กระบะทราย/ประสาททรายภูเก็ต : การย้อนพิจารณา

“…อยากให้ภูเก็ตเป็นปราสาท เพราะเราตั้งชื่อว่าแซนด์บ็อกซ์ พูดง่ายๆ คือเราก่อร่างด้วยทรายขึ้นมา ปราสาททราย เราต้องเติมอิฐ หิน ปูนเข้าไปอีกเยอะ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ให้การท่องเที่ยวเรามีศักยภาพ มีคุณภาพ และปลอดภัย…ประยุทธ์ จันทร์โอชา : 1 ก.ค.64 ณ จังหวัดภูเก็ตเพื่อเปิดโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ผมอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรกับสิ่งที่หลายคนมองว่าความเข้าใจของนายกรัฐมนตรีที่ว่าด้วยเรื่อง sandbox ว่าปราสาททราย แทนที่จะมองว่าเป็นกระบะทราย เป็นสิ่งที่น่าหัวร่อ

แต่ท่าทีของการตอบนักข่าว หรือไม่ยี่หระต่อความเป็นความตายของประชาชนอันนั้้นคือแย่และน่าหดหู่ โดยเฉพาะคนรอบตัวที่หัวเราะกันตลอดเวลาในที่ต่างๆ อันนั่นคือเลวร้าย

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์จึงเข้าใจว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คือปราสาททราย โดยกล่าวว่า “เนื้อหาหลักๆ คือ แซนด์บ็อกซ์ ที่เป็นโครงการนำร่อง ถ้าสำเร็จ ก็สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ เช่น สมุย เกาะเต่าพะงัน ภาพรวม sand ก็แปลว่าทราย คือ กระบะทราย สร้างกระบะทรายให้เป็น project นำร่อง” (“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กลายเป็น ‘ปราสาททราย’ ของนายกฯ ได้อย่างไร” BBC.com, 1 ก.ค. 2021.)

Advertisement

หากพิจารณาความเข้าใจของนายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาล สิ่งที่เราพบอาจจะไม่ใช่ความเข้าใจผิดง่ายๆ ในเรื่องแซนด์บ็อกซ์ แต่มันเหมือนกับว่ามีความหมายพิเศษในความหมายของรัฐบาลมากกว่า

หมายความว่าเราควรจะมองว่าแซนด์บ็อกซ์ในความหมายของรัฐบาลและระบบราชการก็คือ โครงการนำร่อง ซึ่งโครงการนำร่องในมุมของราชการอาจไม่ได้มีความหมายเดียวกับแซนด์บ็อกซ์ตามที่คนอื่นเขาเข้าใจกัน

เพราะเวลาที่เราพูดถึงโครงการนำร่อง มันมักจะมีความหมายถึงการทดลองใช้แนวปฏิบัติ เพื่อต้องการพิสูจน์ผลสัมฤทธิ์ ความเป็นไปได้ก่อนนำไปขยายผลการดำเนินการในวงกว้าง หรือระดับองค์กรต่อไป (นิยามศัพท์จาก KM การจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล)

Advertisement

ลองสอบถามทางเพื่อนฝูงที่รับราชการ ทั้งประจำและการเมือง จะพบว่าในมุมของการทำงานกับภาครัฐ โครงการนำร่องนั้นเป็นโครงการจริงๆ และอาจไม่ได้ตรงกับคำว่า sandbox ทั้งหมด เพราะโครงการนำร่องเป็นโครงการที่ต้องผ่านการพิจารณาทุกอย่างเหมือนปกติ และไม่ได้มีระเบียบอะไรเป็นพิเศษ พูดง่ายๆ ว่าโครงการนำร่องนั้นเป็นโครงการเหมือนโครงการตั้งต้น ต้องผ่านการอนุมัติทุกอย่างเหมือนปกติ ถ้าทำสำเร็จก็จะทำต่อที่อื่นๆ แต่ถ้าโครงการนั้นไม่ประสบผลความสำเร็จ และไม่มีการโกงอะไร ก็ทำได้ แต่แน่นอนว่าคนที่เสนอโครงการนั้นก็จะต้องมีความรับผิดชอบในทางการเมือง หมายความว่าทำไม่ได้ก็จะเสียหน้า หรือถูกกล่าวหาจากคู่แข่งทางการเมือง เรียกว่าหมดอนาคตกันง่ายๆ

ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีก็คิดแบบนี้ มองว่าเป็นโครงการนำร่อง ที่สำคัญก็พยายามจะมองว่าเป็นโครงการที่ริเริ่มมาจากตัวเขาเอง การที่พยายามจะอธิบายให้เป็นปราสาททรายก็คงหวังจะให้สำเร็จและแข็งแรง แล้วก็เชื่อว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ นายกฯคงไม่ได้ไม่เข้าใจเลยว่า sandbox กับปราสาททรายนั้นมีความหมายเดียวกันหรอกครับ และอาจจะไม่ได้ระวังว่า คำว่าปราสาททรายมันเป็นของเด็กเล่น ไม่ใช่ความหมายของความตั้งใจของผู้ใหญ่แบบในเพลงอันโด่งดังของคุณสุรสีห์ อิทธิกุล ซึ่งอาจจะได้พบฟังตามโปรแกรมคาราโอเกะ

ผมมีตัวอย่างเรื่องความเข้าใจเรื่อง sandbox จากที่อื่นๆ อีกสักสามที่ที่คิดว่าสำคัญ

ประการแรก sandbox เหมือนจะมาจากแวดวงไอที พวกทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึงการสร้างระบบย่อย บางอย่าง หรือบางส่วนของโปรแกรมใหญ่เพื่อใช้ทดสอบโปรแกรม หรือโค้ดบางอย่างที่จะไม่กระทบต่อระบบใหญ่ หรือทำให้ส่วนนี้ที่เราจะใช้ทำสอบมันเข้าถึงระบบใหญ่ได้บางส่วนโดยไม่ทำให้ระบบใหญ่มันเสียหาย หรือไม่มั่นคง

ประการที่สอง sandbox ในความหมายของการกำหนดนโยบาย ซึ่งในแง่นี้จะมีตัวอย่างของการทำ sandbox กับเอกชน โดยความหมายอยู่ที่การลองปรับตัวกฎระเบียบต่างๆ กับประเด็นที่เหมือนกับว่าถ้าใช้กฎหมายปกติมันจะเกิดปัญหา สิ่งนี้จะใช้ในความหมายของ Regulatory Sandbox อาทิ ในเรื่องของการที่รัฐเข้ามาจัดการกับเรื่องของการเงิน

ความหมายในแง่นี้ก็คือเรื่องของการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ธุรกิจจะสามารถทำสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาผ่านการสร้างนวัตกรรม หรือบริการใหม่ๆ หรือตัวแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยไม่ต้องกังวลต่อผลจากการบังคับตามกฎระเบียบปกติ

ในความหมายนี้ มีตัวอย่างอย่างของอเมริกาที่สร้างองค์กรของรัฐขึ้นมาทั้งกำกับและทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมฟินเทค เพื่อศึกษาเจ้าฟินเทคและหาทางช่วยเหลือเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค (Dan Quan. A Few Thoughts on Regulatory Sandboxes. Stanford Center for Philanthropy and Civil Society.)

อธิบายง่ายๆ ก็คือ หัวใจสำคัญของเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ว่ารัฐตั้งป้อมว่าทุกอย่างที่เป็นนวตกรรมต้องให้เป็นไปตามกฎระเบียบ หรือรอให้รัฐศึกษากฏระเบียบให้เสร็จแล้วจะมาอนุมัติ แต่หมายถึงว่า รัฐก็ต้องยอมรับว่ามันมีของใหม่ แล้วก็ร่วมไปศึกษาแล้วก้อเป็นหนึ่งในภาคีที่จะเดินไปด้วยกัน ในทางหนึ่งคือส่งเสริมนวตกรรม และอีกทางหนึ่งก็คือปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการผ่อนคลายกฎระเบียบ หรือผ่อนคลายไม่ให้คนออกหรือใช้กฎระเบียบกลัวไปเสียทุกเรื่อง

ตัวอย่างที่สำคัญตามที่เขาถกเถียงกันก็คือ การทำ sandbox ไม่ใช่แค่การทดลองในวงแคบ แต่จะต้องทำให้คนออกกฎและใช้กฎมีความรู้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่คิดเหมือนผู้ใหญ่ไปทำกระบะทรายให้เด็กเล่น แต่ต้องทำให้เกิดผลเดี๋ยวนั้น คือประชาชนเป็นที่ตั้ง หมายถึงประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่มีการทดลองและอนุญาตได้มากขึ้นไหมการยกเว้นกฎระเบียนนั้นไม่พอ แต่ต้องไปถึงขั้นที่ว่าเราเข้าใจไหมว่ากิจกรรมใดมันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมันดีขึ้น กล่าวอีกอย่างก็คือ การแบ่งปันข้อมูล การถอดบทเรียน และการมีตัวชี้วัดว่าโครงการต่างๆ ที่อนุมัติ หรือระเบียบใหม่ๆ ที่ออกมานั้นประชาชนต้องได้ประโยชน์ในวงกว้าง ไม่ใช่แค่นักธุรกิจได้ประโยชน์ เป็นเงื่อนไขและหัวใจสำคัญในการทำ sandbox

หากกล่าวในบริบทของระบบราชการและรัฐบาลไทย sandbox คงเป็นแค่โครงการนำร่องที่ทำแล้วจะไปทำในที่อื่นๆ แต่จากที่กล่าวมาจะพบว่า sandbox ต้องเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนได้เข้าร่วมและเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด และทำให้มั่นใจว่าประโยชน์มันจะมีต่อระบบใหญ่โดยรวม ไม่ใช่แค่ว่าทำให้สำเร็จแค่ในส่วนนั้น

ประการที่สาม sandbox เป็นเรื่องของระบบคิด (sandbox thinking) ใหม่ๆ ที่รัฐบาลควรมี ตัวอย่างเช่นเรื่องของวิธีคือของรัฐบาลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกของข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารสมัยใหม่ หรืออธิบายง่ายๆ ว่าโลกนี้หมุนเร็วมีความเปลี่ยนแปลงมาก การใช้กฎระเบียบที่เก่าหรือเกิดก่อนเหตุการณ์นั้นก็อาจจะไม่เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น (Jessica Rosenworcel.Sandbox Thinking. Democracy. Fall 2014 No. 34.)

ความหมายในแง่นี้อาจไม่เหมือนในความหมายที่สอง ซึ่งให้ความสำคัญกับรัฐในฐานะที่พยายามเรียนรู้ และสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภค แต่ความหมายของวิธีคิดในแบบ sandbox คือการยอมรับว่ารัฐเองก็ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่รัฐรู้ดี และมีอำนาจในการสร้างข้อยกเว้นเฉยๆ

เรื่องสำคัญคือต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ในการออกนโยบาย ที่ไม่ได้ต้องเกิดจากการอ้างว่ารัฐรู้และศึกษามาแล้วอย่างดี แล้วเปิดให้เอกชน ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาให้ความเห็นกับกรอบนโยบาย/กฎหมายของรัฐที่ออกมาเป็นเอกสารที่เต็มไปด้วยนิยามศัพท์ และก็มาถกเถียงกันอย่างยาวนานว่าคำนิยามนี้ครอบคลุมอะไรบ้าง จากการประชุมมากมายก็จบลงที่การประกาศใช้ แล้วก็อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ต้องลุ้นเอา

วิธีคิดแบบ sandbox คือ เป็นไปได้ที่เราอาจจะไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงแล้วถ้ามัวแต่ออกนโยบายแบบนั้น แต่อาจจะต้องลองปฏิบัติดูก่อนพื้นที่หนึ่งๆ เป้าหมายในแง่นี้เพื่อไม่ให้นโยบายที่ออกมานั้นไม่ได้รับการทดสอบ ในแง่นี้จึงไม่ใช่โครงการนำร่อง แต่เป็นโครงการทดสอบ ยอมรับว่ายังไม่สมบูรณ์ แต่หมายถึงทำไปเพื่อปรับกับร่างที่เรากำลังจะมี เช่น คำจำกัดความมันไม่ชัดหรอก ต้องไปเจอกับของจริง เพื่อที่เวลาที่นำไปปรับใช้เป็นกรอบนโยบายใหญ่ที่สั่งการมาแล้วจะได้ลึกซึ้งครอบคลุมขึ้น

ในความหมายนี้นโยบายหรือโครงการที่ใช้วิธีคิดแบบ sandbox จึงไม่ได้พูดถึงความพร้อมทั้งหมด แต่อธิบายว่าต้องไปลองทำด้วยกัน และต้องการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลและความเข้าใจในปัญหา ไม่ใช่การอธิบายว่านี่คือความชาญฉลาดหรือการริเริ่มโครงการที่มาจากอัจฉริยะ และสิ่งสำคัญคือการสรุปบทเรียน นำมาปรับปรุง ไม่ใช่สนใจแค่ว่ามันจะสำเร็จหรือล้มเหลว

เพราะถ้าหมกมุ่นกับการประกาศความสำเร็จหรือล้มเหลว เราจะไม่ใส่ใจรายละเอียด และจะเน้นไปที่ข้ออ้าง ข้อแก้ตัว และมองคนอื่นที่ให้ความเห็นว่าเป็นศัตรู

ในแง่ของรัฐการคิดแบบ sandbox อาจหมายถึงให้แต่ละพื้นที่รวมตัวแล้วเสนอเรื่องขึ้นมาว่าจะทำอย่างไร จะทดลองอะไร แล้วจะมีเงื่อนไขอะไรที่จะทำได้อย่าง กรณีของภูเก็ตนั้น ไม่ควรรอให้มีแต่ ภูเก็ตแต่อาจให้ พัทยา เชียงใหม่ หรือพื้นที่บางส่วนของแต่ละจังหวัด เช่นเทศบาล หรือทั้งจังหวัดอย่างอบจ. นั้นเสนอวิธีการจัดการขึ้นมาพร้อมเงื่อนไข แล้วจากนั้นก็ลองทดสอบระบบหรือจะเรียกว่าโครงการทดสอบระบบ

ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงเรื่องของร้านอาหาร หรือสถานบันเทิง แล้วก็ให้รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำด้วย ไม่ใช่คิดแค่ว่าให้รัฐอนุมัติ เพราะไม่งั้นรัฐก็จะมีความหวาดกลัวต่อความไม่แน่นอน และกลัวต่อผลลบที่จะเกิดขึ้น แต่หมายถึงว่ารัฐก็ต้องพร้อมที่จะเข้าไปทำ ไม่ใช่รัฐพร้อมอนุมัติแล้วไปตรวจไปจับ

หากเรามองแบบที่เสนอมานี้ เงื่อนไขที่ควรเพิ่มเข้ามาอย่างในภูเก็ต sandboxจึงไม่ใช่แค่ว่า มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีการกระจายออกไปนอกพื้นที่ หรือมีคลัสเตอร์เพิ่ม เตียงไม่พอ เพราะเรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการปกปิดความจริง หรือเราพิสูจน์ไม่ได้ว่ารัฐตรวจเพียงพอไหม แต่ต้องหมายถึงว่าผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจนั้นมันตกไปอยู่ที่คนภูเก็ตเองในแง่ของรายย่อยได้มากขึ้นไหม ประชาชนมีโอกาสร่วมคิดร่วมออกแบบกิจกรรม หรือระบบคัดกรองตรวจสอบได้ไหม และตรวจสอบประสิทธิภาพของการทำงานของรัฐได้ไหม เช่น ถ้าการระบาดและคลัสเตอร์มันเกิดจากการปล่อยปละละเลยของรัฐ ควรจะยกเลิก หรือเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ หรือเอาผิดคนของรัฐให้มาก แต่ยังคงโครงการเอาไว้

ในความหมายใหม่นี้ รัฐบาลและระบบราชการจะไม่ใช่แค่คนที่มีอำนาจเหนือสังคม แต่ต้องเป็นพันธมิตร และเพื่อนร่วมทางไปกับสังคม และสุดท้ายประชาชนควรเป็นคนที่ประเมินทั้งรัฐและเอกชนว่าโครงการ sandbox ต่างๆ นั้นมันมีประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ยิ่งทำ sandbox รัฐยิ่งเป็นใหญ่ และไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และพร้อมโทษคนอื่นต่อไป

คลิกอ่านบทความสถานการณ์โควิดอื่นๆของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image