
เสียงเตือนจากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จากเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ถึงเกมตั้งรับพายุสงครามการค้า

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ
เสียงเตือนจากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ
จากเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ถึงเกมตั้งรับพายุสงครามการค้า
สงครามการค้ารอบใหม่ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้นโยบาย “Make America Great Again” ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่หวนคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง และประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ รวมถึงประเทศไทย ที่นอกจากจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% แล้ว ยังมีภาษีตอบโต้อีก 36%
แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงที่สหรัฐผ่อนปรนให้ประเทศต่างๆ โดยชะลอการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้เกิดการเจรจา แต่ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น และท่าทีที่พร้อมเปลี่ยนไปมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้การประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำได้ค่อนข้างยาก
โดยภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง “พื้นที่ทางการคลัง” ที่ตึงมากขึ้น “กระสุน” นโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีไม่มาก แถมถูกเตือนจาก “มูดี้ส์” ที่ปรับมุมมอง (Outlook) แนวโน้มเครดิตประเทศไทย จากคงที่เป็นเชิงลบนั้น
มุมมองจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในบริบทนี้ ประเทศไทยจะต้องทำตัวให้ถูกต้องและขาวสะอาด โดยมูดี้ส์เน้นถึงการดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคอย่างมั่นคงและรอบคอบ ยึดความถูกต้องและทำตามกติกา กฎระเบียบ ดังนั้น เรื่องกาสิโน มีความเสี่ยง หากทำให้ภาพของประเทศไทยเป็นสีเทามากขึ้น
“ถ้าเลือกระหว่าง Entertainment Complex กับ Wellness อาจจะเลือก Wellness เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มและมีผลต่อเศรษฐกิจสูง และความเสี่ยงน้อย โดย Entertainment Complex มีหลายมิติ โจทย์ตอนนี้ไม่ใช่แค่จำนวนคน เพราะนักท่องเที่ยวมีทางเลือก แต่กาสิโนมีความเสี่ยง”
รวมไปถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐที่ทบทวนความเหมาะสมเรื่องนี้ เพราะในยามนี้ บนสถานการณ์ที่เปลี่ยน บวกกับสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทย การทำนโยบายต่างๆ ต้องเน้นความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่ดี ภายใต้ขีดความสามารถด้านการเงินและการคลังที่มีจำกัดมากขึ้น
“ความเห็นเราคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยสื่อสาร คิดว่าโครงการนี้จะต้องดูในเรื่องความคุ้มค่า ประสิทธิผลให้ดี และยิ่งยามนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนไป มีความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา”
สําหรับผลกระทบจากสงครามการค้านั้น ดร.เศรษฐพุฒิประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเจอช็อกแน่นอน และจะชะลอตัวลง เพียงแต่ช็อกอาจจะไม่ลึกเท่าครั้งก่อนๆ แต่การฟื้นตัวจะใช้เวลา ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ที่ต้องใส่ใจ คือ 1. ช่วงเศรษฐกิจกำลังจะลง ต้องดูว่าจะลงลึกแค่ไหน 2. ช่วงจุดต่ำสุด 3. ช่วงการฟื้นตัว และ 4. หลังพายุผ่านไป
โดยช่วงแรก คือ เศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอน รู้ว่าพายุกำลังมา แต่ยังไม่เห็นตัวเลขชัดเจน ต่อมาช่วงที่สอง คือ การเจรจา ไม่ใช่แค่กับสหรัฐ แต่มีหลายประเทศ และต้องใช้เวลา ปกติใช้เวลาเป็นปี จึงเป็นตัวถ่วงการลงทุน ซึ่งจุดต่ำสุดคงไม่เห็นเร็วกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2568 เพราะใช้เวลารอความชัดเจน
“ความลึกของช็อกจะไม่เท่ากับช็อกครั้งก่อนๆ เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2551 ที่ส่งออกของไทยลดลง 13% แต่รอบนี้สมมุติฐานคาดว่าส่งออกจะหดตัว 1%
แต่ไม่ควรชะล่าใจเกินไป แล้วก็ไม่ควรตกใจเกินไป แต่สมมุติฐานหากเกิดสงครามการค้าเต็มที่ จะเห็นเศรษฐกิจลงลึกกว่า แต่ก็มีคนคิดว่าการเก็บภาษีเกิน 100% เป็นไปไม่ได้ เพราะภาคการผลิตของสหรัฐพึ่งพาสินค้าขั้นกลางของจีนถึง 46% ดังนั้น โอกาสเกิดสงครามการค้าแบบเต็มที่คงไม่เกิดขึ้นแน่ แต่การเก็บภาษี 10% ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว และยังไงเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกคงต้องลง”
ขณะที่ช่วงที่สาม คือ การฟื้นตัว จะใช้เวลาค่อนข้างยาวกว่าช่วงแรก เพราะเป็นการปรับตัวของซัพพลายเชน จึงต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะการปรับตัวไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่าย
และช่วงที่สี่ คือ หลังพายุผ่านไป หากไม่ปรับตัว การเติบโตจะต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดช็อก เพราะนโยบายภาษีทำให้การค้าโลกชะลอลง ซัพพลายเชนปรับเปลี่ยน จะบั่นทอนประสิทธิภาพ ทำให้การเติบโตของโลกและไทยชะลอลง
“ถ้าไทยไม่ปรับตัวโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่าในอดีตมีค่อนข้างสูง แต่ก็ควรใช้จังหวะนี้ในการปรับตัว ทำให้โอกาสเติบโตสูงกว่าช่วงก่อน ก็มี”
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายในการรับมือผลกระทบ จะต้องเอื้อให้มีการปรับตัวได้เร็วขึ้น และเอื้อต่อการปรับตัวในระยะยาว หลังพายุผ่านไป เพื่อให้สามารถเติบโตได้ดีกว่าเดิม ดังนั้น มาตรการที่ออกไม่ควรเป็นลักษณะการปูพรม เพราะแต่ละเซ็กเตอร์ผลกระทบแตกต่างกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่ห่วงที่สุด คือ สินค้าทะลักเข้าไทย ซึ่งจะมีผลกระทบหลากหลายรูปแบบ อย่างเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 0.8% มีเอสเอ็มอี 1.2 แสนราย ผลิตและจ้างงานกว่า 4 แสนคน รูปแบบบริษัทรายเล็กๆ มีความเปราะบางสูง ดังนั้น มาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบต้องแตกต่างกัน เป็นมาตรการเชิงการค้า มาตรการทุ่มตลาด หรือมาตรการบังคับมาตรฐานเพื่อบรรเทาสินค้าทะลักเข้าไทย
ถ้าตัวเลขจีนส่งออกไปสหรัฐลดลง 20% แต่ตัวเลขส่งออกโดยรวมของจีนยังโตกว่า 8% ไม่รู้ว่าโตจากไหน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัด ดังนั้น มาตรการที่ใช้คงไม่ใช่มาตรการกระตุ้น แต่ต้องเป็นมาตรการที่กำหนดมาตรฐานสินค้า และคงไม่ใช่สินค้าจีนเท่านั้น แต่มีประเทศอื่นๆ ด้วย”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ธปท.ดำเนินการ ได้แก่
1. นโยบายการเงิน ซึ่งทำมาต่อเนื่อง โดยใช้นโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายอื่น อย่างที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อเนื่อง รองรับมุมมองเศรษฐกิจไปข้างหน้า อย่างไรก็ดี กระสุนมีจำกัดต้องใช้อย่างระมัดระวัง
2. ตลาดการเงิน ซึ่ง ธปท.มีการดูแลมาต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนสูงมาก
และ 3. มาตรการการเงิน ก็เป็นสิ่งที่ใช้อยู่ อย่างเช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนและหลังเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)
“ธปท.พร้อม ถ้ามีความจำเป็นที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ต้องดูผลกระทบออกมาในรูปแบบไหน หน้าตาแบบไหน ภาพตอนนี้เข้าใจว่าหนัก มัวหมอง และพายุกำลังมาชัดเจน ภาพมันทำให้เรารู้สึกหนักเป็นพิเศษ แต่มันเป็นเรื่องที่สะสมมา ตั้งแต่เจอโควิด-19 มาเจอค่าครองชีพสูง เราไม่เถียง เพราะเราโดนหลายด้าน สารพัดด้าน ภาคประชาชนเจอเรื่องหนี้ครัวเรือน เอสเอ็มอีอ่อนแอและมาเจอสินค้าจีนทะลัก ธปท.ก็พร้อม และหากมีความจำเป็น ก็จะออกมาตรการเพิ่ม”
ทั้งหมดนี้ เป็นเสียงจากผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับนโยบายการเงิน ที่ก็ต้องบอกว่า มีความสำคัญที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย ในการรับมือผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้ารอบนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


