กลับมา กลับไป โรดแมป เลือกตั้ง เลื่อน-ไม่เลื่อน ยุ่ง-ไม่ยุ่ง

หนึ่งในประเด็นถกเถียงข้ามปี

ตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ศ.2559 จนมาถึง พ.ศ.2560

ก็คือกำหนดระยะเวลาของการเลือกตั้ง

เริ่มจากการโยนระเบิดลูกใหญ่ลงกลางวง ของ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

Advertisement

ที่กล่าวถึงการทำงานของ สนช.ในปี 2560 ว่า

งานสำคัญคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ

รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 50 ฉบับ

Advertisement

ซึ่งต้องทำตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี มีมติเร่งรัดเป็นพิเศษอีก 41 ฉบับ รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 100 ฉบับ

และยังมีกฎหมายที่อยู่ในบัญชีตามโรดแมปของคณะรัฐมนตรีอีกมากกว่า 100 ฉบับ

ซึ่งเป็นภารกิจในปี 2560 ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อออกกฎหมายให้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโรดแมป

ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561

“ในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเยอะๆ

ทำอย่างไรไม่ให้กลับไปสู่วังวนเดิม ทำอย่างไรที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุ่มเทไปกับการบริหารการเมือง

ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง”

เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีตามโรดแมป

นายสุรชัยกล่าวว่า คงไม่ยืนยันในเรื่องนี้เพราะไม่ได้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง

แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 60 วันตามกรอบของรัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะทำตามโรดแมป

 

ความอลหม่านข้ามปี

ถูกสกัดด้วยความเห็นของ “กูรู” ผู้รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและธุรการของรัฐบาล

อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ผู้ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรกของการทำงานของปี 2560

ถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุก่อนหน้านี้ว่า

อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นช่วงกลางปี 2561

โดยยืนยันว่าการเลือกตั้ง ยังคงเป็นไปตามโรดแมปเดิมของรัฐบาล

ก่อนนี้หนึ่งวัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เปิดเผยว่า รัฐบาลคงตอบแทน สนช.ไม่ได้

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังยึดตามโรดแมปเดิมและตารางเวลาเดิม

ทั้งหมดเป็นไปตามเดิม

เมื่อถามว่ารัฐบาลยังยืนยันหรือไม่ว่าจะมีเลือกตั้งในปี 2560

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ตารางเวลาเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

 

อย่าว่าแต่คนทั่วไปจะงุนงง

แม้แต่คนในรัฐบาลก็ยังไม่แน่ใจ

และแบ่งรับแบ่งสู้กับกำหนดการเลือกตั้ง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบข้อถามเรื่องการชี้แจงกับต่างประเทศกรณีมีกระแสข่าวเรื่องการเลื่อนโรดแมป ว่า

ไม่มีชาติไหนมาถามแล้ว เพราะเขาเห็นกระบวนการ และทิศทางแล้วหลังจากที่ไทยผ่านการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคมว่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

รัฐบาลมีแผนงานทั้งหมดไว้อยู่แล้วเดินหน้า ซึ่งโรดแมปอาจจะมีบวกลบบ้าง

แต่เชื่อว่าไม่ว่าจะปรับอย่างไร ก็จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่น

“เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็ต้องเดินตามนั้น

ต่างชาติเขาเข้าใจในเรื่องนี้ดี”

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลและ คสช.พยายามตอกย้ำความน่าเชื่อถือของโรดแมป

ถึงขั้นที่ออกไปประกาศต่อชาวโลกในเวทีนานาชาติสำคัญๆ หลายแห่ง

คำถามคืออะไรจะเกิดขึ้น หากน้ำหนักและความน่าเชื่อถือในคำพูดของรัฐบาลและ คสช. ลดหรือหมดลงไป

ที่ประเมินว่า “เขาเข้าใจเรื่องนี้ดี”

เป็นการประเมินอย่างอัตวิสัย

ประเมินอย่างเข้าข้างตนเอง

หรือไม่

สอดคล้องกับภววิสัย-ความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

รัฐบาลที่พูดแล้วไม่สามารถรักษาคำพูดได้

จะเหลือ “เครดิต” อะไรในสายตาผู้เฝ้ามอง

ไม่ว่าจะทั้งต่างชาติหรือชาติเดียวกันเอง

นี่คือความสำคัญของโรดแมป

นี่คือความสำคัญของสัจจะ

นี่คือความสำคัญของความน่าเชื่อถือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image