โมเดลธุรกิจ ‘เกษตรอินทรีย์’ ปลดหนี้เกษตรกร

       จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการลดต้นทุนของกิจการโรงแรมที่ซบเซาในช่วงปี 2553 “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ที่เข้ามาสานต่องานบริหารต่อจากครอบครัว จึงเกิดแนวคิดเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชผักออร์แกนิคไว้เอง เพื่อบริการสำหรับลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรม เป็นการลดต้นทุน ต่อยอดแบรนด์และหาจุดขายใหม่ๆ ให้กับสวนสามพรานซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองนครปฐมมานาน แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งพบว่าผลผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องหาแนวร่วมจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยขอรับซื้อวัตถุดิบจากตัวเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง 

       จากนั้นเริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดข้างเคียง เปลี่ยนมาทำ “เกษตรอินทรีย์” ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ด้วยทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

       อรุษ กล่าวถึงสามพรานโมเดลในการสัมมนาพิเศษ หัวข้อ “หุ้นส่วนสร้างภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับชุมชนยั่งยืน” ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ลดเหลื่อมล้ำ หนุนเศรษฐกิจฐานราก จากเหนือจดชายแดนใต้ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิรากแก้ว ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่า “ผมสนใจและอยากรู้ว่าเพราะสาเหตุอะไรที่ทำให้เกษตรกร 20 กว่าล้านคนซึ่งถือเป็นประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทยยากจน 

Advertisement

       จนได้คำตอบว่าเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถกำหนดราคาขายของตัวเองได้ หนี้เสียของประเทศ 8 หมื่นล้าน หนี้นอกระบบอีกเป็นแสนล้าน เพราะเกษตรกรกำหนดราคาไม่ได้ พ่อค้าคนกลางบอกราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย ขาดทุนก็ต้องขาย นี่คือข้อจำกัดของเกษตรกร

       “เราต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีความพอเพียง ด้วยการทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ ซึ่งคำว่าพอเพียง ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรจะมีรายได้เพียงเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้ว หมายถึงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก และเมื่อสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว สามารถพัฒนาต่อไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง และต่อสังคม ผมจึงทำข้อตกลงกับเกษตรกรแบบที่ทำให้ทั้งเกษตรกร และธุรกิจของผมอยู่ได้ โดยเราวางแผนการผลิตร่วมกัน ราคาผักผลไม้ที่ผมจ่ายตรงให้กับเกษตรกรมากกว่าราคาที่เขาขายผ่านพ่อค้าคนกลาง 3 เท่า ส่วนผมเองก็ได้สินค้าตามจำนวนที่ต้องการ 

       “จากตอนนั้นถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว ปัจจุบันผมซื้อผักผลไม้โดยตรงจากเกษตรกรเดือนละ 13-15 ตัน โรงแรมผมมีแค่ 160 ห้องเล็ก ๆ แต่มูลค่าที่ไปถึงเกษตรกร 700,000 บาททุกเดือน ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวข้ามวิถีชีวิตแบบพึ่งพาสารเคมี โดยหันมาทำเกษตรระบบอินทรีย์ นอกจากนี้เราขยายโครงการต่อด้วยการเปิดตลาดสุขใจ ใกล้กับรีสอร์ต เป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมียอดขาย 35 ล้านบาท โดยมีการเติบโตขึ้นประมาณปีละ 10% โดยมีจำนวนผู้ขายปีละประมาณ 60 ราย จึงถือได้ว่าตลาดสุขใจเป็นพื้นที่เชื่อมตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคบนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม

Advertisement

       “การสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ต้องไม่คิดว่าเราเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา เพราะการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับเงินทุน ถ้าวันไหนทุนหมดก็ไปต่อไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าเราเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เป็นโมเดลของธุรกิจเกื้อกูลสังคม คือการสร้างความเชื่อใจทั้งห่วงโซ่อาหาร ทั้งความมั่นใจต่อเกษตรกร และความมั่นใจต่อผู้บริโภค” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ กล่าว

       อรุษ ยังบอกอีกว่า การแสดงความโปร่งใสและจริงใจต่อผู้บริโภคของสามพรานโมเดล คือการนำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้มาเจอกันโดยตรง เพื่อให้ผู้บริโภคได้มาพิสูจน์ทั้งยังเป็นการแสดงความจริงใจของเกษตรกรด้วย ดังนั้น ตลาดสุขใจจึงเป็นเหมือนหน้าร้านให้เกษตรกร ทำให้เกิดสังคมใหม่ คือสังคมที่เกื้อกูลและสังคมที่มีพื้นฐานจากการค้าที่เป็นธรรม 

       “สามพรานโมเดลแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ หนึ่ง สร้างความเข้าใจ สอง สร้างแนวความคิดการพึ่งพาและร่วมมือ สาม ศึกษาแนวทางการจัดการห่วงโซ่อุปทานการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างการผลิต และการตลาดอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดภาคีพันธมิตรเข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มธุรกิจในรูปของสหกรณ์ที่มีปณิธานเดียวกัน

       ส่วนประโยชน์ที่โรงแรมได้รับจากความร่วมมือกับเกษตรกรคือสามารถสื่อสารกับลูกค้าของโรงแรมได้อย่างเต็มที่ว่าเราเสิร์ฟอาหารออร์แกนิก นี่คือมูลค่าเพิ่มที่ลูกค้าได้รับ ได้กินอาหารที่ดี อาหารอร่อยและปลอดภัย ทางโรงแรมบอกได้ว่าอาหารชนิดนี้มาจากแหล่งไหน สามารถเพิ่มมูลค่าในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่มากกว่านั้น สิ่งที่สามพรานโมเดลมุ่งหวังจริง ๆ คือการเพิ่มเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ให้มากขึ้น เมื่อมีคนทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น สิ่งแวดล้อมย่อมดีขึ้น สุขภาพเกษตรกรดีขึ้น หนี้สิ้นลดลง เป็นประโยชน์ที่เอื้อเฟื้อไปสู่วงกว้าง 

       “การสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมคืออะไร ผมมองว่า หนึ่งคือเกษตรกรต้องมีความรู้ ไม่เพียงแต่ยกระดับความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมความรู้ที่เขาพึ่งพาตนเองได้นั่นคือให้องค์ความรู้ด้านธุรกิจกับเกษตรกรด้วย สองคือการดึงเกษตรกรเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ การจะเกิดความร่วมมือก็มาจากความเชื่อใจไว้ใจของผู้บริโภคในตลาด ผ่านเครื่องมือการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า PGS=Participatory Guarantee Systems เป็นการรับรองให้กับเกษตรอินทรีย์ที่เป็นเกษตรรายย่อย เพื่อสร้างความโปร่งใส ไม่ให้เกิดความระแวง และเราใช้ตลาดในการขับเคลื่อน พร้อมแชร์เส้นทางการเรียนรู้ของสามพราน ร่วมกับการศึกษาโมเดลของแห่งอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

       “การยกระดับเกษตรกรไม่ใช่ทำแค่อินทรีย์ แต่เกษตรกรต้องทำธุรกิจเป็น เพราะตราบใดที่เกษตรกรทำธุรกิจไม่เป็น ไปรอดลำบาก ผมก็พาเขาไปเจอกับกลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซูเปอร์มาเก็ต เราก็ผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน หรือ PGS โรงแรมใหญ่ๆ และภัตตาคารชั้นนำ”

       อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าการที่เกษตรกรรู้จักการทำธุรกิจแล้ว มีการทุจริตเกิดขึ้นบ้างหรือไม่? อรุษ ตอบว่า “มีบ้าง! แต่ทุกครั้งที่เกิดความผิดปกติของระบบการซื้อขาย เกษตรกรจะเป็นคนตระหนักถึงข้อนี้ด้วยตัวเอง เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าการทำธุรกิจคืออะไร จากก่อนหน้านี้ที่เขาไม่เคยต้องมีแบรนด์ของตัวเอง มีหน้าที่เพียงผลิตและส่งให้พ่อค้าคนกลางให้ทัน แต่เมื่อมีกลุ่ม มีแบรนด์ เขาตระหนักได้ว่าแบรนด์คือหน้าตา คือชื่อเสียง เมื่อมีคนทำผิดกฎและทำให้เสียชื่อเสียง เขาก็ต้องปกป้องและมีมาตรการภายใน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเข้าใจธุรกิจ และรู้สึกเป็นเจ้าของ ดังนั้น กฎต่าง ๆ ก็ออกมา เกษตรกรก็ร่วมกันรักษา 

       อรุษ อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำงานร่วมกับเกษตรกร ผมไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยเหลือ แต่คือการให้เครื่องมือ เหมือนเราเอาเบ็ดไปให้เขา เกษตรกรส่วนใหญ่ปลดหนี้ได้ไม่ว่าจะเป็น 3 แสนบาทต่อราย หรือ 7 แสนบาทต่อรายที่หมดไป จะบอกว่านี่คือโมเดลที่พิสูจน์และวัดผลทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ได้ทั้งหมด แต่ต้องบอกว่าสามพรานโมเดลยังเป็นส่วนเล็ก ๆ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของเกษตรกรในประเทศไทย หรือแม้แต่ในจังหวัดนครปฐมเอง ดังนั้นโมเดลนี้ยังต้องการการขยายผล ด้วยการถอดบทเรียน แชร์หลักการและชุดความรู้ของบทเรียนโดยใช้แพลตฟอร์ม และอาศัยการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน 

       “ตอนนี้เรามีสมาพันธ์ผู้ผลิตอินทรีย์ไทย PGS แล้ว กำลังจะตั้งสมาพันธ์ผู้บริโภคอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้เห็นว่ามีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ไหนบ้าง ผู้ประกอบการก็จะบอกได้ว่าซื้อเกษตรอินทรีย์จากแหล่งไหน มูลค่าเท่าไหร่ จะทำให้ไม่เกิดการแอบอ้างว่าใช้อินทรีย์ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะต้องตรงกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบที่มาได้ เราอยากสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้จากการมีส่วนร่วมบนฐานของการค้าที่เป็นธรรม ดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเชื่อมระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างอาหารอย่างยั่งยืนโดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์” อรุษ กล่าวสรุป 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image