ส่วนพลายงามได้เป็นจมื่นไวยวรนารถ

“ให้เป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรข้างฝ่ายขวา

พระราชทานเครื่องยศแลเงินตรา ปูมส่านเสื้อผ้าสารพัน”

ไม่ต่างจากพลายชุมพลมีความดีความชอบปราบจระเข้เถนขวาดได้ สมเด็จพระพันวษาพระราชทานยศและทรงมอบหมายให้จมื่นไวยพี่ชายไปดูแล

“ให้มันเป็นที่หลวงนายฤทธิ์ จะเอาไว้ใช้ชิดอยู่กับกู

กรมเมืองทหารในไปจัดการ หาที่บ้านปลูกเรือนให้มันอยู่

อ้ายไวยเอ็งไปช่วยแลดู มันหนุ่มนักจักไม่รู้เรื่องเรือนชาน

แล้วจึงตรัสสั่งชาวคลังใน จัดผ้าสมปักไหมสไบส่าน

ทั้งเงินตราห้าชั่งตั้งใส่พาน พระราชทานแล้วเสด็จขึ้นข้างใน”

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ยังมีตัวละครสำคัญที่โปรดปรานการห่มส่านเป็นที่สุด

ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ