โควิดกับการปิดตลาด

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเราจะพบข่าวการประกาศปิดตลาดในกรุงเทพมหานครจาก 10 สู่ 11 ตลาด อันเนื่องมาจากการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภายในชุมชนและตลาด ตามที่ กทม.ได้ประกาศออกมา

แต่การปิดตลาดจะมีลักษณะปิดเพื่อทำความสะอาด บางตลาดก็ปิดไม่นาน บางตลาดก็ปิดอยู่หลายวันทีเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ทราบรายละเอียดเช่นทำไมปิดในระยะเวลาไม่เท่ากัน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 พ.ค.64

1.ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน ปิดตั้งแต่วันที่ 14-24 พ.ค.64

Advertisement

2.ตลาดกลางดินแดง ปิดตั้งแต่วันที่ 12-21 พ.ค.64

3.ตลาดบางกะปิ ปิดตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค.64

4.ตลาดคลองเตย ปิดตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.-4 มิ.ย.64

Advertisement

5.ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน ปิดตั้งแต่วันที่ 18-20 พ.ค.64

6.ตลาดสดหนองจอก ปิดตั้งแต่วันที่ 19-31 พ.ค.64

7.ตลาดสายเนตร เขตคันนายาว ปิดตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค.64

8.ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตบางกอกน้อย ปิดตั้งแต่วันที่ 14-22 พ.ค.64

9.ตลาดลำนกแขวก เขตหนองจอก ปิดตั้งแต่วันที่ 19-21 พ.ค.64

10.ตลาดนัดผู้ใหญ่อ้วน เขตลาดพร้าว ปิดตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค.64 (ข้อมูล ณวันที่ 20 พ.ค.64)

ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 พ.ค.64

1.ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ ปิดถึงวันที่ 4 มิ.ย.64 (ขยายเวลาจากเดิมที่มีกำหนดปิดถึง 22 พ.ค.64)

2.ตลาดยอดพิมาน เขตพระนคร ปิดถึงวันที่ 4 มิ.ย.64

3.ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตบางกอกน้อย ปิดถึงวันที่ 4 มิ.ย.64 (ขยายเวลาจากเดิมที่มีกำหนดปิดถึง 22 พ.ค.64)

ส่วนหนึ่งของการประกาศนั้นอ้างถึงการแพร่ระบาดที่ยังมีการตรวจพบในตัวตลาดเอง จึงทำให้มีการขยายเวลาการปิดออกไป

เรื่องที่อยากจะชวนคุยในสัปดาห์นี้ไม่มีอะไรมากครับ อยากจะชี้ชวนให้เห็นว่าการปิดตลาดนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และเพิ่งจะมีการสนใจกันไม่นานมานี้เอง (หมายถึงในกรณีของกรุงเทพมหานคร) เพราะในรอบแรกไม่มีการปิดตลาด แต่มีการจัดการตลาดบางส่วนคือปิดตลาดนัด และมีกระบวนการคัดกรอง รวมทั้งทำความสะอาดตลาดกันเป็นการใหญ่

ส่วนในรอบที่สองนั้นมีการพูดถึงตลาดอาหารทะเลที่มหาชัยในฐานะแหล่งแพร่กระจายขนาดใหญ่ แต่ในกรณีกรุงเทพฯถ้าจำไม่ผิดการแพร่กระจายจะอยู่แถวตลาดบางแค

ในรอบที่สามนี้ (รอบที่สี่ที่เคยคาดการณ์ไว้คือมากับสายพันธุ์อินเดียนั้น ข่าวดีคือไม่มี ผมหมายถึงไม่มีรอบที่สี่ เพราะรอบที่สามยังไม่หมด ก็จะพบว่าเชื้อจากอินเดีย และแอฟริกาที่คาดว่าจะมาในระลอกที่สี่และห้าก็มารวมกับรอบที่สามแล้ว) เรื่องของการเจอการติดเชื้อในตลาดก็มีมากขึ้น จนกระทั่งเราได้เห็นการตัดสินใจของ กทม.เองในการจัดการกับตลาดอย่างที่ออกมาเป็นข่าว

ถ้าไม่มีโควิดมานี่ ผมก็ลืมไปแล้วว่าหนึ่งในหน้าที่สำคัญของ กทม.ในฐานะหน่วยการปกครองท้องถิ่นของไทยนั้นก็จะต้องมีหน้าที่ดูแลตลาด ใน กทม.นั้นมีตลาดที่มีลักษณะที่เป็น “ทางการ” หมายความว่ามีการกำกับดูแลจาก กทม.เองนั้นอยู่ถึง 448 ตลาด เป็นของเอกชน 433 ตลาด และของหน่วยงานราชการ 15 แห่ง

ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งตลาด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีกฎกระทรวงในการกำหนดสุขลักษณะของตลาด และมีข้อบัญญัติ กทม.เรื่องตลาดที่แบ่งประเภทต่างๆ เอาไว้ในการกำกับดูแลในเขต กทม.

ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2546 ข้อที่ 5 ให้คำจำกัดความว่า ตลาด คือ สถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด โดยแบ่งประเภทออกเป็นสามประเภท ได้แก่ 1.ตลาดที่มีโครงสร้างอาคารและมีการดำเนินกิจการประจำหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 2.ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร และมีการดำเนินกิจการประจำหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3.ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคารและดำเนินกิจการชั่วคราวหรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด ทั้งนี้นอกจากหลักสุขาภิบาลที่จะต้องคำนึงถึงความสะอาดแล้ว ตลาดจะต้องมีที่ตั้งอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 100 เมตร จากแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ ของเสีย โรงเลี้ยงสัตว์ แหล่งโสโครก ที่กำจัดมูลฝอยอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย เว้นแต่จะมีวิธีการป้องกันซึ่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

ในคำจำกัดความและข้อมูลที่ค้นได้ในเวลาอันสั้น ผมไม่เห็นข้อมูลของตลาดนัด และบรรดาร้านค้าริมทาง รถพุ่มพวง ร้านสะดวกซื้อซึ่งเริ่มเอาของสดเข้าไปขาย รวมทั้งบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

ถ้าดูจากตัวเลขคร่าวๆ จะพบว่าพื้นที่ในตัวเลขที่เป็นทางการในเรื่องตลาดนั้น เมื่อรวมของเอกชนและรัฐแล้ว บางขุนเทียน รวมทั้งพื้นที่ฝั่งธนนั้นจะมีตลาดอยู่มาก รวมทั้งพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพมหานครหรือที่เราชอบเรียกกันสมัยก่อนว่าพื้นที่ชานเมือง หรือพื้นที่ที่เป็นย่านที่พักอาศัย ถ้ามองตามระบบผังเมือง

แต่การมองแต่ตัวเลขไม่ทำให้เราเข้าใจถึง “ขนาดและลำดับอิทธิพล/ความสำคัญ” ของตลาดมากนัก เช่น คลองเตยนั้นมี 2 ตลาด แต่เป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีลำดับศักดิ์ของตลาดสูงกว่าตลาดอื่นๆ เช่น ซื้อจากคลองเตยไปขายที่อื่น หรือซื้อจากคลองเตยเป็นวัตถุดิบไปขายที่อื่น หรือกรณีคือมีสามตลาดติดกัน

การทำความเข้าใจเรื่องตลาดที่พูดวันนี้ จะเรียกให้ชัดก็คือ marketplace คือมีลักษณะทางกายภาพและลักษณะของความเชื่อมโยงกับเมืองเข้ามาด้วย ไม่ใช่ความเข้าใจ marketในแบบแนวคิดของทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น

เพราะตลาดที่เราพูดถึงนั้นมีตำแหน่งแห่งที่ มีผู้คน มีชีวิต มีความหมาย และมีการผสมกันของทั้งการผลิต การกระจาย และการบริโภคอยู่ในตัวตลาด มีความหมายความสัมพันธ์ทางสังคมที่อยู่ในตลาดและพื้นที่โดยรอบ

หมายความว่าตลาดนั้นไม่ใช่แค่พื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยน แต่เรากำลังดูว่าในการแลกเปลี่ยนนั้นมีนัยยะอะไรมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ หรือกำไร ราคา ต้นทุน แต่มันอาจมีความคุ้นเคย ไว้ใจ ความอร่อย หรือเป็นพื้นที่ทำมาหากินด้วย

นึกถึงบรรยากาศที่เดินไปซื้อของแล้วเจ้าประจำไม่มาขาย หรือแม่ค้าบอกว่า ไม่เอาอันนี้ไปด้วยเหรอ อันนี้ลดให้ อันนี้แถม หรือเตือนว่าอันนี้ไม่สดอย่าเอาไปเลย

ผมเองยังเป็นคนที่ใช้บริการตลาดอยู่มาก เช้าก็ตลาดหนึ่ง บ่ายหรือเย็นก็อีกสองตลาด บางทีตลาดหมายถึงพื้นที่ที่ไปนั่งกินข้าวแกงแล้วจ่ายอาหารมาเก็บไว้กินมื้ออื่น หรือจ่ายกับข้าวกลับมาทำกินเอง บางทีไม่ได้ซื้อเจ๊ส้มข้าวแกงเจ้าประจำก็ยังทักทายว่าช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง หรือบางทีก็สอบถามร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่งว่าถ้าจะซื้อของนี้ซื้อตรงไหน หรือเจ๊อาจจะถามว่าแม่ผมสบายดีไหม ไม่เห็นไปที่ตลาด

ตั้งแต่ก่อนที่จะปิดตลาดบางทีเราไม่ค่อยได้ไปตลาดก็ยังห่วงว่าพี่ๆ เขาเป็นอย่างไร เหมือนที่เวลาเราหายไปนานเขาก็ถามเราว่า พักนี้หายไปไหนไม่เห็นเลย

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่การทักทายที่ไร้ความหมายไปเสียทั้งหมด แต่เป็นเรื่องส่วนหนึ่งที่การไปตลาดมีความหมายเสมอ แม้ว่าอย่างน้อยในกรณีของผมบางอย่างก็หาซื้อออนไลน์ ไปซื้อในห้างใหญ่ ไปซื้อในร้านสะดวกซื้อ หรือแม้กระทั่งร้านชำเล็กๆ ในซอยบ้าน

การปิดตลาดแม้จะกินเวลาไม่นาน แต่ถ้าการตรวจไม่สม่ำเสมอก็ไม่ได้ลดอะไรลงไปได้มาก เพราะเชื้อโรคไม่ได้อยู่ในตลาดในทางกายภาพเฉยๆ แต่มันหมายถึงผู้คนที่ยังเดินทางไปมาในตลาด และบางคนก็ใช้ชีวิตทั้งวันทั้งคืนในการพักอาศัยและมีชีวิตในตลาดนั้น

การปิดตลาดแม้ว่าจะไม่นาน แต่มันกระทบชีวิตของคนที่ทำมาหากินในนั้น เพราะตลาดไม่ใช่แค่สถานที่ในทางนามธรรม แต่มีชีวิตของผู้คนและเรื่องราว และลามไปถึงเรื่องของชุมชนที่อยู่โดยรอบ ทั้งชุมชนที่เป็นแหล่งพักพิงของแหล่งงานในตลาด หรือเป็นชุมชนของคนที่มาซื้อมาขายในตลาด อย่างเจ๊ขายข้าวแกงเจ้าอร่อยประจำตลาดบ้านผมเนี่ย เอาจริงแกอยู่ในบ้านจัดสรรราคาแพงกว่าทาวน์เฮาส์ของผมหลายเท่า ชีวิตเจ๊กับเฮียจะตื่นตีสามไปตลาดคลองเตยเพื่อซื้อกับข้าวแล้วมาเริ่มทำงานในตลาด บ่ายก็กลับบ้านพักผ่อน) หรือเรานึกถึงตลาดสวนหลวงที่เคยฮือฮาเมื่อหลายปีก่อนก็จะพบว่ามีคนจากหลายแหล่งมาซื้อขายและใช้ชีวิตในนั้น เรียกว่าข้ามจังหวัดก็มี

ในแง่ของการบริหารจัดการตลาดเนี่ยเอาเข้าจริงมันเป็นรากฐานของการบริหารจัดการท้องถิ่น การจัดการความสะอาดคือหัวใจที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำเอาแนวคิดสุขาภิบาลมาใช้ในกรุงเทพมหานคร และในกรณีของสุขาภิบาลต่างจังหวัดแห่งแรกคือ ท่าฉลอมที่สมุทรสาคร เรื่องเล่าก็คือ การที่พระองค์เสด็จประพาสตลาดท่าฉลอมซึ่งเป็นชุมชนจีน เมื่อพระองค์เสด็จฯไปถึงก็พบกับความสกปรก จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อมาดูแลตลาด ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน ต่อมาการมีเทศบาลก็เอาสัดส่วนของข้าราชการออก ให้กำกับตัวแทนประชาชนแทนการตัดสินใจตรง ดังนั้นรากเหง้าขององค์กรปกครองท้องถิ่นในทางรูปธรรมตอนต้นไม่ใช่หลักประชาธิปไตยอะไรมากกว่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนี่แหละครับต่อมาจึงจะเริ่มมีประชาธิปไตยเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญให้การบริการงานสาธารณะในท้องถิ่นมันไปได้ตามความต้องการของประชาชนมากขึ้น

ในความเป็นจริงการกำกับดูแลตลาดของ กทม.นั้นมีผู้ว่าฯกทม.เป็นหลัก และมีสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครไว้บริหารงาน แน่นอนว่าผู้อำนวยการเขตคงจะมีอำนาจทำการแทนในหลายเรื่องที่ได้รับมอบหมายลงมาในระดับท้องถิ่น แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อการปกครองในระดับเขตของ กทม.เองไม่ได้มีระบบที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง การกำกับดูแลตลาดทั้งของรัฐและเอกชนตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตลาดกับชุมชนก็เลยไม่ได้เป็นหัวข้อที่คนสนใจ เมื่อเทียบกับหัวข้อยอดฮิตแบบขยะ น้ำท่วม หรือทางเท้า

มิพักต้องกล่าวถึงว่าคนจำนวนมากขึ้นอาจไม่ได้สัมพันธ์กับตลาดในแบบเดิม เขาอาจจะเข้าแต่ร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือโทรสั่งอาหารจากบริการส่งด่วนต่างๆ จนไม่มีประสบการณ์ของการ “จ่ายตลาด” ในแบบเดิม พวกเขาจึงอาจจะรู้สึกว่าตลาดใน กทม.นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขามากนัก ทั้งที่ตลาดเหล่านี้อาจจะเกี่ยวทางอ้อมกับเขาอยู่ดี เช่นเจ้าหน้าที่หลายๆ ฝ่ายในคอนโดของเขาก็อาจจะต้องเกี่ยวพันกับตลาดในแต่ละวันอยู่ดี

เราทราบแต่ข่าวปิดตลาด ข่าวไทม์ไลน์ซึ่งเลิกรายงานกันไปแล้ว เราพบการประกาศจุดเสี่ยง แต่เรายังไม่มีภาพรวมความเข้าใจของสิ่งเหล่านี้มากนัก และดูนับจะเลือนรางลงทุกวัน

ข่าวเรื่องการปิดตลาดของ กทม. จึงทำให้เรากลับมาคิดถึงภาพรวมของเขต ความเป็นไปได้ในการวางผังเขต การกำหนดแผนพัฒนาเขต ที่ประชาชนในเขตรับรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงความเข้าใจถึงการใช้ชีวิตในเขตที่ตนเลือกที่จะพักอาศัย และเข้าใจความเกี่ยวโยงของชีวิตของผู้คนท่ามกลางความเปราะบางและความผันผวนของสถานการณ์ภัยพิบัติด้านสุขภาพในรอบนี้มากขึ้นครับ

คลิกอ่านบทความสถานการณ์โควิดอื่นๆของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image