
‘พิชัย’ แก้ปมเศรษฐกิจ จูนนโยบายการคลัง-การเงิน เร่งลงทุน-สางปัญหาหนี้ครัวเรือน

นับเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่ “นายพิชัย ชุณหวชิร” เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำทัพขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่น ทั้งเศรษฐกิจในภาพรวม และการลงทุนในตลาดทุน รวมถึงการแก้โจทย์เศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง จนทำให้ศักยภาพการเติบโตลดลง
นายพิชัยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าแย่มาก โดย 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงโควิดเติบโตเหลือ 0.4% และปีที่แล้วขยายตัว 1.9% ส่วนปีนี้ไตรมาส 1 อยู่ที่ 1.5% ทั้งธนาคารโลกและธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ปีนี้โต 2.4% แต่ส่วนตัวมองว่ายังมีเวลาทำงาน และอยากจะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ให้ขึ้นไปใกล้ๆ 3%
“การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ต้องใช้ 2 อย่าง คือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังควบคู่กัน และจะต้องสอดคล้องกัน เพราะนโยบายการเงินเมื่อกำหนดไปแล้วจะมีผลต่อค่าเงิน ดอกเบี้ย ซึ่ง 2 ตัวนี้จะมีผลต่อการส่งออก และมีผลต่อการลงทุนในตลาดทุนด้วย”
นายพิชัยกล่าวว่า ตอนนี้นโยบายการเงินและการคลังกำลังปรับจูนกันอยู่ หลายเรื่องก็เข้าใจเหตุผลที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องมีการคุยกันและหวังว่าจะทำงานร่วมกันได้ใกล้ชิดขึ้น มองเห็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคเหมือนกัน และร่วมกันแก้ไข เรื่องนี้ต้องแก้ไขให้ลุล่วง เพราะนโยบายการเงินสำคัญมาก
สิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เครื่องจักรเศรษฐกิจเดินได้ ต้องมีองค์ประกอบ คือ 1.ประชาชน คือผู้บริโภค เอสเอ็มอี 2.อุตสาหกรรมการผลิต และ 3.รัฐบาล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนมีปัญหา ภาครัฐบาลหนี้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านล้าน ปัจจุบันใกล้ 12 ล้านล้านบาทแล้ว ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีรายได้ไม่เพียงพอ เพราะเศรษฐกิจเติบโตต่ำ
“การจะผลักดันให้ประเทศเดินต่อ ‘ประชาชน’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ เร่งด่วนที่สุด และหนี้เอสเอ็มอีต้องเร่งแก้ไข โดยการแก้ไขปัญหามี 2 แนวทาง คือ 1.ทำให้ประชาชนมีภาระหนี้ลดลง โดยเริ่มจากใช้กลไกสถาบันการเงินของรัฐก่อน วันนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับโครงสร้างหนี้ให้ผ่อนยาวได้ถึงอายุ 80 ปี ข้าราชการบำนาญก็ให้ถึง 85 ปี ภาระหนี้ก็ลดลง 2.ให้ความยืดหยุ่นช่วง 1-2 ปีแรก โดยให้ผ่อนเงินต้นน้อยลง คือ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ภาระหนี้ประชาชนลดลง เพราะที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนไม่อยากถูกยึด”
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินก็มีการให้สินเชื่อราคาถูกดอกเบี้ย 0.01% วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อมาปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี คือ นอกจากจะแก้หนี้คนเก่าแล้ว ก็ต้องเติมเงินใหม่ให้ด้วย
นายพิชัยกล่าวว่า นอกจากการดำเนินการของแบงก์รัฐแล้ว อยากให้ขยายไปยังธนาคารพาณิชย์ด้วย โดยส่วนตัวเชื่อว่าตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็กำลังคิดแล้วว่าต้องกลับมาช่วยประชาชน เพราะตอนนี้ทั้งประชาชน-เอสเอ็มอี, ภาคผลิต และรัฐบาล 3 เสาหลักกำลังลำบาก แต่ธนาคารพาณิชย์เข้มแข็งมาก
“ตอนนี้แบงก์ BIS (อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง) สวยงาม ความเสี่ยงน้อย เข้มแข็งมาก ซึ่งต้องชมเชยคนที่กำกับดูแลทำให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี เมื่อแบงก์เข้มแข็งมาก การคิดกลับมาช่วยประชาชนน่าจะทำได้ เพราะย้อนไปช่วงที่เราเกิดต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ตอนนั้นคนที่เข้ามาช่วยคือรัฐบาล เข้ามาแบกรับทุกอย่างให้ ซึ่งยังค้างอยู่ทุกวันนี้ และจริงๆ คนที่มาใช้หนี้ก้อนนี้ไม่ใช่แบงก์ แต่เป็นประชาชนผู้ฝากเงิน เพราะดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 0.46% ถูกเก็บมาเพื่อคืนเงินก้อนนี้ เรียกว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งได้ทุกวันนี้ เพราะประชาชนมีส่วนช่วยอย่างมาก”
ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์อาจจะมีการช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังไม่เต็มที่ ก็ต้องปรับให้เต็มที่ คือ “ปรับให้รอด” เพราะตอนนี้หนี้ครัวเรือนเรียกว่าเป็น “วิกฤตชนิดหนึ่ง” คงต้องมาดูแลและช่วยเหลือกัน
นายพิชัยกล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนเป็นลำดับแรกๆ ต้องลงทุนเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ต้องตั้งงบประมาณเพื่อมาดูแล ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำภายใต้กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยต้องตั้งงบประมาณขาดดุลแบบเต็มเกณฑ์ เพราะมีความจำเป็น และหน้าที่ของนโยบายการคลัง คือ จะต้องใช้เงินกระจายให้ได้มากที่สุด
“วันนี้การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งภาครัฐต้องสร้างขีดความสามารถ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างภาคเกษตรที่มีปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย เรื่องการขนส่ง เรื่องการตลาด เรื่องราคา”
ขณะที่การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้คาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 4 โดยยืนยันไม่ได้ฝากความหวังไว้กับดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียว เพียงแต่ส่วนนี้จะเป็นการใส่เม็ดเงินลงไปเพื่อช่วยกระตุ้น แต่เรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ก็ต้องทำ ซึ่งก็คือการปรับโครงสร้าง เพื่อให้เพิ่มผลผลิต ทำโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ก่อน
ขุนคลังกล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่เติบโต แต่ต่างประเทศบูม ทำให้เกิดภาพเอกชนไม่ลงทุนในประเทศ แต่มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ บางบริษัทลงทุนเป็นแสนล้านบาท บางบริษัท 4-5 หมื่นล้านบาท เพราะว่ายังมองไม่เห็นโอกาสในประเทศไทย แต่วันนี้รัฐบาลเปิด ดึงการลงทุนต่างประเทศเข้ามา ก็หวังว่าธุรกิจไทยจะหันมามองการลงทุนในประเทศ ดึงการลงทุนกลับมา ซึ่งคาดว่าต่อไปการไปลงทุนต่างประเทศจะเริ่มแผ่วลง โดยจะเริ่มทิศกลับเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น
“เรื่อง FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) อย่างเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ ที่จะเข้ามาแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเข้ามาด้วย รวมถึงไปดูการลงทุนในพื้นที่ EEC ว่าจะสานต่ออย่างไร ติดอะไรอยู่ที่ตรงไหน โดยโครงการใหญ่ใน EEC คือ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และอู่ตะเภา ตอนนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ซึ่งต้องลงไปดูว่าทำอย่างไร จะต้องปรับรูปแบบอย่างไร เพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้การลงทุนในประเทศเกิด ซึ่งจะสอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศ”
สําหรับครึ่งปีหลัง จะเร่งเรื่องการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งคงเห็นความคืบหน้ามากขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรก็จะเห็นการใช้งบประมาณในการปรับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ แหล่งน้ำ ที่สำคัญสิ่งที่จะผลักดันได้เร็วที่สุดก็คือ การใช้งบประมาณ ซึ่งเป็น 1 ในเครื่องจักรที่เหลือเพียง 2 ตัว อีกตัวคือ การท่องเที่ยว
“เราต้องลงไปช่วยให้การเบิกจ่ายเร็วขึ้น โดยตั้งเป้างบฯ ปี 2567 ต้องเบิกจ่ายให้ได้ 70% จากที่ทีมงานตั้งมา 66% ถ้าทำท่าจะได้ 70% ก็จะพยายามให้ได้มากขึ้นไปอีก ให้เหมือนกับปกติที่ 75% ซึ่งงบฯ พวกนี้มีผล เพราะส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ลงไปปุ๊บก็จ้างแรงงานเลย ใช้เงินเลย ซื้อของเลย ตอนนี้ก็ติดตามเร่งรัดเบิกจ่ายทุกสัปดาห์”
ขุนคลังกล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็นภาพหลักๆ ที่จะทำ สั้น กลาง ยาว แต่อาจจะเห็นผลไม่ทันใจภายใน 1 ปี โดยการที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเมื่อไหร่นั้น ก็ต้องดูว่าสิ่งที่ปรับกลไกต่างๆ เอื้อต่อการให้คนมีความเชื่อมั่นได้ ซึ่งปัจจัยด้านความเชื่อมั่นก็มีหลายอย่าง เช่น ความเห็นที่แตกต่างในประเทศเริ่มลดลง จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ คิดว่าทุกอย่างจะค่อยๆ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022