

หลายคนอาจรู้จัก “จอน อึ๊งภากรณ์” (2490-2568) ในฐานะเอ็นจีโอที่ทำงานพัฒนาสังคมหลากหลายด้านอย่างแข็งขันกระตือรือร้นมาตลอดชีวิต
บ้างอาจรู้จักเขาในฐานะสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง (จริงๆ) ของประชาชน ตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
และหลายคนก็รู้จักเขาในฐานะบุตรชายของ “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์”
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสถานภาพหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ค่อยรับทราบกันมากนัก นั่นคือ อาจารย์จอนเคยมีสถานะเป็น “คนทำหนัง” ด้วย
ย้อนไปในช่วง “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้เกิดการนัดหยุดงานของ “กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า” เมื่อเดือนตุลาคม 2518 ซึ่งเรียกร้องให้นายจ้างขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการของคนทำงาน
แต่ฝ่ายนายจ้างไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและตัดสินใจไล่ผู้ประท้วงออกจากงาน เหตุการณ์จึงบานปลายกลายเป็นการยึดโรงงานของบรรดาลูกจ้าง แล้วเปลี่ยนชื่อโรงงานเป็น “สามัคคีกรรมกร” โดยขายหุ้นให้แก่ประชาชน ส่วนคนงานก็ผลิตเสื้อผ้าออกมาจำหน่ายเองในราคาถูก
ในระหว่างนั้น มีอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวน 4 คน ได้นำกล้องถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นแบบ “ซูเปอร์ 8” (ใช้ฟิล์ม 8 ม.ม. ในการถ่ายทำ) ไปตามบันทึกภาพและสัมภาษณ์กรรมกรหญิงที่โรงงานฮาร่า
จนเกิดเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังไทย ซึ่งรู้จักกันในนาม “การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า” (Hara Factory Workers Struggle)
โดยหนึ่งในผู้สร้างและถ่ายทำหนังสารคดีความยาว 55 นาทีเรื่องนี้ รวมถึงเป็นเจ้าของกล้องถ่ายภาพยนตร์ด้วย ก็ได้แก่ “จอน อึ๊งภากรณ์” นั่นเอง
อาจารย์จอนเคยเล่าเอาไว้ใน “งานวันหนังบ้าน” ซึ่งจัดขึ้นที่หอภาพยนตร์ ศาลายา เมื่อปี 2558 ว่า ตนเองเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่คุณแม่ (มาร์เกรท อึ๊งภากรณ์) เป็นคนชอบถ่ายหนังด้วยกล้อง 8 ม.ม. แบบสแตนดาร์ด
ต่อมา ในช่วงวัยหนุ่มจึงได้ทราบว่ามีกล้องถ่ายหนังในแบบ “ซูเปอร์ 8” จึงขอให้คุณพ่อ ซึ่งกำลังเดินทางไปต่างประเทศ ช่วยซื้อกล้องถ่ายหนังประเภทนี้มาให้
เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน อาจารย์ป๋วยก็นำกล้องซูเปอร์ 8 ยี่ห้อ “ซังเคียว” (Sankyo) มูลค่าประมาณสี่พันบาท มาฝากลูกชายคนโต
เวลานั้น อาจารย์จอนทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว และเป็นสมาชิกของ “กลุ่มอาจารย์ 6 สถาบัน” ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาและติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง
แล้วในที่สุด กล้องถ่ายหนังสมัครเล่นจาก “บ้านอึ๊งภากรณ์” ก็มีโอกาสได้ปฏิบัติภารกิจครั้งสำคัญ ดังเรื่องเล่าที่ว่า
“เพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ชื่ออาจารย์สุดาทิพย์ อินทร เป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์สมัยนั้น เชิญผมเข้าไปดูในโรงงานฮาร่า ซึ่งน่าสนใจมาก
“เข้าไปดูแล้วคนงานเขาจัดระบบการผลิตของเขาเอง แล้ววันเสาร์อาทิตย์ เขาจะไปขายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขายกางเกงยีนส์ คล้ายๆ แบบเดียวกับที่เขาเคยผลิตให้กับนายจ้าง แต่สมัยนั้นเขาถูกนายจ้างรังแกหลายอย่าง
“ผมเลยร่วมกับอาจารย์สุดาทิพย์ และก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ท่าน อาจารย์สมโภชน์ กับอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ร่วมกันผลิตหนังเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีประสบการณ์มาก่อน ถ้าดูการตัดต่อ ดูอะไรต่ออะไร ก็จะเห็นว่าเป็นแบบสมัครเล่นมากๆ เลยนะครับ แต่คิดว่า ประโยชน์อยู่ที่ว่าอย่างน้อยได้เก็บบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
“ส่วนตัว (ฟิล์ม) หนังนั้น ถ้าจำไม่ผิดจะต้องไปส่งที่โกดัก สมัยนั้นผมเข้าใจว่าล้างที่ออสเตรเลีย แล้วกลับมายังไงผมก็จำไม่ได้ว่า เข้าไปรับที่ร้านหรือเขาส่งถึงบ้าน
“หลังจากนั้น ผมได้ขอคุณพ่อช่วยหาเครื่องตัดต่อ เครื่องฉาย ซึ่งมันแพงกว่ากล้องนะครับ เครื่องฉาย เครื่องตัดต่อนั้นราคาเข้าใจว่าเกือบหนึ่งหมื่นบาทในสมัยนั้น ตอนนี้ก็คงเป็นสองสามหมื่นบาท แต่อย่างน้อยก็ถือว่าสามารถที่จะพอซื้อได้ ถ้าเทียบกับเครื่อง 16 ม.ม. หรืออย่างอื่น คงไม่มีปัญญาที่จะใช้ และผมก็ได้ร่วมกับอาจารย์อีก 3 ท่าน ตัดต่อหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
“ผมเป็นคนตัดต่อเป็นหลัก ส่วนการสัมภาษณ์นั้นอาจารย์สุดาทิพย์เป็นคนดูแล เขาเป็นคนเตรียมกับคนงาน ว่าจะถามอะไรบ้าง ก็สัมภาษณ์ไป ด้านอาจารย์ลาวัณย์ อาจารย์สมโภชน์ จะช่วยกันเรื่องสคริปต์ แล้วอาจารย์สมโภชน์ก็เป็นคนอ่าน เป็นผู้บรรยายในภาพยนตร์”
นั่นนำมาสู่เนื้อหาช่วงแรกของหนังสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งผู้สร้างเคยมีโอกาสนำไปจัดฉายให้บรรดากรรมกรหญิงได้ดูกันถึงในพื้นที่โรงงาน
ต่อมา ในวันที่ 13 มีนาคม 2519 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมนักศึกษาและกรรมกรที่โรงงานฮาร่า เพื่อทำการยึดโรงงานคืน หลังจากนั้น อาจารย์จอนและเพื่อนๆ จึงได้กลับไปสัมภาษณ์บรรดาคนงานอีกรอบ นำมาสู่เนื้อหาช่วงที่สองของหนัง
ด้วยบรรยากาศบ้านเมืองแบบ “ขวาพิฆาตซ้าย” ที่ตึงเครียดหนักขึ้น กระบวนการผลิตหนังสารคดีส่วนหลังจึงดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น ดังที่อาจารย์จอนถ่ายทอดประสบการณ์ไว้เมื่อ 10 ปีก่อนว่า
“สมัยนั้นมันมีบรรยากาศเหมือนกันนะ ผมไม่สะดวกตัดต่อที่บ้าน ก็ไปตัดต่อที่บ้านเพื่อน แต่บ้านเพื่อน พอเขาเริ่มมาเห็นว่าเป็นเรื่องอะไร เขาก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะระหว่างตัดต่อเสียงมันออก คือมันจะได้ยินเสียงตลอดเวลาตัดต่อ รู้สึกจะต้องไปตัดต่อรวมทั้งหมดสองสามที่”
แม้หนังสารคดีเรื่อง “การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า” จะปิดฉากลงด้วยภาพบรรดาคนงานหญิงร่วมกันร้องเพลงปลุกใจตนเอง แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครได้กลับเข้าทำงานในโรงงานดังกล่าว
ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาอุบัติขึ้น ชะตากรรมที่บรรดากรรมกรหญิงเหล่านั้นต้องพบเจอ ก็มีความผิดแผกแตกต่างกันไป คือมีทั้งคนที่ตัดสินใจเข้าป่าไปต่อสู้ และมีคนที่ต้องเดินหน้าหาเลี้ยงชีพด้วยงานใหม่ในเมือง
กระทั่งครอบครัว “อึ๊งภากรณ์” เอง ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นอย่างที่หลายคนทราบกันดี
อาจารย์ป๋วยผู้ซื้อกล้องถ่ายหนังมาฝากลูกชาย ต้องลี้ภัยไปพำนักที่ประเทศอังกฤษจนถึงแก่กรรมเมื่อปี 2542 ส่วนอาจารย์จอนก็ต้องอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลาร่วมสี่ปี ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทยใน พ.ศ.2523
เมื่อกลับถึงบ้าน อาจารย์จอนจึงได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ที่ตนเองเคยถ่ายเอาไว้ ส่วนกล้อง “ซูเปอร์ 8” ที่มีโอกาสใช้ถ่ายหนังเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็หายสาบสูญไป หลังจากผู้เป็นเจ้าของได้ฝากมันไว้กับนักศึกษาคนสนิทก่อนออกเดินทางจากประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในอีกกว่าทศวรรษถัดมา ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า” กลับไม่เคยได้ออกฉายในวงกว้าง มีแค่เนื้อหาบางส่วนของหนัง ซึ่งถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์สารคดีญี่ปุ่นเรื่อง “They Will Never Forget” (พ.ศ.2520) ที่บอกเล่าบรรยากาศการเมืองไทยระหว่างปี 2516-2519
ต้องรอจนกระทั่งปี 2537 นักวิชาการด้านแรงงานอย่าง “ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา” จึงแนะนำการมีอยู่ของหนังเรื่องนี้ ให้ทีมงานหอภาพยนตร์ได้รับทราบ
ก่อนที่ผลงานหนังสารคดีของ “จอน อึ๊งภากรณ์” และเพื่อนๆ จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อ พ.ศ.2555 •
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากบทความ “จอน อึ๊งภากรณ์ กับเบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า” โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู เว็บไซต์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) https://fapot.or.th/main/news/266
ผู้สนใจสามารถรับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า“ ได้ทางช่องยูทูบ Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022