

น่าสนใจไม่น้อยที่จู่ๆ เคนยา อากามา แห่งนิกเกอิ เอเชีย ก็หยิบเอาโครงการเอไอแชตบอต สัญชาติไทยมาพูดถึงไว้เมื่อ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่โครงการ Open ThaiGPT นี้ เริ่มต้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2023 ที่ผ่านมาโน่นแล้ว
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “เนคเทค” เริ่มโครงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยนี้ขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ.2565-2570) เมื่อเดือนเมษายน ปี 2023 ราวครึ่งปี หลังจากที่ OpenAI แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดตัว ChatGPT จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก
นิกเกอิ เอเชีย ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า โครงการ Open ThaiGPT นี้พัฒนาขึ้นมาภายใต้การทำงานของบรรดานักวิจัยหนุ่มสาวชาวไทยจำนวน 60 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และข้อมูลขนาดใหญ่ที่ยังเยาว์วัย เปี่ยมด้วยพลังแห่งการริเริ่มอะไรใหม่ๆ ไม่ต่างอะไรกับบรรดาสตาร์ตอัพทั้งหลาย
รูปแบบของภาษาที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนา คือ Llama 2 ผสานเข้ากับความช่วยเหลือจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ผลงานที่ได้คือ Open ThaiGPT ที่สามารถเผยแพร่ให้ใช้กันบนอินเตอร์เน็ต ได้โดยอาศัยคำสั่งที่เป็นภาษาไทย ภาษาท้องถิ่นของเราด้วยอีกต่างหาก
Open ThaiGPT มีขีดความสามารถในการตอบสนองได้ถึง 7,000 ล้านพารามิเตอร์ แต่นิกเกอิ เอเชีย ระบุว่า เป้าหมายของทีมภายใต้การสนับสนุนของเนคเทค คือ 13,000 ล้านพารามิเตอร์ และ 70,000 ล้านพารามิเตอร์ ในที่สุด
สิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการนี้ ก็คือ “อับดุล” แชตบอตภาษาไทยที่มีการเผยแพร่เบื้องต้นออกมา เพื่อให้องค์กรธุรกิจได้ใช้งานกัน รายงานของนิกเกอิ เอเชีย ระบุเอาไว้ว่า เมื่อถามว่า อาหารจานเด็ดที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของไทยคืออะไร คำตอบที่ได้จากอับดุลก็คือ “ต้มยำกุ้ง”
“อับดุล” ยังสามารถช่วยให้ใครที่สงสัยว่าจะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างไรถึงจะหนีรถติดในกรุงเทพฯ ได้ดีที่สุด
ที่สำคัญก็คือ นิกเกอิ เอเชีย ทดสอบผลลัพธ์ที่อับดุลให้ออกมา เปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้จากการถามคำถามเดียวกันต่อ ChatGPT แชตบอตสัญชาติอเมริกันเป็นภาษาอังกฤษ ปรากฏว่า คล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง
คำถามก็คือว่า แล้วทำไมเราถึงต้องมี “อับดุล” และต้องลงทุนพัฒนา Open ThaiGPT ออกมากันแน่
คำตอบก็คือ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่มีทั้งทุนและกำลังเงินมหาศาลอย่างเช่น กูเกิล หรือเมทา หรือแม้กระทั่งไมโครซอฟต์ ที่เป็นผู้ลงทุนรายสำคัญอยู่ใน OpenAI
หากโครงการ Open ThaiGPT ล้มเหลว ไม่สามารถรังสรรค์อะไรขึ้นมาได้ ไทยก็เสี่ยงที่จะตกอยู่ภายใต้การอิทธิพลของยักษ์ใหญ่ทั้งหลายชนิดไม่สามารถกระดิกตัว และสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นไทยไปในที่สุด
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการเนคเทค บอกกับนิกเกอิ เอเชีย ไว้อย่างมั่นใจว่า การต้องพึ่งพาแอพพลิเคชั่นเอไอจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ที่ยึดถือ “ผลประโยชน์ของต่างชาติ” เป็นหลัก จะทำให้บรรดาบริษัทเหล่านี้สามารถยึดกุม “ข้อมูล” ทั้งหลายแหล่ รวมไปถึงการครอบงำตลาดของไทยอยู่ในกำมือไปโดยปริยาย ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน
นิกเกอิ เอเชีย ชี้เอาไว้ว่า บรรดาบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าจะพาเหรดกันเข้ามายึดหัวหาดในประเทศไทยกันขนานใหญ่ เห็นได้ชัดระหว่างการเดินทางทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ สัตยา นาเดลลา ที่รวมถึงการแวะเยือนประเทศไทย ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สัตยาก็พูดถึงแผนที่จะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นภาษาท้องถิ่นในประเทศไทยเอาไว้
นิกเกอิ เอเชีย ระบุว่า ในการประเมินของ เอ.ที. เคียร์นีย์ บริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา การเผแพร่แชตบอตเอไอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายถึงจับจ้องมองมาเช่นนี้
กรณีของ “อับดุล” จึงเป็นการบุกเบิกและบททดสอบที่ดี สำหรับเป็นตัวอย่างให้กับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ว่า สามารถเป็น “ตัวของตัวเอง” ในด้านนี้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นได้หรือไม่นั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



